ทักษะ ‘ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้’ โจทย์สุดท้าทาย‘ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

ทักษะ ‘ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้’ โจทย์สุดท้าทาย‘ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

ฟอร์ติเน็ต เผยผลการศึกษาชิ้นใหม่เกี่ยวกับ “ช่องว่างทักษะด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้” ที่อาจนำไปสู่การเกิดช่องโหว่ในองค์กร ทั้งยังจะส่งผลกระทบถึงความสูญเสียของธุรกิจ ทั้งเชิงรายได้ ชื่อเสียง สร้างความกังวลใจให้กับผู้บริหารระดับสูง

ราชีช แพนเดย์ รองประธานฝ่ายการตลาด ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ในปีนี้การขาดแคลนผู้มีทักษะด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังคงเป็นปัญหาท้าทายและส่งผลสะท้อนสู่องค์กรหลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็นการเกิดช่องโหว่ด้านการรักษาความปลอดภัย และอาจทำให้ต้องสูญเสียเงินในที่สุด นอกจากนั้นช่องว่างทักษะดังกล่าวยังคงเป็นความกังวลใจอันดับต้นสำหรับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร และกลายเป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับกรรมการบริหารให้ความสำคัญเป็นอันดับสูง

ปัจจุบัน 71% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจ ต่างประสบกับความยากลำบากในการว่าจ้างผู้มีความสามารถซึ่งมีคุณสมบัติด้านเทคโนโลยีไซเบอร์ซิเคียวริตี้เข้าทำงาน โดย 63% เห็นพ้องว่าการขาดคนเก่งที่มีทักษะดังกล่าวยังส่งผลกระทบร้ายแรงถึงธุรกิจ

เนื่องจากมีองค์กรจำนวนมากขึ้นที่นำเทคโนโลยีอย่างคลาวด์และระบบออโตเมชั่นมาใช้งานจึงทำให้การขาดผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้กลายเป็นปัญหาที่หนักขึ้นไปอีก

ผลสำรวจชี้ว่า ผลกระทบจากการขาดแคลนทักษะด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้กำลังขยายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกที่มีช่องว่างบุคลากรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ใหญ่ที่สุด คิดเป็นจำนวนกว่า 1.42 ล้านคน

นอกจากนี้ เมื่อค่าใช้จ่ายของการละเมิดช่องโหว่ทำให้องค์กรต้องเสียทั้งชื่อเสียงและกำไร ไซเบอร์ซิเคียวริตี้จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นสำหรับคณะกรรมการระดับบริหารมากยิ่งขึ้น

โดย 89% ขององค์กรในภาคพื้นเอเชียมีคณะกรรมการบริหารที่บอกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการขององค์กรได้ถามคำถามเจาะจงเรื่องของไซเบอร์ซิเคียวริตี้โดยเฉพาะ และ 79% ขององค์กรมีคณะกรรมการบริหารที่แนะนำว่าควรเพิ่มบุคลากรเพื่อมาดูแลด้านไอทีและไซเบอร์ซิเคียวริตี้เป็นพิเศษ

รายงานเผยว่า 97% ของบรรดาผู้นำเชื่อว่าการออกใบรับรองที่มุ่งเน้นเรื่องเทคโนโลยี จะให้ผลกระทบเชิงบวกในเรื่องการทำงานและทีมงานขององค์กร ขณะที่ 86% ของผู้นำต้องการจ้างคนที่มี certifications รับรองแล้ว และ 89% บอกว่ายินดีจะจ่ายเงินให้กับบุคลากรที่มี certifications

ปัจจุบัน 51% ของผู้นำเชื่อว่าบุคลากรของตนยังขาดความรู้ที่จำเป็นอยู่ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าโปรแกรมการสร้างการรับรู้เรื่องการรักษาความปลอดภัยที่มีอยู่มีประสิทธิภาพหรือไม่

อย่างไรก็ดี ปัญหาท้าทายสำคัญสำหรับองค์กรคือ การสรรหาและรักษาบุคลากรที่เหมาะสมเพื่องานสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัย ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ตลอดจนนักวิเคราะห์ของศูนย์ปฏิบัติการณ์ด้านความปลอดภัย

โดยในรายงานพบว่า 60% ของผู้นำในเอเชียให้การยอมรับว่าองค์กรต้องพยายามอย่างมากในการสรรหาพนักงาน ในขณะที่อีก 57% ก็พยายามอย่างยิ่งในการรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้

ส่วนหนึ่งของปัญหาท้าทายเรื่องการจ้างงานคือ การสรรหาบุคลากรที่มีความหลากหลาย ทั้งผู้หญิง นักศึกษาจบใหม่ และชนกลุ่มน้อย โดย 76% ขององค์กรในเอเชียมองว่า การสรรหานักศึกษาจบใหม่เป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ตามมาด้วย 75% การสรรหาบุคลากรผู้หญิง และ 62% กล่าวว่าการว่าจ้างชนกลุ่มน้อยถือเป็นความท้าทาย

ขณะที่องค์กรต่างต้องการสร้างทีมงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นและมีความสามารถสูงขึ้น 90% ของบริษัทในเอเชียต่างมีเป้าหมายที่เด่นชัดว่าความหลากหลายนับเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการว่าจ้างงาน