คิดลบย่อมกระทบเป้าหมาย

คิดลบย่อมกระทบเป้าหมาย

สังคมที่เฉยชาย่อมยากต่อการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับพลวัตรของโลก

ความผันผวนของโลกที่ดูจะเริ่มผ่อนคลายลงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ต้องเผชิญกับภาวะสงครามรัสเซียยูเครนทันที ตามด้วยโรคอุบัติใหม่อย่างฝีดาษลิง และความตึงเครียดจากกรณีการเยือนไต้หวันของแนนซีเพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งสร้างความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างรุนแรง

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กระทบกับเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างรุนแรงจนทำให้นักธุรกิจและผู้บริหารหลายคน “ทำใจ” กับภาวะที่เกิดขึ้น นั่นคือปล่อยวางเป้าหมายที่เคยวาดฝันไว้ และหันมาพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

จริงอยู่ว่าการพึงพอใจกับปัจจุบันและการชื่นชมกับผลงานของตัวเองเป็นการเติมกำลังใจให้ก้าวต่อไปสู่ความสำเร็จได้ แต่การพึงพอใจแล้วย่ำอยู่กับที่คือไม่ก้าวหน้าไปไหนเพราะมัวหลงกับความสำเร็จก้าวเล็กๆ จะไม่สามารถทำให้เราไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงได้

หลายคนจึงติดอยู่ในวังวนดังกล่าวตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 ด้วยซ้ำ นับตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ หรือแม้กระทั่งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หลายๆ บริษัทก็ไม่อาจกลับขึ้นมาสู่ภาวะปกติ ไม่สามารถสร้างความสำเร็จในระดับเดิมได้อีกเลย

ในขณะที่ปัจจุบัน เราต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติที่หนักหน่วงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อซึ่งทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาอาหาร ปรับสูงขึ้นทุกรายการโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในกลุ่มประเทศยุโรปที่ต้องเผชิญทั้งภาวะร้อนจัดและหนาวจัด ซึ่งจำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อทั้งทำความร้อนและทำความเย็นให้กับประชาชนในแต่ละประเทศ

หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวแต่ภาวะเศรษฐกิจของทั้งโลกล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากซีกโลกหนึ่งย่อมกระทบถึงอีกซีกโลกหนึ่งได้เสมอ 

ซึ่งหลายๆ คนที่รู้สึกต้องทำใจกับภาวะที่เกิดขึ้นอยู่นี้ก็ต้องคิดให้ได้ว่า การปรับตัวของราคาสินค้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อล้วนเป็นปัจจัยภายนอก ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ การเฝ้าติดตามสถานการณ์มากเกินไปจึงอาจไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะแก้ไขอะไรไม่ได้

ที่สำคัญยิ่งรับข่าวสารเชิงลบซ้ำเข้ามากๆ อาจทำให้กลายเป็นความเฉยชาต่อการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว นั่นคือรู้สึกว่าข่าวลบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องตื่นเต้นหรือต้องตื่นตัวเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ภาวะเช่นนี้เราจึงเห็นความเฉยชาเกิดขึ้นเหมือนโรคระบาด เพราะคนที่หมกมุ่นกับข่าวเชิงลบก็จะมองโลกในแง่ลบไปเสียทั้งหมด จนไม่อยากจะลุกขึ้นมาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไร อาจจะเริ่มแค่คนไม่กี่คน แต่พลังลบเหล่านี้ส่งต่อและถ่ายทอดไปถึงคนทั้งสังคมได้หากไม่มีการแก้ไข

แน่นอนว่าสังคมที่เฉยชา ย่อมยากต่อการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับพลวัตรของโลก เพราะนั่นจะทำให้คนในสังคมเคยชินกับการใช้ชีวิตไปวัน ๆ ไม่คิดถึงอนาคต ไม่มีเป้าหมาย ไม่สนใจพัฒนาตัวเองเพื่อให้ก้าวทันโลก

สุดท้ายก็จะกลายเป็นประเทศที่ไร้อนาคต ไร้แผนงาน คนรุ่นใหม่ที่เคยมีไฟและมีฝันก็จะค่อยๆ มอดลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นคนเฉยชาเหมือนกันคนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดภาวะนี้กับประเทศของตัวเองอย่างแน่นอน