'เวอร์ชวล ทวิน’ พลิกโฉม อนาคตอุตฯ ยานยนต์ไทย

'เวอร์ชวล ทวิน’ พลิกโฉม อนาคตอุตฯ ยานยนต์ไทย

อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน ถูกท้าทายด้วยหลายปัจจัยทั้งจากปริมาณความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น การแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง ทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลในอุตสาหกรรม

โจเซฟิน ออง กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ ผู้ให้บริการโซลูชั่น 3 มิติชั้นนำ เผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศไทยมีความเข้มแข็งและมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็น 12% ของจีดีพี

อย่างไรก็ดี เทรนด์ระดับโลกได้เปลี่ยนไปสู่การคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กลายเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ขณะนี้ในอาเซียนมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า 16.5 ล้านคน และจะเติบโตถึง 20% ภายในปี 2568

ดังนั้นการกระตุ้นการขับเคลื่อนและพัฒนาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมก้าวเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่คุณค่าของตลาดอีวีโลกได้

“โรดแมปของประเทศไทยตั้งเป้าที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้สัดส่วน 50% ภายในปี 2573 ประเมินขณะนี้นับว่ามีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ โดยสิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น สิทธิประโยชน์การลงทุน ภาษี และนโยบายที่เกี่ยวข้อง และหากไทยต้องการรักษาความสำเร็จเอาไว้ควรโฟกัสกับการแข่งขันทั้งกับรายเดิมและรายใหม่ การเปลี่ยนผ่านของตลาด ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ซัพพลายเชน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรที่จะมาตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล"

เธอกล่าวว่า ความต้องการพึ่งพาโซลูชันเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นลำดับแรกๆ ที่ผู้ผลิตไทยควรคำนึงถึง การปรับใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตจะช่วยปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงและยกระดับการคมนาคมได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในตลาดงานและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

โดย “นวัตกรรมในการผลิต” จะมีบทบาทสำคัญสำหรับช่วยให้ประเทศตระหนักถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้พัฒนารูปแบบการขนส่งที่ยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้

กีโยม เชอ-คฮองโดร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งและยานยนต์แห่งเอเชีย แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ กล่าวถึงอนาคตของอีวีและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้กลายเป็นโลกแห่งการแข่งขันทางดิจิทัลว่า การที่จะพัฒนาการคมนาคมไปสู่รูปแบบที่ยั่งยืนนั้น ต้องใช้นวัตกรรมในการผลิตและการออกแบบที่เน้นการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (Ecodesign)

ทั้งนี้ เพื่อลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นอันนำมาซึ่งมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นต้นของกระบวนการผลิต ซึ่งเรื่องนี้เทคโนโลยี “Virtual Twin” จะช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นในฟังก์ชันต่างๆ และช่วยพัฒนาอนาคตของการคมนาคมในเมืองอัจฉริยะให้เป็นจริงได้

โดยการปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้และความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ “Lifecycle” ของโซลูชั่นทั้งระบบ ด้วยการสร้างแบบจำลองกระบวนการผลิตที่ครอบคลุมทั้งระบบในลักษณะการทำงานร่วมกัน 

Virtual Twin สามารถให้ประโยชน์แก่บริษัทในประเทศไทยเพื่อสร้างการดำเนินงานอย่างยั่งยืนและช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ตระหนักถึงอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ที่ผ่านมา กรณีศึกษาจากลูกค้าของแดสสอล์ท ซิสเต็มส์ พบว่า เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการผลิตและส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด มากกว่านั้นช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับระบบขับเคลื่อนใหม่ การออกแบบตัวถังน้ำหนักเบา และแบตเตอรี่สำหรับอีวี รวมทั้งเป็นผู้ช่วยสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งอัตโนมัติ