ย้อนรอย “บลูทูธ” เทคโนโลยีเก่าแก่ 20 ปี ทำไมยังได้รับความนิยมอยู่เสมอ ?

ย้อนรอย “บลูทูธ” เทคโนโลยีเก่าแก่ 20 ปี ทำไมยังได้รับความนิยมอยู่เสมอ ?

ทำความรู้จัก “บลูทูธ” (Bluetooth) เทคโนโลยีที่มีมานานกว่า 20 ปี และผู้คนยังนิยมใช้ในยุคปัจจุบัน แต่ดูเหมือนจะไม่พัฒนาให้มีความสามารถไปมากกว่านี้ ทั้งด้านระยะทางและวิธีการเชื่อมต่อ

บลูทูธ” (Bluetooth) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่อยู่คู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโทรศัพท์มือถือ มาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ตั้งแต่สมัยที่เป็นจอขาวดำ สู่รุ่นฝาพับ จนมาถึงยุคปัจจุบันที่เป็นยุคสมาร์ทโฟนก็ยังคงมีเทคโนโลยีนี้อยู่

ABI Research บริษัทสำรวจตลาดเทคโนโลยีของสหรัฐ คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อบลูทูธได้ ถูกใช้งานถึง 5 พันล้านเครื่อง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านเครื่องภายในปี 2569 ในปัจจุบัน บลูทูธแฝงอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิด ตั้งแต่สมาร์ทโฟน หูฟัง ตู้เย็น ไปจนถึงหลอดไฟ ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้หลากหลาย

ดูเผิน ๆ เหมือนเทคโนโลยีนี้จะทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่บลูทูธยังคงสร้างความปวดหัวให้แก่ผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบากในการตั้งค่าการใช้งานอุปกรณ์ใหม่ และการเชื่อมต่อสลับอุปกรณ์ไปมา เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมต่อหลายอุปกรณ์พร้อมกันได้ รวมถึงระยะทางในการเชื่อมต่อที่แสนจะสั้น

“ผมมีความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดกับบลูทูธ เพราะเวลาใช้งานได้มันเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมาก แต่บทจะเชื่อมต่อไม่ได้ ผมนี่แทบจะหยุมหัวตัวเองคริส แฮร์ริสัน ศาสตราจารย์ด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน กล่าวกับ CNN โดยยังระบุอีกว่า 

“บลูทูธมันควรจะใช้งานได้ง่ายกว่านี้ และราบรื่นไม่มีสะดุด แต่น่าเสียดายที่มันไม่เคยเป็นแบบนั้นเลย

ชื่อบลูทูธมาจากไหน

ในปี 2539 Intel, Ericsson และ Nokia ผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (ในขณะนั้น) ของสแกนดิเนเวีย ร่วมกันวางแผนสร้างมาตรฐานการรับส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุระยะสั้น เพื่อเชื่อมต่อการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

ส่วนที่มาของชื่อ “บลูทูธ” นั้น เป็นการตั้งชื่อตามพระนามของ พระเจ้าฮารัลด์ “บลูทูธ” กอล์มสัน กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก และ นอร์เวย์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำด้านการผลิตโทรศัพท์มือถือป้อนสู่ตลาดโลก และเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีบลูทูธนี้

ก่อนหน้านี้มีมีม (meme) ที่ระบุว่า พระเจ้าฮารัลด์ ได้ชื่อเล่นว่า บลูทูธ เนื่องจากพระองค์ชอบเสวยบลูเบอร์รีมาก จนทำให้พระทนต์ของพระองค์เป็นสีฟ้า ซึ่งมีคนเชื่อเป็นจำนวนมาก แต่ความจริงแล้ว ฉายา บลูทูธ หรือฟันสีฟ้า นั้นมาจากที่พระทนต์ของพระองค์อยู่ในสภาวะฟันตาย (dead tooth) จนทำให้ฟันมีสีเทาแกมน้ำเงิน ไม่ได้มาจากการเสวยบลูเบอร์รีแต่อย่างใด

นอกจากนี้สัญลักษณ์ของบลูทูธที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็มาจากการรวมตัวอักษรยังเกอร์ ฟูทาร์ก” หรือ อักษรรูนโบราณของสแกนดิเนเวีย ตัว Hagall (ᚼ) และ Bjarkan (ᛒ) เข้าด้วยกัน ซึ่งก็มาจากคำว่าบลูทูธนั่นเอง

ปัญหาของบลูทูธ

บลูทูธ เป็นเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลระยะใกล้ ระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยกัน ใช้ความถี่คลื่นวิทยุย่าน 2.4 กิกะเฮิรตซ์ (GHz.) ซึ่งแต่ละประเทศจะใช้คลื่นความถี่ที่ไม่เหมือนกัน จุดเด่นของบลูทูธคือ ใช้พลังงานต่ำ ไม่กินแบตเตอรี แถมยังมีอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิดอยู่แล้ว แต่มีระยะเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ทั้งสองเพียง 5-100 เมตรเท่านั้น 

อีกทั้งเป็นการเชื่อมต่อแบบหนึ่งต่อหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าจับคู่กับอุปกรณ์ใดแล้วก็จะไม่สามารถไปใช้กับอุปกรณ์อื่นได้อีก ต้องเสียเวลาในการยกเลิกการจับคู่กับอุปกรณ์เดิมก่อน ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชนิดก็มีวิธีการเชื่อมต่อที่แตกต่างกันออกไป

สัญญาณบลูทูธจะเดินทางผ่านคลื่นวิทยุที่ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต ดังนั้นทุกคนจึงสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ถ้าเชื่อมต่อได้) ซึ่งแตกต่างจากไวไฟ หรือ คลื่นวิทยุอื่น ๆ ที่บริษัทเอกชนได้รับใบอนุญาตเพื่อพัฒนาคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น AIS หรือ True แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายหรือค่าบริการรายเดือนนั่นเอง

ด้วยความที่ใช้คลื่นวิทยุที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทำให้บลูทูธต้องแชร์คลื่นความถี่กับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้คลื่นวิทยุประเภทเดียวกัน เช่น ของเล่นสำหรับเด็ก รีโมททีวี อาจทำให้เกิดการรบกวนและขัดขวางประสิทธิภาพการทำงานของบลูทูธ 

 

บลูทูธไม่ปลอดภัย?

แม้ว่าบลูทูธจะมีการพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอด จนปัจจุบันอยู่ในเวอร์ชัน 5.3 ซึ่งอัปเดตไปเมื่อ 13 ก.ค. 2564 แต่ดูเหมือนจะยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อส่งข้อมูลแบบไร้สาย เนื่องจากผู้ผลิตไม่เคยใส่ใจกับการออกแบบโหมดสามารถค้นพบได้ (discovery mode) ที่จะทำให้ผู้อื่นไม่สามารถค้นพบอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อบลูทูธได้ นอกจากผู้ใช้งานอย่างจริงจัง

แฮร์ริสันกล่าวว่า “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีบลูทูธออกแบบมาไม่เหมือนกัน บางอุปกรณ์เริ่มทำงานอัตโนมัติ เข้าสู่โหมดจับคู่ทันที (pairing mode) แต่บางอุปกรณ์ต้องกดเพื่อเริ่มการทำงานเอง”

ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งของสหรัฐแนะนำผู้ใช้งานว่า การใช้บลูทูธอาจทำให้อุปกรณ์มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น โดยคณะกรรมการการสื่อสารของรัฐบาลกลาง หรือ FCC ออกโรงเตือนประชาชนว่า 

“บลูทูธอาจทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นเดียวกับการเชื่อมต่อไวไฟ หากคุณใช้อย่างไม่ระมัดระวัง

จากรายงานของ POLITICO สำนักข่าวการเมืองของสหรัฐ ระบุว่า กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีของสหรัฐ เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกมานานแล้วว่าหูฟังบลูทูธมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เห็นจากคลิปวิดีโอไวรัลที่แฮร์ริสกล่าวแสดงความยินดีกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด โดยเธอกล่าวว่า “เราทำได้แล้ว โจ” ("We did it, Joe!") จะเห็นว่าเธอถือหูฟังแบบมีสายอยู่ในมือ แทนที่จะเลือกใช้หูฟังแบบบลูทูธ

ใคร ๆ ยังคงใช้บลูทูธ

เนื่องจาก บลูทูธแทบไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไรเลย ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ และผู้บริโภคยังคงนิยมใช้บลูทูธต่อไป เห็นได้จาก Apple Inc. เลิกใช้หูฟังแบบสาย แล้วเปิดตัว AirPods หูฟังไร้สายแทน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันออกมาเรื่อย ๆ หรือแม้กระทั่ง Apple Pencil ก็ยังใช้การเชื่อมต่อด้วยบลูทูธเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นักฟังเพลงหลายคนยังคงเลือกใช้หูฟัง หรือ เฮดโฟนแบบสาย เนื่องด้วยคุณภาพเสียงของหูฟังบลูทูธทำได้ไม่ดีเท่า ฟังแล้วไม่ได้สุนทรียภาพเท่าที่ควร

แม้ว่าบลูทูธจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่แฮร์ริสันยังคงเห็นว่าบลูทูธใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง 70% ตลอดการใช้งาน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ IoT หรือ อุปกรณ์ Smart Devices ยังคงต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อผ่านบลูทูธ

“บลูทูธอาจจะไม่ใช่เทคโนโลยีที่ดีที่สุด แต่บลูทูธจะทำหน้าที่เป็นเหมือนกาวที่เชื่อมต่อทุกสิ่งเข้าไว้ด้วยกัน” แฮร์ริสันกล่าวสรุป


ที่มา: BluetoothCNNUSA Today, Techopedia