ไทยรั้งท้าย ‘ดัชนีดิจิทัล’ เอเชียแปซิฟิก วิกฤติ ‘บุคลากร’ อุปสรรคใหญ่

ไทยรั้งท้าย ‘ดัชนีดิจิทัล’ เอเชียแปซิฟิก วิกฤติ ‘บุคลากร’ อุปสรรคใหญ่

ดัชนีความคล่องตัวทางดิจิทัลภูมิภาคเอเชีย-แปซิก ประจำปี 2565 โดย “ไอดีซี” และ “Workday" ผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้านการเงินและทรัพยากรบุคคลสำหรับองค์กร ระบุว่า องค์กรส่วนใหญ่ในประเทศไทย 91% ยังคงล้าหลังในเรื่องของความคล่องตัวทางดิจิทัล (Digital Agility)

“ไอดีซี” และ “Workday" เผยว่า ดัชนีความคล่องตัวทางดิจิทัลขององค์กรไทยจัดอยู่ในระดับที่ “ดำเนินการล่าช้า” หรือ “กำลังวางแผน” ซึ่งนับว่าสวนทางกับโอกาสในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และการปรับใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ พบด้วยว่าในแง่ของการสรรหาและดึงดูดบุคลากร ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญถือเป็นหนึ่งในปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรไทย และเป็นอุปสรรคต่อการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

ไทยรั้งท้าย ตกไปอยู่ที่อันดับ 9

จากผลการศึกษา พบว่า 9 ประเทศที่ได้รับการสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีระดับความก้าวหน้าด้านความคล่องตัวทางดิจิทัลที่แตกต่างกัน

สำหรับองค์กรไทย มีเพียง 9% เท่านั้นที่มีความคล่องตัวทางดิจิทัลในระดับสูง ส่งผลให้ไทยครองอันดับ 9 โดยลดลงหนึ่งอันดับเมื่อเทียบกับการจัดอันดับเมื่อปี 2563

โดยไทยถูกแซงหน้าโดยอินโดนีเซีย ซึ่งครองอันดับ 8 ในปีนี้ เพราะมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เหนือกว่า ขณะที่องค์กรในออสเตรเลียมีความก้าวหน้าสูงสุดในแง่ของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และครองอันดับ 1 ในปีนี้

ส่วนอันดับรองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง ขณะที่ไต้หวัน ซึ่งเพิ่งได้รับการเพิ่มเติมเข้ามาในปีนี้ ครองอันดับ 6 ตามมาด้วยมาเลเซีย

วิกฤติบุคลากรปัญหาสุดท้าทาย

ในมุมมองระดับภูมิภาค พบว่าองค์กรในเอเชียแปซิฟิกมีเพียง 38% เท่านั้นที่มีความคล่องตัวทางดิจิทัลระดับสูง แต่ทั้งนี้ถือว่ามีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 18 จุด (Percentage point) เมื่อเทียบกับปี 2563

ส่วน 62% ขององค์กรที่จัดว่าล้าหลังในแง่ของความคล่องตัวทางดิจิทัล เป็นผลมาจากความต้องการของหน่วยงานต่างๆ และความจำเป็นทางธุรกิจ เช่น อีคอมเมิร์ซ มาตรการด้านความปลอดภัย และการทำงานจากที่บ้านในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด

ข้อมูลระบุว่า การขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญในการดำเนินโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันถือเป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในไทย 

โดย 80% ของผู้บริหารฝ่ายเอชอาร์ ประสบปัญหาในการกำหนดทักษะที่เหมาะสมเพื่อรองรับความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และมีองค์กรไทยเพียงส่วนน้อย 7% ที่มีกลยุทธ์การจัดการบุคลากรอย่างรอบด้าน

ติดปัญหา ‘ปรับใช้เทคโนโลยี’

ผลการสำรวจพบด้วยว่า ธุรกิจขาดการปรับใช้เทคโนโลยีระดับองค์กรเพื่อขับเคลื่อนความคล่องตัวทางดิจิทัล ปัจจุบัน 61% ขององค์กรในไทยเริ่มดำเนินโครงการดิจิทัลต่างๆ ที่ระดับของสายงานธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการอย่างทันท่วงที แทนที่จะเป็นการปรับใช้แบบครอบคลุมทุกสายงานในระดับองค์กร

แนวโน้มดังกล่าวนับเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ อีกทั้งปัญหาท้าทายในการปรับใช้เทคโนโลยีก็แตกต่างกันไปในแต่ละฟังก์ชั่นการทำงาน

โดยปัญหาท้าทายที่ผู้บริหารฝ่ายไอทีกล่าวถึงได้แก่ การขาดการบูรณาการระบบต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ 40% และความยากลำบากในการเลือกใช้โซลูชันเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยขับเคลื่อนความคล่องตัวของธุรกิจ 70% 

ในทางตรงกันข้าม ผู้บริหารฝ่ายการเงิน (80%) ประสบปัญหาท้าทายในการสร้างวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้เงินสดหมุนเวียนมีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้

ทุกวันนี้มีองค์กรไทยเพียง 3% ที่จัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายโดยใช้ระบบปรับปรุงประสิทธิภาพที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรและระบบนิเวศ

ปรับวิถี เพิ่มความได้เปรียบ

ไอดีซีระบุว่า ในโลกวิถีใหม่ที่ถูกชี้นำด้วยระบบเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากความคล่องตัวทางดิจิทัลจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อองค์กรปรับเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางในการลดช่องว่างด้านความคล่องตัวทางดิจิทัล

โดยอาศัยเทคโนโลยีและการปรับความต้องการทางธุรกิจของแต่ละสายงานให้สอดคล้องกันในระดับของผู้บริหารระดับสูง นอกจากนั้น เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสม องค์กรจะต้องเร่งการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เพื่อลดช่องว่างด้านความคล่องตัวทางดิจิทัล และกำหนดแนวทางแบบบูรณาการเพื่อรองรับกลยุทธ์ในการดำเนินงาน

ผู้บริหารฝ่ายการเงิน เอชอาร์ และฝ่ายสารสนเทศ จะต้องประสานงานร่วมกันในโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ครอบคลุมหลากหลายสายงาน พร้อมทั้งบูรณาการระบบดิจิทัลสำหรับการจัดการบุคลากร รวมไปถึงระบบงานด้านการเงินและเอชอาร์