ผู้บริโภคประสานเสียง100% ค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทค!!

ผู้บริโภคประสานเสียง100% ค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทค!!

โฟกัส กรุ๊ปรอบผู้บริโภคประสานเสียงค้านทรูควบดีแทค ชี้ชัดเท่ากับการผูกขาดอุตสาหกรรม หวั่นถ้าเหลือ 2 รายใหญ่ในตลาดอาจฮั้วราคาโขกค่าบริการแพงลิ่ว ผู้บริโภครับกรรมไร้ที่พึ่ง ด้านสองบริษัทต้นเรื่องทรู-ดีแทค ปฏิเสธนาทีสุดท้ายเมินเข้าให้ความเห็น

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง กล่าวว่า การจัดประชุมรับฟังความเห็นวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) เมื่อเช้าวันนี้ (26 พ.ค.) ได้เชิญผู้ที่มีส่วนได้เสียในด้านคุ้มครองผู้บริโภค เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค โดย กสทช. ได้ ประสานไปยังผู้ขอควบรวมกิจการคือ เอกชนทั้งสองรายดังกล่าว เพื่อขอความร่วมมือในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ แต่ผู้ขอควบรวมปฏิเสธที่จะเข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นโฟกัส กรุ๊ปนี้ ไม่มีความเป็นกลาง

“การปฏิเสธเข้าร่วมประชุม เกิดขึ้นกะทันหันหลังพระอาทิตย์ตก แต่ กสทช. ยืนยันที่จะจัดการประชุมต่อไป ด้วยข้อมูลจากนักวิเคราะห์ของผู้ขอควบรวมที่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนข้อมูลที่ผู้ขอควบรวมอ้างว่า เป็นความลับทางการค้านั้น ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเจ้าของข้อมูลไม่อนุญาต”

เขากล่าวว่า การเปิดรับฟังโฟกัส กรุ๊ปครั้งนี้ เป็นขั้นตอนการพิจารณาทางปกครอง เพื่อนำข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณา โดยการควบรวมกิจการทรูและดีแทค ยืนยันว่าไม่เคยมีการตั้งธงว่าจะให้อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมหรือไม่ แต่การทำโฟกัส กรุ๊ปก็เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในรอบด้านเพื่อนำไปสรุปรวมเป็นรายงานและเสนอไปยัง กสทช.เพื่อตัดสินใจ

ผู้บริโภคประสานเสียง100% ค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทค!!

ออกโรงจี้ กสทช.ต้องไม่อนุญาต

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า  ทำไมต้องห่วงการกระจุกตัว ก็เนื่องจากระดับของการกระจุกตัวค่อนข้างสูงมาก ก่อนเกิดการควบรวมอย่างไรก็ตาม ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุด้วยว่า ในต่างประเทศมีเครื่องมือวัดการผูกขาดเชิงโครงสร้าง คือ ดัชนีการกระจุกตัว หรือ Herfindahl-Hirschman Index : HHI ซึ่งค่าสูงสุด10,000 คือ การผูกขาดรายเดียว ขณะที่ การควบรวมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลให้ดัชนี HHI ของธุรกิจโทรคมไทย อยู่ที่ 3,700 เพิ่มขึ้นมาที่ 5,012 จาก 3,659 หรือเพิ่มขึ้น 1,353 เรียกว่า เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมหาศาล จนเกิดการกระจุกตัวในระดับอันตราย เป็นปัญหาใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นายสมเกียรติ เสนอว่า กสทช.มีทางออก 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก ไม่อนุญาตให้ควบรวม และหากดีแทคจะออกจากประเทศไทยก็ให้ขายกิจการให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ไม่ใช่เอไอเอสและทรู

แนวทางที่สอง อนุญาตให้ควบรวมฯ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมาก และต้องเข้มข้นในทุกๆ มิติให้บริษัทที่ควบรวมกัน คืนคลื่นบางส่วนแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพื่อให้มีผู้ประกอบการในตลาดเท่าเดิม

และแนวทางที่สาม อนุญาตให้ควบรวมกันได้ และส่งเสริมให้การผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (เอ็มวีเอ็นโอ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง แต่ทางเลือกนี้ ไม่ใช่ข้อเสนอที่เหมาะสมนัก เพราะเอ็มวีเอ็นโอไม่ได้เกิดง่าย และการดูแลจะยากมาก ดังนั้น จึงต้องป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด เพราะหากปล่อยให้มีการผูกขาดแล้วไปแก้ไขในภายหลังจะยากมาก

ผู้บริโภคประสานเสียง100% ค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทค!!
 

ผู้บริโภคประสานเสียง100% ค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทค!!

ย้ำดัชนีกระจุกตัวดันค่าโทรสูง

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB - 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า การควบรวมครั้งนี้ทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดโทรคมนาคมสูงอย่างมาก ซึ่งจากเดิมในประเทศไทย มีผู้ผลิตผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 ราย คือ เอไอเอส,ทรู และ ดีแทค โดย เอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 46-47% ทรู 33% ในขณะที่ ดีแทค ประมาณ 18-20%

ขณะที่สำนักงาน กสทช.เคยระบุไว้ในกฎหมายว่า หากตลาดมีดัชนี HHI เกิน 2,500 ถือเป็นตลาดที่มีความอันตราย แต่ในปัจจุบันก็พบว่า หลังจากเกิดการควบรวมดัชนีจะเพิ่มขึ้นจาก 3,578 ไปที่ 4,823 เพิ่มขึ้นถึง 32.4% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดใน

ผู้บริโภคประสานเสียง100% ค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทค!! ปัจจุบันราคาเฉลี่ยตามแพ็กเกจของประเทศไทยอยู่ที่ 220 บาทต่อเดือนต่อคน หากมีการแข่งขันกันตามปกติราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 13-23% คือ 249-270 บาท แต่หาก 2 รายรู้สึกว่าพอใจกับจำนวนลูกค้า กับการแข่งขันที่เป็นอยู่จนไม่เกิดการแข่งขัน มีการฮั้วกัน จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ประมาณ 66-120% คิดเป็นราคา 365-480 บาท

เข้าข่ายผิด 4 กฎหมายชัดเจน

นางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ประเด็นการควบรวมนั้น สภาฯ ได้ดำเนินการเปิดเวทีเสวนา การยื่นข้อเสนอไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการ กสทช.ชุดเก่า รวมถึงมีการประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการกับผู้บริหาร กสทช.เพราะ กสทช.มีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขให้มีจำนวนผู้ประกอบการจำนวนเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีโครงข่ายของตนเอง การควบรวมขัดต่อกฎหมาย 4 ฉบับ ผิดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ,พ.ร.บ.กสทช.,พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ในมาตรา 4 ระบุถึงสิทธิที่ผู้บริโภคต้องมีอิสระในการเลือกใช้บริการ และ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เนื่องจากการควบรวมทำให้บริษัทใหม่มีอำนาจเหนือตลาดชัดเจน เข้าข่ายงบประมาณเกินพันล้านบาท

ผู้บริโภคประสานเสียง100% ค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทค!!

เห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อควบรวมกิจการจะทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หากคิดจากผู้ใช้บริการ 80 ล้านเลขหมาย ปัจจุบันผู้บริโภคมีรายจ่ายต่อเดือนทั้งสิ้น 1,760 ล้านบาท แต่หากไม่มีการแข่งขันผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายรวมต่อเดือนทั้งสิ้น 13,600 ล้านบาท รายจ่ายที่เพิ่มใครจะรับผิดชอบ ในขณะที่ กสทช.เองมีงบในการบริหารต่อเดือนอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งไม่พอในการช่วยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี แม้เสียงส่วนใหญ่จากในห้องประชุมจะมีการคัดค้านการควบรวมอย่างชัดเจนโดยมีการยกเอาประเด็นด้านกฎหมายที่มีข้อสงสัยถึงอำนาจในการกำกับดูแลของ กสทช. และการกระจุกตัวของตลาดทำให้เกิดการฮั้วราคาจนสุดท้ายก็จะดันให้ค่าบริการในแต่แพ็กเกจต้องแพงขึ้น

แต่ก็ยังมีเสียงจากภาคประชาชนและตัวแทนสภาทนายอยู่ 2-3 คน ที่ขอใช้เวทีนี้แสดงความคิดเห็นโดยระบุว่า ทำไมทุกคนถึงรีบกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น การควบรวมอาจจะดีต่อผู้บริโภคก็ได้ และไม่เชื่อว่าราคาค่าบริการจะแพงขึ้นแต่ก็ไม่มีผลการศึกษา และวิจัยมาแสดงข้อมูลประกอบ

เรียกได้ว่า การจัดโฟกัส กรุ๊ปของ กสทช.ดูจะเป็นเวทีของสงครามตัวแทนที่แบ่งข้างกันชัดเจนมากกว่าใครมาเชียร์ใคร ดังนั้น ปลายทางของเรื่องนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะไปจบลงที่ชั้นศาลอย่างแน่นอน

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์