SHOPEE จับมือ NIA เปิดตัว "INNOMALL" ขายสินค้านวัตกรรม

SHOPEE จับมือ NIA เปิดตัว "INNOMALL" ขายสินค้านวัตกรรม

NIA ผนึกกำลัง SHOPEE และ SCC เปิดแหล่งการซื้อขายสินค้านวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “INNOMALL” รวบรวมสินค้าและบริการนวัตกรรม 187 รายการ จากผู้ประกอบการมากกว่า 72 บริษัท เริ่มการซื้อขาย 6 มิ.ย. นี้

ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มกำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากวิกฤตโควิด - 19 ที่ทำให้ผู้คนหันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น และสภาวะสงคราม น้ำมันแพง ราคาวัตถุดิบพุ่งสูง ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายย่อย ต้องหันมาจับจุดธุรกิจออนไลน์ 

บางธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ หากแต่บางธุรกิจอย่างตลาดสินค้านวัตกรรมนั้นค่อนข้างเจอกับศึกหนัก เพราะไม่มีตลาดออนไลน์รองรับ หน้าร้านไม่ถูกโปรโมทเท่าที่ควร ผู้ประกอบการบางเจ้าขาดองค์ความรู้เรื่องของการทำตลาดจนทำให้ไม่สามารถทำยอดได้ตามเป้าหมาย 

ปัญหาทั้งหมดนี้นำมาสู่การลงนามความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและสร้างความสามารถด้านการทำธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ประกอบการนวัตกรรม” ระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) บริษัทช้อปปี้ (Shopee Thailand)  และบริษัทสุขสวัสดิ์ (SCC) เปิดตัว “INNOMALL” ร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอันดับ 1 ของไทยอย่างช้อปปี้ โดยเริ่มต้นการซื้อขาย 1 มิถุนายนนี้ 

SHOPEE จับมือ NIA เปิดตัว \"INNOMALL\" ขายสินค้านวัตกรรม

รู้จัก INNOMALL 

ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า สินค้านวัตกรรมเป็นสินค้าที่ขายออกได้ยาก และยิ่งในปัจจุบันคนหันมาซื้อขายผ่านตลาดออนไลน์มากกว่าการซื้อออฟไลน์ยิ่งทำให้การขายสินค้าและบริการทำกำไรได้น้อยลง 

จากการสำรวจ ผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ไม่ได้เข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มีถึง 53% เขาสูญเสียโอกาสครั้งสำคัญในการที่จะเติบโตทางตลาด จึงเป็นที่มาของการเกิด INNOMALL พื้นที่สำคัญที่ช่วยผลักดันสินค้านวัตกรรมให้เข้าไปอยู่แพลตฟอร์มออนไลน์

เครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมในการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ร้านค้า (Official Store) บนแพลตฟอร์มช้อปปี้ ที่รวบรวมสินค้าและบริการนวัตกรรม 187 รายการ จากผู้ประกอบการนวัตกรรมมากกว่า 72 บริษัท 

ส่วนที่สองเป็นพื้นที่การเรียนรู้เสมือนจริง (Sandbox) ด้านการสร้างธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยการเรียนรู้จริง วางแผนจริง และลงมือปฎิบัติจริง ผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) ซึ่งแบ่งเป็น 2 เฟส 

เฟสที่ 1 โปรแกรมบ่มเพาะ (Incubator Program) สิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้เรียนรู้ ได้แก่ 

  • แนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 
  • เครื่องมือการขายสินค้าผ่านโซเชียลและไลฟ์คอมเมิร์ซ 
  • การตลาดและการพัฒนาเนื้อหาในการขายสินค้า 
  • การบริหารจัดการคลังสินค้า 
  • ข้อกำหนดและระเบียบการซื้อขายออนไลน์ 
  • การประเมินและวัดผลผู้สนับสนุน 

เฟสที่ 2 โปรแกรมส่งเสริมทักษะขั้นสูง (Enabler Program) ที่จะช่วยฝึกทักษะการวางแผนหรือการจัดกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้บริโภครู้จักสินค้านวัตกรรมได้มากยิ่งขึ้น เช่น ทักษะด้านการไลฟ์ (Live) 

ทั้งนี้ NIA คาดหวังว่าสินค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการจะมีอัตรายอดขายสินค้าหรือบริการนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30% จากยอดขายเดิม และยังสามารถเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกรรมสู่การลงทุน สร้างการเติบโตบนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล

 

ความท้าทายของธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในวิกฤตโควิด - 19

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA อธิบายว่า โควิด-19 สร้างผลกระทบในการดำรงชีวิตให้กับผู้คนทั่วโลกอย่างมากมาย เกิดเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่ทุกคนต้องยอมรับและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว 

สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น คือ เกิดการจัดระเบียบเศรษฐกิจใหม่ ในการค้าการขาย ร้านค้าที่เคยมีหน้าร้านต้องปิดตัวลงไปจำนวนมาก ทุกคนต่างต้องสร้างกลยุทธ์ใหม่เพื่อให้ยังอยู่รอดในตลาด แพลตฟอร์มออนไลน์จึงตอบโจทย์ 

ความท้าทายที่แท้จริงอยู่ที่เมื่อผู้ประกอบการเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว จะทำอย่างไรให้ร้านค้าออนไลน์สามารถอยู่รอดได้ เพราะไม่ใช่ทุกรายที่กระโดดเข้าไปจะอยู่รอดและเติบโตได้ดังจินตนาการ 

อันดับแรกผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนกรอบความคิดจากวิธีดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่แค่เพิ่มลดเวลาเปิดปิดร้านค้า ลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาด หรือลดเงินเดือนพนักงานอีกต่อไป แต่หากเป็นการเร่งปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนวิถีชีวิตไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านมือถือและแท็บเล็ตที่เปรียบเสมือนอวัยวะหนึ่งของมนุษย์ไปแล้ว 

NIA จึงได้ทำสิ่งที่แตกต่างออกไป ด้วยการทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA เข้ากับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเบอร์หนึ่งของประเทศไทย และผู้ให้บริการและบริหารจัดการคลังสินค้าและการจัดส่งชั้นนำของประเทศไทยให้เข้าถึงกระบวนการทางนวัตกรรม และเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ 

ตั้งแต่การตั้งร้านค้าออนไลน์ วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ปรับกลยุทธ์ให้สามารถสร้างสรรค์การตลาดให้เหมาะสม และวัดผลเพื่อนำมาปรับปรุง หรือพัฒนาสินค้านวัตกรรมให้ดีขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคที่มีความไม่แน่นอนสูง

 

กระบวนการทำงานหลังบ้าน

ดร. ศรุต วานิชพันธุ์ ตัวแทนจากทางช้อปปี้ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะเข้าสู่การทำธุรกิจออนไลน์คือ องค์ความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ช้อปปี้ส่งมอบให้กับผู้ประกอบการ ประกอบไปด้วย ความรู้เกี่ยวกับการเปิดร้าน การจัดการหน้าร้าน การดูรายงานกลุ่มลูกค้าเพื่อการทำตลาด ตลอดจนการทำงานหลังบ้านอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

นอกจากนี้ช้อปปี้จะช่วยกระตุ้นการขายสินค้านวัตกรรมของร้านค้าต่าง ๆ เพราะพันธกิจของช้อปปี้คือ การสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้สามารถสร้างธุรกิจบนช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีศักยภาพและสามารถเติบโตในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้อย่างแข็งแกร่ง

ทางด้านกลุ่มบริษัทสุขสวัสดิ์ (SCC) และบริษัทในเครือ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ e-Commerce, Social Commerce และ Live Commerce ซึ่งเป็นอนาคตของการซื้อขายสินค้าและบริการที่มีความเป็นนวัตกรรม เพราะบริษัทมีหน่วยธุรกิจเครือข่ายที่มีความรู้ทางด้านอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมดิจิทัลที่พร้อมร่วมขับเคลื่อนผู้ประกอบการให้สามารถต่อยอดธุรกิจสำหรับตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ 

สำหรับโครงการนี้ กลุ่มบริษัทสุขสวัสดิ์มีความยินดีที่จะร่วมมือกับ NIA ในการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อสนับสนุนภารกิจให้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ 

  • การเชื่อมโยงและยกระดับผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้น 
  • การพัฒนาความรู้ เสริมสร้างทักษะ และความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัล 
  • การขับเคลื่อนผู้ประกอบการให้นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม รวมถึงเสริมศักยภาพในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น