GISTDA พัฒนากำลังคนด้านดาวเทียม เสริมแกร่งเทคโนโลยีอวกาศ

GISTDA พัฒนากำลังคนด้านดาวเทียม เสริมแกร่งเทคโนโลยีอวกาศ

GISTDA จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้การปฏิบัติการพัฒนาดาวเทียมรุ่นที่ 1 ต่อยอดงานเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ หวังพัฒนากำลังคนไทยทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ

หลังจากทีมวิศวกรดาวเทียมของ “โครงการ THEOS-2” กลับมาจากการศึกษาและพัฒนาดาวเทียมจากบริษัท Surrey Satellite Technology (SSTL) ณ สหราชอาณาจักร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้จัดกิจกรรม “ถ่ายทอดองค์ความรู้การปฏิบัติการพัฒนาดาวเทียม รุ่นที่ 1” ให้กับบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องกับงานทางด้านเทคโนโลยีดาวเทียมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา

ภายใต้กิจกรรมที่ชื่อว่า “Know-How Transfer and Training (KHTT)” ซึ่งมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง การได้เห็นการทำงานจริงของทีมวิศวกรดาวเทียม รวมทั้งได้สร้างโปรเจกต์ตามความสนใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย 

GISTDA พัฒนากำลังคนด้านดาวเทียม เสริมแกร่งเทคโนโลยีอวกาศ

ดาวเทียม THEOS-2

ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศของ GISTDA เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ. - มิ.ย. 2565 เป็นเวลากว่า 5 เดือนที่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติจากทีมวิศวกร ที่ผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนมาอย่างเข้มข้นในการพัฒนาดาวเทียม THEOS-2A เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และต่อยอดกับงานด้านเทคโนโลยีดาวเทียม 

ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การสร้าง และการทดสอบระบบดาวเทียม รวมถึงการประยุกต์ใช้กับงานเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างทีมที่ปรึกษา (mentor) และทีมพี่เลี้ยง

ถือเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการขนาดย่อม ๆ ในขณะจัดกิจกรรม เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ความรู้ใหม่ ๆ หรือแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมอวกาศใหม่ ๆ ที่จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

 

GISTDA พัฒนากำลังคนด้านดาวเทียม เสริมแกร่งเทคโนโลยีอวกาศ

 

กิจกรรมนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นการทดสอบระบบดาวเทียม THEOS-2A ดวงจริงที่เพิ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของทีมวิศวกรดาวเทียมไทย และทีมไทยแลนด์ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาดาวเทียมดวงนี้

โดยมีแผนจะส่งขึ้นสู่วงโคจรประมาณต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม GISTDA จะไม่หยุดแค่รุ่นที่ 1 เพราะเรามีแผนต่อยอดการดำเนินงานออกไปอย่างแน่นอน ซึ่งจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างและพัฒนาบุคลากรไทยให้มีคุณภาพ สร้างแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานของประเทศไทยก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

ด้านศศิลักษณ์ ธรรมสิทธิ์ เจ้าหน้าที่วิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้การปฏิบัติการพัฒนาดาวเทียม กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากสนใจการพัฒนาดาวเทียม เพราะได้เรียนรู้ว่าดาวเทียมมีประโยชน์มากในการที่จะนำข้อมูลจากนอกโลกเข้ามาสู่ภายในโลกได้ ให้กับคนทุกคนได้หาข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจโลก (earth observation) แม้กระทั่งภารกิจสำรวจอวกาศ (space exploration) ต่าง ๆ ได้ 

อีกทั้งดาวเทียมเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ด้วยเงินลงทุนที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่น ๆ การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ นอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนรู้แล้ว ยังช่วยตอบโจทย์และไขความกระจ่างจากความสงสัยของตน นั่นคือเมนเทอร์จาก GISTDA และทีมที่เข้าอบรมด้วยกัน ได้ทำงานเป็นทีม ได้เรียนรู้การสร้างและพัฒนาดาวเทียมจริง ๆ สามารถนำความรู้นี้ไปต่อยอดเป็นโปรเจกต์ที่จะพัฒนาประเทศต่อไปได้

กิจกรรมในครั้งนี้ ทางทีมของตนได้มีโอกาสสร้างโปรเจกต์ SchoolSAT เป็น Space Education Platform เพื่อพัฒนาความรู้ของเยาวชนไทย ในด้านการสร้างดาวเทียม ทั้งยังหวังว่าจะมีโครงการแบบนี้ต่อไปเพราะเป็นโอกาสดีมากที่จะได้พัฒนากำลังคนทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ สามารถต่อยอดเป็นทั้งธุรกิจหรืองาน collaboration ร่วมกับหน่วยงานอื่นได้ เพื่อทำให้เกิดภารกิจอวกาศของประเทศได้ และคาดว่าจะนำความรู้ที่ได้นี้ไปต่อยอดศักยภาพตัวเองและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อทำงานด้านเทคโนโลยีอวกาศต่อไปได้

พิษณุพงษ์ มีประกอบ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไอโอเนคท์ จำกัด รับผิดชอบตำแหน่ง RF S/X Band engineer ในกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าเป็น pain point คือการเข้าถึงการเรียนรู้เรื่องดาวเทียมในประเทศไทยค่อนข้างยาก โครงการนี้เป็นโครงการที่ทลายความคิดดังกล่าว ได้เห็นว่าประเทศไทยเปิดโอกาสให้เข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีการสร้างดาวเทียมได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญมาก จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ 

ทีมเมนเทอร์ได้ให้ความรู้อย่างมาก และคนในทีมเองก็มาจากหลากหลายสาขา หลากหลายองค์ความรู้ แต่ก็ช่วยกันทำให้โปรเจกต์นี้สำเร็จไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ ในหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์หรือภาคการเกษตรต่าง ๆ เทคโนโลยีดาวเทียมจะส่งผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ยกระดับในเรื่องของเทคโนโลยีได้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ซึ่งนี่คือสิ่งที่จะเพิ่มเติม ecosystem ทางด้านเทคโนโลยีได้ในอนาคต