เปิดความเห็น 3 นักวิชาการ 'ดีลควบทรู-ดีแทค' ไปต่อหรือพอแค่นี้!!??

เปิดความเห็น 3 นักวิชาการ 'ดีลควบทรู-ดีแทค' ไปต่อหรือพอแค่นี้!!??

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบตึงความเห็นนักวิชาการที่ออกมาวิพากษ์ ดีลทรูควบดีแทค มุมมองต่ออภิดีลนี้ เป็นไปในทิศทางไหนบ้าง!!

โฟกัส กรุ๊ป เพื่อรับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัดอย่างเป็นทางการ ต่อการควบรวมธุรกิจระหว่าง “ทรู” และ “ดีแทค” ค่ายมือถือเบอร์ 2 และ 3 และตลาดโทรคมนาคมไทย ที่จัดขึ้นใน สำนักงานคระกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จบลงไป 2 ครั้งแล้ว คือรอบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นรอบของคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิพิลเมือง

ส่วนรอบวิชาการ ซึ่งจะถือเป็นการจัดโฟกัส กรุ๊ป ครั้งสุดท้ายนั้น สำนักงานกสทช.มีกำหนดล่าสุดออกมาว่า จะจัดงานในวันที่ 7 มิ.ย.2565 ตั้งแต่เวลา 9.00-12.00 น.

 

แต่สิ่งที่น่าจะจับตาดูต่อจากนี้อยู่ที่การสรุปรายงานหลังจากที่ได้รับฟังความเห็นไปแล้ว โดยจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานกสทช.ที่จะต้องรวบรวมความเห็น เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ในกลางเดือนหน้า และหลังจากนั้น น่าจะเริ่มได้เห็นเค้าลางแล้วว่า บอร์ดกสทช.จะมีมติออกมาทางใด

 

ปลายทางจบที่ศาลแน่นอน

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้มุมมองจากประสบการณ์กรณีที่ดีแทคออกมาประกาศการควบรวมกิจการโทรคมนาคมกับทรูว่า ขณะนี้มีผู้ให้บริการสามรายใหญ่ในตลาดแต่ยังถือว่ามีการแข่งขันไม่เต็มที่มากนัก จึงเข้าลักษณะตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly Market) แต่หากลดลงเป็นเหลือสองราย (Duopoly) หรือเพียงบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และบริษัทใหม่หลังการควบรวมของทรูและดีแทค จึงเกิดคำถามว่าผลกระทบต่อทางเลือกของผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร 

ดังนั้น กสทช. ต้องอธิบายถึงผลกระทบต่อการแข่งขันและผู้บริโภคในกรณีของการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมฯ และ แผนการกำกับดูแลในอนาคตเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะในกิจการที่มีอำนาจเหนือตลาดสูง อีกทั้งการที่มีผู้แข่งขันน้อยราย โดยเฉพาะธุรกิจโทรคมนาคมที่รายใหม่ ๆ จะเข้าสู่ตลาดเดิมยากขึ้นและผู้บริโภคจะมีอำนาจน้อยลงไปอีก กสทช. จะมีมาตรการเยียวยาอย่างไร

สุดท้ายแล้ว เธอ เชื่อว่า เรื่องนี้จะจบลงที่ศาลปกครองและกินเวลายาวนาน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะฟ้องใคร เช่น หาก กสทช.อนุญาตให้ควบรวมได้ เอไอเอสก็อาจยื่นฟ้องกสทช. แต่หากไม่อนุญาตให้ควบรวม สองบริษัทนั้นก็จะเป็นผู้ยื่นฟ้องกสทช. 

ฉะนั้น จึงขอให้กำลังใจกสทช. ชุดใหม่ทำงานอย่างเข้มแข็ง กล้าหาญ โปร่งใส และตรงไปตรงมา เพราะสังคมลงทุนสร้างกสทช.ให้เป็นหน่วยงานกำกับดูแล มีความเป็นอิสระ มีงบประมาณ มีสวัสดิการดี หากกสทช.ยืนธงว่าไม่มีอำนาจในการเข้าไปจัดการดีลนี้จึงเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ เพราะกฎหมายหลายฉบับก็ระบุว่ากสทช.มีอำนาจเต็ม

 

กระจุกตัวสูงต้องห้ามควบรวม

"สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นต่อกรณีการควบรวมธุรกิจดังกล่าวว่า หลักในการกลั่นกรองการอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่อนุญาต จะดูตามการกระจุกตัวของตลาดจากดัชนีคือ Herfindahl-Hirschman Index : HHI ซึ่งมีค่าตั้งแต่ 0 สูงสุด 10,00 เช่น หากหลังการควบรวมพบว่า HHI สูงกว่า 1,500 เท่ากับเสี่ยงปานกลาง สูงกว่า 2,500 เสี่ยงมาก สำหรับตลาดโทรคมนาคมไทยพบว่า ระดับการกระจุกตัวของดัชนี HHI สูงมาก โดยปัจจุบันอยู่ที่ 3,700 ขณะที่หากการควบรวมสำเร็จดัชนีจะกระจุกต้วเพิ่มเป็น 5,016

ทั้งนี้ ตนเขอเสนอแนวทางปฏิบัติต่อการควบรวม ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคตามลำดับ 3 แนวทาง ได้แก่ 

แนวทางแรก ไม่อนุญาตให้ควบรวม และหากดีแทคจะออกจากประเทศไทย ก็ให้ขายกิจการให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆที่ไม่ใช่ผู้ที่ให้บริการอยู่เดิมคือ เอไอเอส และ ทรู ซึ่งแนวทางนี้ ตนเห็นควรว่าคือคำตอบของกสทช.คือไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม

แนวทางที่สอง อนุญาตให้ควบรวมฯ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมากและต้องเข้มข้นในทุกๆมิติให้ ที่สำคัญคือบริษัทที่ควบรวมกัน คืนคลื่นมาบางส่วนแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพื่อให้มีผู้ประกอบการ 3 ราย ในตลาดโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ต้องยอมรับว่าทางเลือกนี้ก็ไม่ดีเท่าทางเลือกแรก

และแนวทางที่สาม อนุญาตให้ควบรวมกันได้ และส่งเสริมให้การผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (เอ็มวีเอ็นโอ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเองมีโอกาสเข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น

ผลศึกษาชี้ค่าโทรแพงขึ้นแน่

"ฉัตร คำแสง" ผู้อำนวยการ 101 PUB - 101 Public Policy Think Tank กล่าวว่า ราคาเฉลี่ยตามแพคเก็จที่ให้บริการในไทยปัจจุบันอยู่ที่่ 220 บาทต่อเดือนต่อคน แต่หากเมื่อมีการควบรวมธุรกิจกันนั้น ทำให้พบว่าหากมีการแข่งขันกันรุนแรงแม้จะเหลือเพียง 2 ราย ราคาค่าบริการก็ยังเพิ่มขึ้นราว 7-10% ราว 235-242 บาท แต่ถ้าเกิดมีการแข่งขันกันตามปกติราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 13-23% ราว 249-270 บาท

แต่ในหาก 2 รายรู้สึกว่าพอใจกับจำนวนลูกค้ากับการแข่งขันที่เป็นอยู่ จนสุดท้ายไม่แข่งขันกันแล้ว เพราะแต่ละคนพอใจกับส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ต แชร์) คนละ 50% และสามารถขึ้นราคา หรือฮั้วค่าบริการกันได้ จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวได้เลย หรือ ราว 66-120% คิดเป็นราคา 365-480 บาท

“อยากจะส่งเสียงไปหากสทช.โดยเฉพาะเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งอย่างรายงานของที่ปรึกษาของทรูและดีแทค หากพิจารณาว่าไม่ใช่ส่วนที่เป็นข้อมูลทางการค้าที่เป็นความลับ ก็ต้องนำออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะชน เช่น ผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อผู้บริโภค”

เขา กล่าวว่า ไม่ปฏิเสธว่าภาคธุรกิจก็ต้องมีเสรีภาพในการทำธุรกิจ แต่ว่าเสรีภาพของธุรกิจนี้ต้องไม่ไปกระทบกับผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ไปสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีนี้กสทช.มีอำนาจในการเข้าไปกำกับดูแล กำหนดโครงสร้างมาตรการ

แต่ถ้ากสทช.ไม่มั่นใจว่าตัวเองทำได้ หรือมาตราที่ออกมาจะไม่เข้มข้น หรือไม่สามารถจัดการกับผลกระทบต่อประชาชนที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ กสทช.ก็ต้องห้ามไม่ให้เกิดการควบรวมครั้งนี้