มิติใหม่การขอตำแหน่งวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม

มิติใหม่การขอตำแหน่งวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม

สอวช. จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 12 ประเด็น “ผ่าแนวคิดการขอตำแหน่งวิชาการ ด้วยผลงานนวัตกรรม ตอบโจทย์พัฒนาประเทศ”

แนวคิดการขอตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม เกิดจากที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรที่มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม จึงมีการจัดทำเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม

เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมบทบาทการทำงานและเส้นทางอาชีพของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ในการสร้างผลงานด้านนวัตกรรมทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบได้ในวงกว้าง ทั้งในเชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณะ รวมถึงเพื่อสนับสนุนการทำงานเชื่อมโยงระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคส่วนอื่นๆ 

มิติใหม่การขอตำแหน่งวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม

(ภาพถ่ายโดย hitesh choudhary)

อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และสังคม เพื่อขยายการนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง 

ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ 4 ด้าน ประกอบด้วย

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและขจัดความยากจน
  2. การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ
  3. การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ
  4. การพัฒนาการศึกษา สังคม สุขภาพและบริการภาครัฐ

ศ.สนอง เอกสิทธิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประธานอนุกรรมการ ตำแหน่งทางวิชาการด้านนวัตกรรม​ของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ให้ความคิดเห็นว่า ประเทศไทยมีอาจารย์และนักวิจัยเก่งๆ มากมาย ที่มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับ

และยังมีกลุ่มที่ทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์ แต่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการตีพิมพ์ผลงาน จึงทำให้มีข้อติดขัดในการขอตำแหน่งทางวิชาการรูปแบบเดิมที่ใช้ผลงานวิชาการเป็นหลัก 

มิติใหม่การขอตำแหน่งวิชาการด้วยผลงานนวัตกรรม

(ภาพถ่ายโดย Pixabay)

นโยบายการใช้ผลงานทางนวัตกรรมเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเติบโตทางด้านการทำงาน ให้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในงานที่ทำ ที่สามารถตอบโจทย์ประเทศได้ ทั้งในเชิงพื้นที่หรือเชิงการสร้างรายได้ นอกเหนือจากการสร้างองค์ความรู้ใหม่

โดยทำให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มอาจารย์ และช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ทุ่มเทในการทำนวัตกรรมมากขึ้น อาจารย์ที่จะขอตำแหน่งวิชาการไม่ต้องกลัวกับวิธีการใหม่ เพียงแค่ทำความเข้าใจกับหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนและขอให้เชื่อมั่นในผลงานของตัวเอง

น.สพ.กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร Chief Innovation Officer and Co-Founder บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด มีบทบาทเป็นคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจัดทำหลักเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานด้านนวัตกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนเหมือนอยู่คนละมุมกับฝ่ายวิชาการและภาคมหาวิทยาลัย แต่ขณะนี้ต้องจับมือกันและเติบโตไปด้วยกัน การจะทำงานวิจัยหรือการขับเคลื่อนบริษัทในทุกวันนี้ จึงถูกขับเคลื่อนในรูปแบบความร่วมมือสามประสาน (Triple Helix)

คือ มีหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนขับเคลื่อนงานวิจัยเข้ามาทำงานร่วมกับภาควิชาการและภาคเอกชน ทำให้เกิดงานวิจัยต่างๆ ขึ้น เมื่อภาคเอกชนมีโจทย์ ภาควิชาการมีแนวทางแก้ปัญหา เกิดการทำงานร่วมกันก็จะทำให้มีผลงานวิจัย เกิดเป็นสิทธิบัตรออกมา 

การขอตำแหน่งทางวิชาการเป็นอีกโอกาส ที่จะทำให้คนที่อยู่ในมุมวิจัยที่เป็นภาคเอกชน หรือคนที่เคยเป็นอาจารย์และออกมาทำงานในภาคเอกชน ได้มีโอกาสในการขอตำแหน่งวิชาการได้ และยังสามารถพัฒนาสินค้านวัตกรรมไปจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ