'ค่ายมือถือ' ดัน ‘ดิจิทัล-5จี’ ปลุกโอกาสธุรกิจโลกใหม่

'ค่ายมือถือ' ดัน ‘ดิจิทัล-5จี’ ปลุกโอกาสธุรกิจโลกใหม่

“3 ค่ายมือถือ” หนุนดิจิทัลดันเศรษฐกิจฟื้นตัว ‘เอไอเอส’ ชี้โครงข่าย 5จี ดันโอกาสธุรกิจมหาศาล "ดีแทค" ชี้คนไทยปรับตัวรับดิจิทัลดีเยี่ยม ย้ำจุดยืนผลักดันวาระดิจิทัลประเทศไทย “ทรู” เผย 5 เทรนด์เทคโนโลยีเด่นพลิกธุรกิจ

วานนี้ (18 พ.ค.) เครือเนชั่น กรุ๊ป โดยกรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และสปริงนิวส์ ร่วมจัดสัมมนา  Thailand Digital Fast Forward อัพสปีดเศรษฐกิจดิจิทัล โดมี 3 ค่ายมือถือและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำเข้าร่วม

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวในหัวข้อ Special Talk :  Digital Transformation Empower your Business ว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ต้องทำภายใต้บริบทโลกใหม่ ที่ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว การปรับตัวเพื่อให้พร้อมเป็นสิ่งที่เอไอเอสเตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่การประกาศเคลื่อนตัวจาก Telecom Operator สู่ Digital Life Service Provider และล่าสุดยกระดับสู่ Cognitive Telco (ค็อกนิทิฟ เทลโค่) ซึ่งการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยี มีผลบวกอย่างมากกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เอไอเอส มองดิจิทัลช่วยเศรษฐกิจรีบาวด์

อย่างไรก็ดี เอไอเอส มองว่า ช่วง 1-2 เดือนต่อจากนี้ เศรษฐกิจเริ่มจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัว (รีบาวด์) เล็กน้อยจากการต้อนรับการเปิดภาคเรียน และการเปิดประเทศ จะเห็นสัญญาณบวกหลายอย่าง แต่ด้วยข้อจำกัดจากความกดดันทางเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อ สงคราม และราคาจากพิษโควิด ทำให้การปรับตัวเพื่อภาคธุรกิจเพื่อความอยู่รอดยังเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับตลาดโทรคมนาคมในไทยปัจจุบัน มีผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากถึง 93 ล้านราย ในนี้เป็นลูกค้าของเอไอเอส 44 ล้านราย ซึ่งเอไอเอสยังมุ่งมั่นกับ 3 เป้าหมายหลัก คือ

1.เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้ลูกค้าสูงสุด

2.ต่อยอดกลไกการเติบโตผ่านธุรกิจเน็ตบ้าน และบริการลูกค้าองค์กร

3.ลงทุนในธุรกิจดิจิทัลเพื่อเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต

การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนสู่อนาคตในฐานะ Cognitive Telco ต้องไม่หยุดเพิ่มพูน ปรับประยุกต์ ผสมผสาน องค์ความรู้เดิมจากประสบการณ์ในฐานะผู้ให้บริการอันดับ 1 เข้ากับนวัตกรรมดิจิทัลระดับโลก ให้สามารถส่งมอบประสบการณ์รูปแบบใหม่อย่างสอดคล้องกับโลกยุค New normal นี้

เขา กล่าวตั้งแต่ที่เอไอเอสให้บริการ 5จี ใช้เงินลงทุนโครงข่ายไปไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หากรวมกับการประมูลใบอนุญาตก็น่าจะเกิน 100,000 ล้านบาท เพื่อให้การบริการมีความครอบคลุมสูงสุดทั่วประเทศกว่า 90% ในเขตกรุงเทพฯ ครอบคลุม 100% ในพื้นที่อีอีซี รวมไปถึงประสบการณ์ใช้งานในด้านอื่นๆ ทั้งความครอบคลุม ความเร็ว การเชื่อมต่อกับไอโอที ดีไวซ์ ตลอดจนอัตรา latency ที่เอไอเอสโฟกัสเพื่อรักษาคุณภาพที่เป็นเลิศตลอดเวลา

ทั้งนี้ โครงข่าย 5จี ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล เท่ากับการสร้างโอกาสมหาศาลของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม โดยมีการประเมินว่าในปี 2025 มูลค่าของตลาด 5จี ในไทยจะเติบโตได้สูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์  ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยตลาดหลักทีมีศักยภาพและเจริญเติบโตได้ดีจะมี 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในบ้านที่อยู่อาศัยผ่านอุปกรณ์ FWA (Fixed Wireless Access) กลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน Mobile และกลุ่ม B2B ภาคอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วนก้อนใหญ่ โดยเน้นไปในกลุ่มธุรกิจการผลิต, การค้าปลีก, การขนส่งและการกระจายสินค้า

แน่นอนว่าวันนี้ศักยภาพของ 5จี ในเมืองไทยสามารถตอบโจทย์ได้ในทุกกลุ่ม จากการทำงานอย่างหนักของเอไอเอสในช่วงปีที่ผ่านมาผ่านความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต การเงิน ค้าปลีก สาธารณสุข การศึกษา และอีกมากมายซึ่งแน่นอนว่าได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการขับเคลื่อนประเทศอย่างแน่นอน

เขา กล่าวว่า เอไอเอส 5จี ต้องสามารถเสริมศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างดีด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งทัดเทียมนานาชาติ โดยที่ผ่านมา ได้ทำงานร่วมพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐ และเอกชน ส่งผลให้วันนี้เริ่มนำเครือข่าย 5จี ไพรเวท เน็ตเวิร์ค มาให้บริการเพิ่มขึ้น สามารถสร้าง Business Process รูปแบบใหม่ ช่วยทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นในองค์กร

“ปัญหานอกเหนือจากการทรายฟอร์มเมชั่นองค์กรนั้น ไทยยังขาดบุคลากรทางด้านไอทีในทุกๆเซ็กเตอร์ ดังนั้น สิ่งที่ทำให้คือต้องส่งเสริมบุคคลากรด้านไอทีในระยะกลางและยาว ส่วนในระยะสั้นจำเป้นต้องอิมพอร์ทคนไอทีเสริมเข้ามาเพื่อเป้นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว การหาแรงงานไอทีต้องเป็นสิ่งที่ภาครัฐเองต้องให้ความสำคัญ ส่วนระยะกลางต้องสร้างแรงจูงใจให้เด็กรุ่นใหม่เข้าสู่ด้านไอทีในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น”

ดีแทคชี้คนไทยปรับตัวรับดิจิทัลได้ดีเยี่ยม

นายฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ในขณะที่ดิจิทัลกำลังเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนเข้ามาพลิกวิถีการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน ข้อมูลจาก Statista ปี 2564 ระบุว่า การใช้ชีวิตของคนไทยยุคนี้ คุ้นเคยกับการซื้อของผ่านออนไลน์ กว่า 36.6 ล้านคน ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านบาท คนไทยใช้โซเชียลมีเดีย 75% เด็ก Gen Z ใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวันในการเรียนออนไลน์ การทำงานในยุคนี้ลูกจ้างก็สามารถเลือกทำงานแบบไฮบริด จะทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือจะเลือกเข้าสำนักงานก็ได้ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะช่วยให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันทำได้สะดวก รวดเร็ว

ปัจจุบันคนไทย 63% ไม่มีทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับการทำงาน ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการตกงานหรือถูกเลิกจ้าง ธุรกิจในประเทศไทยยังคงตามหลังความก้าวหน้าของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยเฉพาะ SMEs การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วยังเน้นให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันและการแบ่งแยกทางดิจิทัล ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนชนบทในพื้นที่ห่างไกล และประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และทางเลือกด้านอาหารจำกัด ผู้สูงอายุที่จำเป็นจะได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์มากที่สุด แต่น่าเสียดาย เป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลน้อยที่สุด การแบ่งแยกทางดิจิทัลทำให้พวกเขาพลาดโอกาสต่างๆ เช่น การทำธุรกรรมทางการเงิน การซื้อสินค้าและบริการ ความบันเทิง นันทนาการ และการจัดส่งอาหาร เป็นต้น คนพิการกว่า 2 ล้านคนประสบปัญหาการเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างจำกัด คนไม่รู้หนังสือ ที่พลาดโอกาสในการทำงาน และครัวเรือนที่มีรายได้น้อยซึ่งประสบปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบจากโรคระบาด

เขา กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน และคาดว่าตัวเลขจะสูงขึ้น ในปี 2564 ในเวลาแค่เพียงปีเดียวมีวัยรุ่นไทย 400,000 คนตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ คนไทยตกเป็นเหยื่อกลโกงแก็งค์คอลเซ็นเตอร์สูญเงิน 1.5 พันล้านบาท มีเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย 332 ราย ที่ถูกหลอกลวงจากเรื่องโรแมนซ์สแคม สูญเงินเกือบ 200 ล้านบาท ในเวลาเพียง 1 ปี เรายังพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยยังใช้เงินจ่ายป้องกันอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตเพียง 100 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่ชาวสิงคโปร์ใช้มากถึง 4,200 บาทสำหรับ และ ชาวอังกฤษใช้ 3,200 บาท

ทั้งนี้ ดีแทคชูจุดยืนดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ผลักดันในวาระดิจิทัลของประเทศไทย ด้วยหัวใจสำคัญใน 3 เสาหลัก 1. SAFEGUARD ปกป้องผู้ใช้งาน ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ดีแทคเดินหน้ายกระดับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และพนักงานของเรา รวมทั้งดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ด้วยภัยคุกคามทางไซเบอร์เหล่านี้ที่มุ่งเป้าไปที่ข้อมูลของผู้บริโภค ดีแทคตระหนักถึงบทบาทของเราในการปกป้องข้อมูลของลูกค้า เราจึงเปิดตัว dtac Safe และ dtac mobile security บริการใหม่เพื่อปกป้องลูกค้าและธุรกิจ SME จากภัยคุกคามทางไซเบอร์dtac Safe ใช้การรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์

นอกจากนี้ เนื่องจาก PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ดีแทคจึงพร้อมที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เราจะรวบรวมความยินยอมของลูกค้าในช่องทางต่างๆ ก่อน เช่น แอปดีแทคและเว็บไซต์ ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ภายใต้ความปลอดภัยสูงสุดโดยทีมรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเรา และจะถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ที่ได้รับแจ้งเท่านั้น ลูกค้าจึงสามารถวางใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลของคุณคือสิ่งสำคัญที่สุดของเรา

2.INCLUDE สร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วม ดีแทคริเริ่มโมเดลธุรกิจภายใต้แนวคิด ‘ธุรกิจเพื่อสังคมที่ดี’ เพื่อตอบสนองความต้องการพิเศษและสร้างโอกาสทางธุรกิจ เราเชื่อว่าทุกคนควรเข้าถึงบริการมือถือ เราจึงเปิดตัวแคมเปญ dtac Beyond (dis)abilities เสนอ 3 บริการที่เหมาะสำหรับผู้พิการ (1) เราเสนอแพ็กเกจมือถือที่ออกแบบที่เข้าใจความต้องการใช้งาน ในราคาที่เข้าถึงได้ (2) dtac Net for Living จับมือกรมส่งเสริมศักยภาพคนพิการ จัดอบรม Digital Upskilling จำนวน 21 กลุ่มอาชีพ และศูนย์ฟื้นฟูอาชีวศึกษาสำหรับคนพิการทั่วประเทศ (3) เปิดบริการคอลเซ็นเตอร์ภาษามือ สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อช่วยตอบคำถามบริการมือถือและให้ความช่วยเหลือกับผู้พิการทุกคน เป็นศูนย์ข้อมูลบริการสาธารณะสำหรับหมายเลขฉุกเฉินและบริการสายด่วน ไม่ว่าพวกเขาจะใช้ผู้ให้บริการรายใด

3.ADVANCE เสริมศักยภาพองค์กรให้พร้อมบริการลูกค้าในโลกยุคใหม่ ดีแทคเร่งเปลี่ยนตัวเอง เราลงทุนในดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อทำให้การดำเนินธุรกิจให้คล่องตัวขึ้น โดยตั้งเป้าให้สามารถทำงานแบบออโตเมชัน 100% ภายในปี 2566 ให้พนักงานทุกคนที่แม้ว่าจะไม่มีทักษะด้านไอที สามารถนำโรบอตเข้ามาช่วยในกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ด้วยเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้เพิ่มขึ้น 25% ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งคือ dtac Call Center ให้พนักงานของเราทำงานจาก ที่บ้านได้ ในขณะเดียวกันก็รับประกันความพึงพอใจของลูกค้าได้ การทำงานคอลล์เซ็นเตอร์มีหุ่นยนต์เข้ามาเป็นผู้ช่วยมือขวา ช่วยสมัครแพ็กเกจให้ลูกค้าได้รวดเร็วและแม่นยำ ทำให้เราทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นที่จะโทรออกไปรับฟังสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้มากขึ้น

ทรูเปิด 5 เทรนด์เด่นพลิกโลกธุรกิจ

นายเอกราช ปัญจวีณิน กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีที่จะสร้างอิมแพคเพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น และให้ธุรกิจสามารถนำมาควบรวมและประยุกต์ใช้ มีทั้งหมด 5 เทรนด์ได้แก่ ไอโอที เอไอ บล็อกเชน เมตาเวิร์สซึ่งฮิตมาก และโรโบติก ทั้ง 5 เทรนด์นี้คือเทรนด์ใหญ่ที่จะเห็นใน 2-3 ปีนี้และจะสร้างอิมแพคให้เกิดขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่าน “ไอโอที” มีพัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลง ราคาถูกลง มีความวาไรตี้ และมีเซ็นเซอร์มากขึ้น จากความซับซ้อนก็ง่ายขึ้น เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เราสามารถนำมาควบรวมกับธุรกิจอื่น และเอาใช้ในธุรกิจเพื่อสร้างการตัดสินใจในธุรกิจได้ดีขึ้น เกิดการอดอปชั่นในไอโอทีมากขึ้น ขณะที่ อีกเทคโนโลยีที่สำคัญ คือ 5จี จะช่วยเพิ่มความสามารถการเชื่อมต่อได้มากกว่าหลาย 10 เท่า

เอไอ เป็นเทคที่มีพัฒนาการมาตลอดตั้งแต่ แมชชีน เลิร์นนิ่ง สู่ดีปเลิร์นนิ่ง แต่ที่เปลี่ยน คือ 2 เรื่อง เรื่องแรก เอไอเรียนรู้จากความชำนาญของคน เราสามารถเอา Expertise มาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ ขณะที่เอไอปัจจุบันไม่ใช่แค่คิด แต่มีการวิเคราะห์ สามารถแอคชั่นและเป็นเรียลไทม์แอคชั่น ทำให้เอไอ เข้าไปสู่ทุกการใช้งาน โดยเฉพาะการนำเข้าไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะมีประโยชน์มาก

บล็อกเชน มี 2 เรื่องหลัก คือ คริปโทเคอร์เรนซี่ และสมาร์ท คอนแทรค เทคโนโลยีบล็อกเชนในกลุ่มทรู ใช้อยู่หลายตัว เรื่องแรก เป็นเรื่องกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ หรือในเฮลแคร์ บล็อกเชนช่วยเซฟเวลาเคลมประกัน ถ้าควบรวมบล็อกเชนกับเทคโนโลยีอื่นได้ จะได้อินโนเวชั่นมากมายในอนาคต

เมตาเวิร์ส คือ การควบรวมหรือการผสาน ระหว่างโลก Physical กับเมตาเวิร์ส ส่วนใหญ่อยู่ในเกม อยู่ในบีทูบี การควบรวมเมตาเวิร์ส จะทำให้ทุกภาคส่วนพยายามเอาไปต่อยอดในอนาคตได้ หลายอุตสาหกรรมไปไกลมากแล้วกับเมตาเวิร์ส มีที่ดินในเมตาเวิร์ส มีหลายเทคโนโลยีที่อยู่ในเมตาเวิร์ส เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ มีทั้งเออาร์ บล็อกเชน ธุรกิจสามารถนำไป APPLY ในการทำธุรกิจต่อได้

“โรโบติก” ปัจจุบันไทยอยู่ในท็อป 20 ของจำนวนหุ่นยนต์ทั่วประเทศที่ใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เคมิคอล แต่ที่เติบโตมาก คือ โรบอตสำหรับคอนซูเมอร์ ใช้ดูแลผู้สูงอายุ เตือนทานยา ต่อมาคือ โรบอตที่เป็นบริการ เช่น เสิร์ฟอาหาร เดินลาดตระเวน

“นี่คือ 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่มาแน่ ธุรกิจต้องหยิบจับแล้วนำไปควบรวมเพื่อต่อยอดให้ธุรกิจ”

เขากล่าวว่า อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ดาต้า เป็นเรื่องสำคัญมาก ดาต้าที่มีมากกว่าน้ำมันนั้นมีมานานแล้ว การใช้ดาต้ามีประโยชน์มาก ยิ่งถ้ามีอินไซต์ในดาต้านั้น มีอินไซต์ที่แอคชั่นได้ การเอาดาต้ามาทำให้เกิดอินไซต์มากเท่าไหร่ ธุรกิจจะประสบความสำเร็จมากเท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องมูฟออน

ปัจจุบัน การคอนเนคชั่น ไม่ใช่แค่มนุษย์กับแมชชีน แต่ทุกอย่างคอนเนคถึงกันหมด นี่คือ นิวอีร่าของการคอนเนคชั่น ทั้งนี้ธุรกิจควรต้องเลือกใช้ เทคโนโลยีที่มีแคเรคเตอร์ ที่ รวดเร็ว คล่องตัว seamless ออโตเมชั่น คาแรคเตอร์ เหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจนำไปประยุกต์ ได้

“เราพูดถึง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น บิสิเนส ทรานส์ฟอร์เมชั่น เราควรใช้เทคโนโลยี เพื่อให้มีประโยชน์กับธุรกิจเรา เกิดบิสิเนสโมเดลใหม่ สร้างประสบการณ์ลูกค้าให้ดีขึ้น”

ทรู เชื่อเรื่อง ดิจิทัล อีโคซิสเต็มส์ เอาความสามารถของไทยต่อยอดและขยายบริการ ขยายธุริกิจไปสู่ภูมิภาค