กสทช.ยื้อลงมติ 'ดีลยักษ์' ตั้ง 'อนุฯแข่งขันการค้า' เพิ่ม สอบ'ทรูควบดีแทค!!

กสทช.ยื้อลงมติ 'ดีลยักษ์' ตั้ง 'อนุฯแข่งขันการค้า' เพิ่ม สอบ'ทรูควบดีแทค!!

บอร์ดกสทช.ขยายเวลาตรวจสอบ "ดีลทรูควบดีแทค" ถึงต้น ส.ค.นี้ พร้อมลุยตั้งอนุฯ แข่งขันการค้า หวังปิดจ๊อบพิจารณาแผนขอควบรวม แหล่งข่าว ระบุ หยั่งเสียงโหวตหลังจบโฟกัสกรุ๊ป คะแนนยังไม่ขาด ทำให้ต้องตั้งอนุกรรมการเพิ่ม ชี้กรอบเวลา ต้นส.ค.นี้ ต้องจบทุกอย่าง ไม่ต้องรอบอร์ดใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (12 ก.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า หลังจากที่สำนักงาน กสทช. ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอขยายระยะเวลาสรุปผลการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) ถึงผลกระทบจากการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จากเดิม 60 วัน ซึ่งครบกำหนดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ออกไปอีก 30 วัน เป็นวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เพื่อเสนอไปยังที่ประชุม กสทช. พิจารณาต่อไป

ตั้งอนุกรรมการแข่งขันสอบดีล

ล่าสุด บอร์ดได้หารือและมีข้อสรุปว่า จะให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการแข่งขันทางการค้าเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ชุด เพิ่มเติมจากเดิมที่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ การควบรวมกิจการดังกล่าวจำนวน 4 คณะ ได้แก่

1. คณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมาย

2.คณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง

3.คณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี

4. คณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐศาสตร์

เนื่องจากมติเห็นชอบ และไม่เห็น มีจำนวนเสียงเท่ากัน ดังนั้น กสทช. จึงต้องการข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

“บอร์ดมองว่าถ้าแต่ละอนุฯที่แต่งตั้งขึ้นนอกจากต้องสรุปรายงานหลังจากที่รวบรวมต้องมีลงความเห็นเลยว่าดีลนี้สมควรจะผ่านหรือไม่ โดยตอนนี้เสียงของอนุฯเท่ากันอยู่ที่ 2 ต่อ 2 ดังนั้น หากมีอนุฯด้านแข่งขันทางการค้ามาอีกชุด จะครบถ้วนมากขึ้น และมีเสียงขี้ขาดได้” แหล่งข่าวจากบอร์ดกสทช.ระบุ

ทั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้ สำนักงานกสทช. ยังไม่สามารถสรุปรวบรวมความเห็นจากนักวิชาการ ภาคประชาชน กลุ่มผู้บริโภค และภาคธุรกิจหลังจากจบโฟกัส กรุ๊ปไป 3 ครั้งดังกล่าวให้กับบอร์ดกสทช.ได้ลงมติว่าจะให้การรวมธุรกิจได้นั้น แต่ความชัดเจนในการพิจารณาของบอร์ดเริ่มส่งสัญญาณออกมาแล้วว่าไม่ควรรอบอร์ดกสทช.อีก 2 คนที่กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติจากวุฒิสภา เพราะบอร์ดที่มีอยู่ 5 คนสามารถโหวตลงคะแนนได้ทันที

แหล่งข่าวจากบอร์ดกสทช. กล่าวว่า ในตอนนี้ยังไม่สามารถตอบแทนบอร์ดที่มีตำแหน่งอยู่ได้ว่า จะมีความเห็นออกไปทางไหน แต่จากข้อมูลของอนุฯกรรมการที่ตั้งขึ้นมา 4 ชุด ก็ค่อนข้างมีความเห็นออกมาอย่างงชัดเจน ซึ่งสิ่งที่บอร์ดกสทช.ให้ความหนักใจมากที่สุด คือภาระของผู้บริโภคที่อาจเพิ่มขึ้น เมื่อมีผู้แข่งขันในตลาดเหลือเพียง 2 รายใหญ่ ดังนั้น มีความกลัวว่า อัตราค่าบริการจะปรับตัวสูงขึ้น หรือหากคิดอัตราค่าบริการเท่าเดิม จำนวนนาทีที่โทรไป หรือ อินเทอร์เน็ตที่ให้มาได้แพ็คเกจจะลดลง หากค่ายมือถือโดนบีบไม่ให้ขึ้นราคาค่าบริการหลังควบรวมสำเร็จ

 

ควบรวมไม่เคยส่งเสริมการแข่งขัน

นายฉัตรชัย ตวงบริพันธุ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงกรณีดีลการควบรวมกิจการโทรคมนาคมว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการควบรวมธุรกิจในอุตสาหกรรมค้าปลีกระหว่างบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้สามารถควบรวมได้และได้กำหนดเงื่อนไขในการควบรวมไว้ 7 ข้อ แต่ในบริบทของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกลับต่างกัน เพราะในธุรกิจค้าปลีกได้นิยามคำว่า“ตลาด” ต่างกัน เพราะหมายถึง 2 ตลาดคือ Modern Trade กับ Traditional Trade

ซึ่งในกรณีนี้จะแตกต่างกับตลาดโทรคมนาคมอย่างมาก เพราะนิยามคำว่า “ตลาด” ในที่นี้ก็คือตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียวไม่มีตลาดอื่น ผู้เล่นในตลาดนี้ก็มีเพียง 3 รายใหญ่ที่มีผลต่ออุตสาหกรรม คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ทรู และดีแทค โดยแรกเริ่ม เอไอเอสมีส่วนแบ่งการตลาดราว 40% ต่อมาดีแทคเข้ามาทำตลาดก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นมาได้มากที่สุดถึง 40% ส่วนทรูเข้าตลาดรายสุดท้ายโดยมีแชร์ราว 20%

โดยตอนนั้น เริ่มมีการแข่งขันกันอย่างมาก เกิดการทำตลาดแข่งขันโปรโมชั่น ลดราคาค่าโทรศัพท์ มีการคิดแพ็คเกจทั้งแบบจ่ายรายเดือนและเติมเงิน เรียกได้ว่าตลาดคึกคักเกิดบริการใหม่ๆตามมาอย่างมากดังนั้น การควบรวมที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่สามารถพูดได้ว่าจะยิ่งเพิ่มการแข่งขัน เพราะการควบรวมที่เกิดกับตลาดที่มีอยู่เพียงตลาดเดียวไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันไม่ว่าจะมองมุมใด

ซึ่งเมื่อมีการแข่งขันแย่งลูกค้ากัน มันจะเกิดแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขันอย่างมาก ตลาดแบบนี้ส่งผลบวกอย่างมาก

 

สัญญาณชี้ชัดไม่ทำต่อแล้ว

นายฉัตรชัย กล่าวว่า หลังจากที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน พอกาลเวลาผ่านไปจากดีแทคที่เคยเป็นเบอร์สองในตลาดขณะนั้น กลับกลายมาอยู่เบอร์ 3 จากลูกค้าที่หายออกจากไปโครงข่ายจำนวนมาก ตรงนี้เป็นเหมือนสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้าจากดีแทคแล้วว่า ไม่ต้องการทำตลาดไทย (Exit) ซึ่งผมเชื่อว่า ขณะนั้น กสทช. ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลต้องรู้สัญญาณดังกล่าวแล้ว เริ่มตั้งแต่ไม่เข้าประมูลโครงข่าย 5จี หรือเข้าร่วมประมูลแต่ก็ไม่มีการเคาะราคาใดๆ จึงมาถึงจุดที่ทรูและดีแทคประกาศควบรวมกิจการกัน

หากสุดท้ายแล้วกระบวนการควบรวมระหว่างทั้งสองบริษัทจบลง จะส่งผลให้มาร์เก็ตแชร์ด้านจำนวนผู้ใช้บริการ ของเอไอเอสจะขึ้นไปอยู่ที่ 47% ขณะที่ บริษัทเกิดใหม่หลังจากควบรวม หรือทรู จะมีแชร์อยู่ที่ 52% แต่หากพอควบรวมกันเสร็จแล้วและมีการแข่งขันกันไปสักพัก ผู้เล่นในตลาดพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ ก็จะไม่เหลือการแข่งขันอีกต่อไป เพราะส่วนแบ่งทางการตลาดต่างกัน 5-7% เท่านั้น และผู้บริโภคเองก็อาจจะไม่ได้รับบริการใหม่ หรืออัตราค่าบริการที่มีความหลากหลายให้เลือกอีกเหมือนในอดีต