‘เบลนเดต้า’ เปิด 4 ความท้าทาย บริหาร ‘บิ๊กดาต้า’ ธุรกิจไทย

‘เบลนเดต้า’ เปิด 4 ความท้าทาย  บริหาร ‘บิ๊กดาต้า’ ธุรกิจไทย

องค์กรธุรกิจในประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาในการ "บริหารจัดการข้อมูล" และ "การนำข้อมูลมาใช้" ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ณัฐนภัส รชตะวิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เบลนเดต้า จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการบิ๊กดาต้า เผยว่า จากประสบการณ์ด้านบิ๊กดาต้ามากกว่า 7 ปี พบว่า บริษัทจำนวนมากในประเทศไทยให้ความสำคัญและต้องการที่จะนำบิ๊กดาต้ามาใช้

ทว่ายังคงเผชิญกับปัญหาด้านการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งนับเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจที่ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการบิ๊กดาต้าให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูง โดยพบ 4 ความท้าทาย ด้านการบริหารจัดการบิ๊กดาต้าที่องค์กรไทยกำลังเผชิญดังนี้

คำถามฮิต 'เริ่มทำอะไรดี'

รู้ว่าบิ๊กดาต้ามีประโยชน์และควรเร่งทำ แต่ยังไม่มีแนวทางในการเริ่มต้น : หลายองค์กรเจอกับคำถามที่ว่า“จะเริ่มทำอะไรดี” และเลือกที่จะลงทุนซื้อเครื่องมือต่างๆ มาไว้ก่อน แล้วหาทางใช้ภายหลัง ทำให้การวัดผลความสำเร็จโครงการหรือผลตอบแทนนั้นทำได้ยากหรืออาจไม่คุ้มกับการลงทุน

เนื่องจากบิ๊กดาต้าไม่ใช่เครื่องมือที่ซื้อมา แล้วจะสามารถให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจได้ทันที แต่ต้องอาศัยความร่วมมือหลายด้าน ทั้งด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ข้อมูลที่มีในมือ รวมถึงกระบวนการทำงานที่เอื้อต่อการทำโครงการ

จากความท้าทายในข้อนี้องค์กรควรเริ่มต้นจากการ ระบุปัญหาหรือความต้องการขององค์กรในภาพรวมทั้งหมด, จัดลำดับความสำคัญบน 2 ปัจจัยคือ ผลกระทบ และความยากในการทำ ซึ่งจะเลือกหัวข้อที่ได้รับผล กระทบมาก และมีความยากในการทำน้อย

พร้อมด้วย ลงรายละเอียดด้านข้อมูลในแต่ละหัวข้อที่คัดเลือกอาศัยความร่วมมือจากทั้งฝ่ายธุรกิจ ผู้ใช้งาน และไอที เพื่อกำหนดถึงรายละเอียดปลีกย่อย ตั้งแต่ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง วิธีการใช้ หลักการวิเคราะห์ ที่ใช้งาน จนถึงผลลัพท์ที่คาดหวัง ซึ่งหลังจากทำเสร็จแล้ว จะสามารถตอบคำถามของธุรกิจได้ว่า ทำบิ๊กดาต้าเพื่อจุดประสงค์อะไร

พลิกโฉมไอทีลดข้อจำกัด

ความท้าทายที่สอง ปัญหาด้านความซับซ้อนของโครงสร้างพื้นฐานและความไม่พร้อมของข้อมูล : ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับองค์กรที่ก่อตั้งมายาวนาน มีช่วงเปลี่ยนผ่านของระบบไอที หรือมีการสร้างระบบใหม่ขึ้นมามากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ ซี่งมักทำให้เกิดหนี้ทางเทคนิค (Technical debt) ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความซับซ้อนเชิงโครงสร้าง

สำหรับการจัดการ ควรสร้างและแก้ไขไปพร้อมกัน โดยเลือกในส่วนที่ต้องแก้ไขระบบหลังบ้านแบบน้อยที่สุดและพร้อมที่สุด เพื่อให้ได้เห็นผลลัพธ์เร็วที่สุดใช้ระบบบิ๊กดาต้าที่สามารถรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลในองค์กรได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อสร้าง แหล่งข้อมูลจริงเพียงแห่งเดียว (Single source of truth)ที่ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ในทันทีลดความซับซ้อนของข้อมูลและการทำงานที่ไม่จำเป็น

รวมถึงดีไซน์ระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบเปิด (Open-platform)เพื่อรองรับการเติบโตของข้อมูลในอนาคต สิ่งสำคัญคือระบบใหม่ที่ต้องยืดหยุ่นมากพอที่จะรองรับการใช้งานจากผู้ใช้งานหลายรูปแบบ

ยึดติด วัฒธธรรมเดิมๆ

ปัญหาด้านการควบคุมค่าใช้จ่ายจากปริมาณข้อมูลที่เติบโตขึ้น : เป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญขององค์กรไทย ด้วยปริมาณข้อมูลที่เติบโตในยุคดิจิทัลซึ่งแปรผันโดยตรงกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้นการเลือกใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่เหมาะสมอย่างบิ๊กดาต้ามารองรับการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่นับเป็นทางเลือกสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพราะสามารถรองรับการขยายตัวของข้อมูลบนต้นทุนที่ต่ำ

พร้อมทั้งสามารถบีบอัดข้อมูลให้เล็กลงได้หลายเท่าแต่ยังคงประสิทธิภาพเท่าเดิม ทำให้สามารถจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงการประมวลผลของบิ๊กดาต้าที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่โดยเฉพาะ

สุดท้าย ปัญหาด้านวัฒนธรรมองค์กรและบุคลากร วัฒนธรรมองค์กรแบบเดิมๆ เช่น การที่แผนกไอทีเป็นเจ้าของโครงการบิ๊กดาต้าเพียงแผนกเดียว โดยไม่ได้มีแผนกอื่น เช่น ภาคธุรกิจ การตลาด หรือฝ่ายดำเนินการเข้ามาร่วมออกแบบหรือใช้งานข้อมูล

รวมถึงไม่ได้มีการส่งเสริมให้พนักงานในองค์กรมีการใช้ข้อมูลในการทำงาน หรือผลักดันธุรกิจให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven organization) รวมทั้งองค์กรยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านบิ๊กดาต้าหรือ Data Analytics ซึ่งทำให้ยึดติดกับแนวคิดแบบเดิม