กสทช ส่อยื้อ เคาะ 'ดีลทรูดีแทค' รอ 2 กรรมการใหม่ร่วมชี้ขาด

กสทช ส่อยื้อ เคาะ 'ดีลทรูดีแทค' รอ 2 กรรมการใหม่ร่วมชี้ขาด

จับตาวาระประชุม กสทช.วันนี้ เล็งสอดไส้รายงานผลสรุปโฟกัส กรุ๊ป 3 ครั้ง ให้บอร์ดรับทราบก่อนพิจารณาลงมติคว่ำหรือผ่านดีลทรู-ดีแทค แหล่งข่าวเผยการพิจารณาไม่จบง่าย มี "มือมืด"หวังลากยาวรอกรรมการอีก 2 คน ด้านกฎหมาย-โทรคมฯ ลงคะแนนโหวต หลังเสียงตอนนี้ส่อค้านควบรวม

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (15 มิ.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) โดยขณะนี้ตามวาระที่ สำนักงานกสทช.นำเสนอมานั้น ยังไม่มีวาระรายงานสรุป หลังจากที่มติบอร์ดได้สั่งให้จัดการรับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) จำนวน 3 ครั้ง เกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่สำนักงานฯ อาจจะบรรจุวาระดังกล่าวเป็นการพิจารณาฉุกเฉินเพื่อรับทราบ

ทั้งนี้ ตนยังเชื่อว่า หากสำนักงานฯ สรุปข้อเสนอแนะจากโฟกัส กรุ๊ปทั้ง 3 รอบเสร็จโดยจะประกอบไปด้วย ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ภาคนักวิชาการและภาคประชาชนและผู้บริโภคแล้วเสร็จได้จริง ก็น่าจะเป็นแค่การรายงานแจ้งทราบเกี่ยวกับขั้นตอนที่ได้ดำเนินงานไปแล้วเท่านั้น ยังไม่น่าจะมีการลงมติหรือความเห็นใดใดเกี่ยวกับดีลการควบรวมดังกล่าว 


 

เพราะจากการรับฟังโฟกัส กรุ๊ป ท่าทีของบอร์ดในส่วนของเสียงข้างมากก็เอนเอียงไปในฝั่งที่จะคัดค้านหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ เพราะมีการยกตัวเลขของค่าดัชนีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และที่สำคัญยังมีการนำเสนอโมเดลจำลองทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับค่าบริการ และเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบการการเติบโตของจีดีพีก็มีมีความเป็นไปได้ที่จะลดลงอย่างมากหากดีลสำเร็จ

“การประชุมจะมีในช่วงเช้าเพราะตอนบ่ายมีกรรมการบางท่านต้องไปงานแถลงข่าวคงามร่วมมือเรื่องหอสมุดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เท่าที่ดูหากมีวาระเรื่องการควบรวมก็อาจจะสอดไส้มาเป็นเพียงวาระแจ้งเพื่อทราบไม่มีการลงมติแต่อย่างใด”
 

โฟกัสสภาพศก.หลังควบรวม 

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า แม้ว่าในส่วนของการจัดโฟกัส กรุ๊ปจะครบถ้วนไปแล้ว แต่ยังเหลือการรับฟังผลการศึกษาจากคณะอนุกรรมการจำนวน 4 คณะอีกครั้ง เพื่อสรุปแนวโน้มและมาตรการที่จะต้องกำหนดออกไปโดยคณะอนุฯที่ตั้งขึ้นก็เป็นไปตามแผนงาน (โรดแมป) ของบอร์ด ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการฯด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะสรุปผลได้ภายในสิ้นเดือนด้วย

สำหรับประเด็นที่ถือเป็นปัจจัยที่บอร์ดกสทช.ต้องพิจารณาดีลอย่างละเอียดคือ สภาพเศรษฐกิจหลังการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ซึ่งจะทำให้ค่าดัชนีการกระจุกตัวของตลาด ( HHI ) ดีดตัวขึ้นสูงขึ้นจากเดิมในระดับอันตรายมาก ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่ ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มีค่าดัชนี HHI อยู่ที่ 3,575 จุด เมื่อเทียบกับ ค่า HHI ที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับค่าดัชนี HHI สำหรับการแข่งขันมาตรฐานให้อยู่ที่ 2,500 จุด จึงจัดอยู่ในตลาดที่มีผู้เล่นผูกขาดและกระจุกตัวกันอยู่เพียงไม่กี่เจ้าแสดงว่า แม้ยังไม่มีการควบรวมเกิดขึ้น สภาพตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยในปัจจุบันมีการกระจุกตัวสูงมาก

ซึ่งหมายความว่า ประสิทธิภาพในการแข่งขันนั้น ต่ำกว่าค่ามาตราฐานอยู่แล้ว แต่เมื่อการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคสำเร็จแล้วจะทำให้ค่าดัชนี HHI ดีดตัวขึ้นสูงถึง 4,706 จุด ซึ่งจัดอยู่ในตลาดที่มีผู้เล่นผูกขาดและกระจุกตัวในระดับอันตรายมาก ดังนั้นหาก กสทช. อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจจะส่งผลให้ค่าดัชนี HHI หลังการควบรวม เท่ากับ 4,706 จุด ซึ่งสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 1,131 จุด ทำให้กลุ่มบริษัทใหม่จะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ ยังมีการนำแบบจำลองโมเดลทางเศรษฐศาตร์ซึ่งมีสมการและข้อมูลที่แสดงความสัมพันธ์ที่ทุกสาขาเศรษฐกิจมีความเกี่ยวข้องกัน สรุปผลการศึกษาพบว่า ดูจากกรณีเลวร้ายที่สุดอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นกรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.60% - 2.07% และในแง่ของจีดีพีพบว่าจะหดตัวลดลงในช่วง 0.58% - 1.99% คิดเป็นมูลค่าที่ลดลงในช่วง 94,427 - 322,892 ล้านบาทหากดีลนี้สำเร็จ และอัตราค่าบริการพบว่ามีแนวโน้มจะสูงขึ้นหากมีการร่วมมือทางธุรกิจกันคือจะสูงขึ้นไปกว่า 200% 

จับตาบอร์ดฯยื้อรอกสทช.อีก2คน

แหล่งข่าวจากกสทช.กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีความพยายามจากบอร์ดที่จะไม่ลงมติใดๆเกี่ยวกับเรื่องดีลการควบรวมทรูและดีแทค เนื่องจากจะรอการรับตำแหน่งของกรรมการกสทช.อีก 2 คน คือ นายอภิรัฐ ศิริธราวัตร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านกิจการโทรคมนาคม 

และ พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร อดีตที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้านกฎหมาย เพราะระบุว่าในเมื่อเรื่องดังกล่าวเกี่ยวพันกับกิจการโทรคมนาคมและกฎหมายอย่างมาก จึงควรรอให้กรรมการกสทช.จาก 2 ด้านโดยเฉพาะมาร่วมพิจารณา ดังนั้น เรื่องดังกล่าวมีแนวโน้มจะพิจารณาล่าช้าออกไป ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะไม่ส่งผลดีต่อผู้ขอรวมธุรกิจคือทรูและดีแทค