‘การ์ทเนอร์’ เจาะ 10 เทรนด์ ติดสปีดบริการ 'ภาครัฐ’ ปี 65

‘การ์ทเนอร์’ เจาะ 10 เทรนด์  ติดสปีดบริการ 'ภาครัฐ’ ปี 65

“ผู้บริหารไอทีของภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องเร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้อย่างต่อเนื่องหลังเผชิญความยุ่งยากของการระบาดใหญ่โควิด-19”

อาเธอร์ มิโคเลต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ กล่าว เผยถึง 10 แนวโน้มเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อผู้นำองค์กรภาครัฐ เพื่อใช้เป็นแนวทางเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและลดความเสี่ยงจากเหตุหยุดชะงักในปี 2565

โฉมใหม่ ‘ลงทุนไอที’

1. องค์กรรัฐยุคใหม่แบบแยกส่วน (Composable Government Enterprise) : ภายในปี 2567 คำขอสำหรับข้อเสนอ (Request For Proposals หรือ RFPs) ด้านระบบไอทีของหน่วยงานรัฐมากกว่า 25% จะต้องการโซลูชันระดับสถาปัตยกรรมและมีใบอนุญาตแปรผัน (variable licensing) ที่สนับสนุนการทำงานแบบแยกส่วน

2. ความปลอดภัยปรับเปลี่ยนได้ (Adaptive Security) : ปี 2568 การ์ทเนอร์คาดว่า 75% ของผู้บริหารไอทีในภาครัฐจะมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงด้านการรักษาความปลอดภัยนอกแผนกไอที

3. ระบุอัตลักษณ์ดิจิทัลผ่านระบบนิเวศ (Digital Identity Ecosystems) : ภายในปี 2567 อย่างน้อย 1 ใน 3 ของหน่วยงานภาครัฐระดับประเทศและครึ่งหนึ่งของรัฐต่างๆ ในสหรัฐจะใช้กระเป๋าเงินเพื่อระบุอัตลักษณ์บุคคลผ่านโทรศัพท์มือถือกับภาคประชาชน

4. ประสบการณ์ภาพรวม (Total Experience หรือ TX): ภายในปี 2566 รัฐบาลส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีกลยุทธ์ Total Experience (หรือ TX) นั้นจะล้มเหลวกับการพัฒนาบริการต่างๆ ไปสู่ดิจิทัล TX เป็นแนวทางสำคัญของภาครัฐเพื่อปรับปรุงกลยุทธ์การบริหารทีมงานที่มีความสามารถ และช่วยพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แข็งแกร่งขึ้นในองค์กรต่างๆ

ปรับปรุงระบบรับกระแสใหม่

5. ทุกอย่างคือบริการ (Anything as a Service หรือ XaaS) : การ์ทเนอร์คาดว่าในอีกสามปีข้างหน้า 95% ของการลงทุนไอทีใหม่ๆ จากหน่วยงานภาครัฐจะเน้นโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับ XaaS โดยแนวทาง XaaS ประกอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและบริการซอฟต์แวร์ รวมถึงบริการบนระบบคลาวด์ในรูปแบบสมัครสมาชิก

6. เร่งปรับปรุงระบบเดิมให้ทันสมัย (Accelerated Legacy Modernization) : ผู้บริหารไอทีจำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาระบบเดิมให้มีความทันสมัยเป็นประจำ และไม่มองว่าเป็นการลงทุนครั้งเดียว หากระบบหลักไม่ได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัย การที่จะพาธุรกิจ “กลับคืนสู่สภาวะปกติ” จะล่าช้าออกไปอีก เนื่องด้วยโควิดสายพันธ์ุต่างๆ ยังสร้างผลกระทบต่อธุรกิจทั่วทั้งโลก

7.งานสังคมสงเคราะห์คือบริการ (Case Management as a Service หรือ CMaaS) : การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2567 องค์กรภาครัฐที่มีแอปพลิเคชันการจัดการงานสังคมสงเคราะห์แบบแยกส่วนจะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ในแอปฯ ได้รวดเร็วกว่าแอปรุ่นเดิมอย่างน้อย 80% กว่าองค์กรที่ไม่มี

8. ไฮเปอร์ออโตเมชั่น (Hyperautomation) : จากข้อมูลของการ์ทเนอร์ อีก 3 ปีข้างหน้า 75% ของรัฐบาลจะริเริ่มโครงการไฮเปอร์ออโตเมชั่นในองค์กรอย่างน้อย 3 โครงการ

รากฐาน ธุรกิจ-เทคโนฯ

9. ตัดสินใจอัจฉริยะ (Decision Intelligence) : ภายในปี 2567 60% ของรัฐบาลมีเป้าหมายลงทุนด้าน “เอไอ” และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยในการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและผลลัพธ์ต่างๆ แบบเรียลไทม์

โดยการวางแผนและการตัดสินใจควรมีการคาดการณ์เชิงรุกมากขึ้น และการใช้เทคโนโลยีเอไอ, การวิเคราะห์ ระบบธุรกิจอัจฉริยะ และวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพื่อลดต้นทุนลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจุดมุ่งหมายคือเพื่อทำให้บริการภาครัฐสามารถตอบสนองและส่งมอบได้ทันเวลา

10. การแบ่งปันข้อมูลเป็นโปรแกรม (Data Sharing as a Program) : การ์ทเนอร์คาดว่า ภายในปี 2566 องค์กรที่สนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลจะมีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งส่วนใหญ่หากวัดมูลค่าทางธุรกิจ ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมการแบ่งส่วนการใช้ข้อมูลเป็นการใช้ข้อมูลซ้ำเพื่อให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

“ผู้บริหารไอทีของภาครัฐควรพิจารณาถึงผลกระทบในภาพรวมจากเทรนด์เทคโนโลยีดังกล่าวต่อองค์กรและรวมไว้เป็นกลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้และอนาคต รองรับแนวโน้มของแรงงานใหม่ๆ และช่วยองค์กรปรับขนาดการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างรากฐานทางธุรกิจและเทคโนโลยี ซึ่งหากละเลยจะส่งผลต่อคุณภาพของการให้บริการและการดำเนินธุรกิจระยะยาว”