นวัตกรรม “เปิด” เมือง | พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

นวัตกรรม “เปิด” เมือง | พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

“นวัตกรรม” กับ “เมือง” เป็นสองบริบทที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างยิ่ง การ “เปิด” และ “เปลี่ยน” เมือง ด้วย “นวัตกรรม” ในห้วงเวลาหลังวิกฤตโควิด-19 จะเป็นอย่างไร

ล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์สำคัญของหลายเมืองที่มี “อัตลักษณ์ทางนวัตกรรม” ที่แตกต่างกันไปทั่วโลก ผู้นำเมืองและประชาคมนวัตกรรมได้เร่งระดมความคิด และเริ่มลงมือทำให้การตอบสนองต่อสภาพการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทันต่อกระแสวิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ปัจจัยสำคัญของโลกยุคหลังโควิด-19 และการแบ่งขั้วทาง “การเมืองเทคโนโลยี” ที่เปลี่ยนสงครามการค้า เป็นสงครามค่ายเทคโนโลยี ผนวกกับภาวะโลกร้อน คงหนีไม่พ้นการทำให้เมืองเป็นแม่เหล็กดึงดูด “นวัตกร” รวมทั้ง “บริษัทนวัตกรรม” พื้นที่เมืองในช่วงวิกฤตโควิด-19

 

นวัตกรรม “เปิด” เมือง | พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

 

เป็นทั้งพื้นที่และโอกาสทางนวัตกรรม เหตุการณ์ “ปิดเมือง” หรือ Lockdown ส่งผลให้อันดับเมืองนวัตกรรม (Innovation City) และเมืองวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup City) ลดลงกันไปหลายเมือง 

ล่าสุด มหานครในประเทศจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ที่มีการปิดเมืองระลอกใหม่ ก็เริ่มมีผู้อยู่อาศัยที่มาจากต่างประเทศอพยพออกไป ไม่ต่างจากหลายเมืองในประเทศไทยในช่วงที่มีการปิดเมือง และเข้มงวดทางกิจกรรมเชิงกายภาพ

จากการจัดอันดับเมืองนวัตกรรม 500 เมือง ทั่วโลก โดย 2ThinkNow ในปี 2564 กรุงเทพมหานครถูกจัดอันดับอยู่ที่ 172 เป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนการจัดอันดับระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้น (Global Startup Ecosystem Index, GSEI) กว่า 1,000 เมืองทั่วโลก ที่จัดอันดับโดย StartupBlink จากอิสราเอล กรุงเทพมหานครอยู่ที่ อันดับ 99 ในปีนี้ ตกมา 28 อันดับจากเมื่อปีที่แล้ว 

โดยเมืองภูเก็ต อยู่ในอันดับที่ 547 ตกมา 105 อันดับ ตามมาด้วย เมืองเชียงใหม่ อยู่ที่อันดับ 567 ตกมา 170 อันดับ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 เป็นหลัก

นวัตกรรม “เปิด” เมือง | พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA

ตัวเลขหลักร้อยอาจจะทำให้เราตกใจ แต่หากดูจำนวนเมืองในการสำรวจทั้ง 2 แห่ง กรุงเทพฯ ยังอยู่ในกลุ่มลำดับต้น ๆ พอสมควร แต่ต้องเร่งทำให้อันดับเหล่านี้ดีขึ้น และให้เมืองหลักของไทยเป็นเมืองศูนย์กลางทางนวัตกรรม (Innovation hub) ในระดับภูมิภาคให้ได้ในอนาคตอันใกล้

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก Jones Lang Lasalle หรือ JLL เพิ่งออกรายงาน “ภูมิศาสตร์นวัตกรรม: ความยืดหยุ่นและการฟื้นตัว” (Innovation Geographies: Resilience and recovery) ไปเมื่อต้นปีนี้

ซึ่งได้ทำการสำรวจเมืองทั่วโลกกว่า 100 เมือง และมีการจัดอันดับ 25 เมืองนวัตกรรมโลกในยุคโควิด-19 โดยให้ เมืองซาน โฮเซ ในสหรัฐอเมริกา มหานครโตเกียว ซานฟรานซิสโก บอสตั้น และมหานครนิวยอร์ก เป็นเมือง Top 5 ของโลก 

และมีการแบ่งประเภทของเมืองในมิติสำคัญที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มเมืองนวัตกรรมผู้นำโลก (Global leaders) ประกอบด้วย ปักกิ่ง ปารีส และซานฟรานซิสโก หรือ กลุ่มเมืองที่มีนวัตกรอุบัติใหม่ (Emerging innovators) เช่น มุมไบ กวางโจว และไฮเดอร์ราบัด (สองยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย) โดยสิงคโปร์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเมืองศูนย์กลางนวัตรรม (Innovation Centric) ร่วมกับบาเซโลน่า และชิคาโก 

ถัดมาในส่วน “นโยบายในระดับเมือง” The City of London ซึ่งเป็นย่านตึกสูงของอังกฤษ และเป็นที่ตั้งของ “ย่านการเงิน” สำคัญของมหานครลอนดอน ได้ประกาศแผนการเปิดเมืองไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยตั้งเป้าให้ย่านแห่งนี้เป็น “ย่านที่ยั่งยืน ทั่วถึง และมีความเป็นนวัตกรรมที่สุดในโลก” 

ผ่านแผนปฏิบัติการ 5 ปีที่มุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีให้มากขึ้น โดยพุ่งการพัฒนาไปที่ 3 บริบทสำคัญ ได้แก่

  1. สร้างระบบนิเวศทางนวัตกรรมเพื่อดึงดูดธุรกิจและทรัพยากรมนุษย์
  2. สร้างสะพานเชื่อมและแรงดึงดูดแก่กลุ่มนวัตกร ผู้มาเยือน และผู้อยู่อาศัย
  3. สร้างสภาพแวดล้อมที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อาคารที่ยั่งยืน ถนนที่มีคุณภาพสูง และพื้นที่สาธารณะ จะเห็นได้ว่าแผนปฏิบัติการไม่มีอะไรใหม่ และตรงกับแนวคิด “ย่านนวัตกรรม” หรือ Innovation District แต่มันคือพื้นฐานแบบใหม่ของ “การพัฒนาเมืองแห่งนวัตกรรม

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงให้แนวคิดที่เน้นการพัฒนาไปที่ระดับย่านและโยงกับระบบนวัตกรรม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในสิงคโปร์และประเทศไทย ภาคเอกชนได้เริ่มตื่นตัวเป็นอย่างมากตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19 หากหลายท่านยังจำกันได้

การจัดงาน Startup Thailand 2019 ได้ปักหมุดพื้นที่นวัตกรรมตามแนวรถไฟฟ้า BTS และ MRT เช่น ย่านสยาม ศาลาแดง และปุณณวิถี ไว้ 9 แห่ง เช่น NIA, True Digital Park, TCDC, Glowfish และ KX ในฝั่งธนบุรีที่รถไฟฟ้าสายสีทองเพิ่งแล้วเสร็จไปไม่นาน เพื่อโชว์ศักยภาพระเบียงนวัตกรรมกรุงเทพ (Bangkok Innovation Corridor) ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และหน่วยงานรัฐ 

แต่วิกฤตโควิด-19 ก็ทำให้การทะยานของแผนการนี้ชะลอไป แต่ยังไม่ได้หยุดชะงัก ดังนั้น การจัดงาน Startup & Innovation Thailand Expo 2022 หรืองาน SITE2022 จึงมีแนวคิด “เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน” เรียกได้ว่างานนี้คือการ Kick-off การทำงานร่วมกันของภาคีในการรังสรรค์ระบบนิเวศสตาร์ทอัพและระบบนวัตกรรมเมืองอีกครั้ง เพื่อการเปิดและเปลี่ยนเมืองด้วยนวัตกรรม

โดยจะจัดขึ้นในรูปแบบไฮบริดผสานทั้งการจัดงานเชิงกายภาพและการเปิดตัว Metaverse: Innovation Thailand ขึ้น ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 เข้าร่วมฟรีทุกกิจกรรม