‘หัวเว่ย’ เปิดวิชั่นสู่โลกอัจฉริยะปี 73 พร้อมย้ำพันธกิจใหญ่ลด‘คาร์บอน’

‘หัวเว่ย’ เปิดวิชั่นสู่โลกอัจฉริยะปี 73 พร้อมย้ำพันธกิจใหญ่ลด‘คาร์บอน’

หัวเว่ย” เผย การใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำจะเป็นที่นิยม ตลาดโทรเวชกรรม (telemedicine) ทั่วโลกจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า และภาคอุตสาหกรรมจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แรงงานทุกๆ 10,000 คน จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ 390 ตัว

“หัวเว่ย” ผนึกพันธมิตรร่วมอุตสาหกรรม จัดงานประชุมโลกอัจฉริยะแห่งอนาคตปี 2573 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม หัวเว่ย โกลบอล อนาลิสต์ ซัมมิต 2022

"กาเว่น ไก้" ประธานฝ่ายกลยุทธ์และการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ของหัวเว่ย กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ ‘สร้างเครือข่ายบรอดแบนด์สามมิติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

พร้อมเครือข่ายการสื่อสารอัจฉริยะแห่งโลกอนาคต’ ชี้แจงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคุณลักษณะ 6 ประการของเครือข่ายสื่อสารแห่งโลกอนาคต ขณะที่ ย้ำยุทธศาสตร์ลดโลกร้อนผ่าน 6 เทรนด์สำคัญ

จับตาเครือข่ายบรอดแบนด์3มิติ

"เราไม่หยุดคิดค้นเพื่อประสบการณ์การใช้งานที่เหนือชั้น โดยขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสาร เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนนับหมื่นล้านคนที่นำไปสู่ความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ หลายแสนล้านสิ่ง"

 

หัวเว่ย เชื่อว่าเครือข่ายการสื่อสารในปี 2573 จะมีคุณสมบัติสำคัญ ได้แก่

-เครือข่ายบรอดแบนด์สามมิติ

-การสื่อสารและเทคโนโลยี

-การตรวจจับที่ผสานกันกลมกลืน

-ประสบการณ์ใช้งานที่กำหนดได้เองการรองรับปัญญาประดิษฐ์เป็นพื้นฐาน

-ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ

-การก่อสร้างและการดำเนินงานที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ “เจียง เทา” รองประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของหัวเว่ย กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ ‘สร้างการประมวลผลอัจฉริยะแบบบูรณาการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ระบุว่าภายในปี 2573 อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ จะมีคุณลักษณะเฉพาะทั้งด้านการพัฒนาทางกายภาพ กระบวนการรับรู้อัจฉริยะ การประมวลผลที่หลากหลาย ความปลอดภัย การทำงานร่วมกันในหลายมิติ และการประมวลผลแบบบูรณาการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

เขา กล่าวเสริมว่า “โลกดิจิทัลและโลกกายภาพจะเชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อ และเทคโนโลยีการประมวลผลจะมีศักยภาพในการจำลอง ทำซ้ำ และยกระดับโลกกายภาพไปอีกขั้น”

เปิดพันธกิจลดโลกร้อน

ขณะที่ เควิน จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีของหัวเว่ย เปิดเผยรายงานการพัฒนาสีเขียวแห่งปี 2573 ภายในงานนี้ ระบุว่า เป็นเหมือนแผนแม่บทสู่การพัฒนาภายในอุตสาหกรรมไอซีที รวมไปถึงแนวทางเพื่อช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย

โดยจะมุ่งเน้นให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) และการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร รวมถึงแนวทางในการนำเทคโนโลยีไอซีทีสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปใช้ในอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ภายในปี 2573 โดยในรายงานได้กล่าวถึง 6 เทรนด์ในอนาคต ดังนี้

1.พลังงานหมุนเวียนจะเป็นที่แพร่หลาย ปี 2573 ไฟฟ้ามากกว่า 50% จะมาจากพลังงานหมุนเวียน สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับการบริโภคพลังงานประเภทอื่น ขณะเดียวกัน คาดว่าระบบกักเก็บพลังงานทั่วโลกจะสามารถรองรับการกักเก็บได้เพิ่มขึ้น 20 เท่า 

2.ภาคอุตสาหกรรมจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แรงงานทุกๆ 10,000 คน จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ 390 ตัว

3.การขนส่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ ทั่วโลกจะมีการใช้งานรถยนต์พลังงานใหม่กว่า 145 ล้านคัน และสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าอีกกว่า 100 ล้านสถานี 4.อาคารสิ่งก่อสร้างในอนาคตจะปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (net-zero carbon) ได้สำเร็จ 5.ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสีเขียวจะกลายเป็นข้อกำหนดพื้นฐาน ในปี 2573 ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจะมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมากกว่าปัจจุบันถึง 100 เท่า

6.การใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำจะเป็นที่นิยม ตลาดโทรเวชกรรม (telemedicine) ทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า การศึกษาแบบออนไลน์ในประเทศจีนจะโตขึ้น 23 เท่า และยอดผู้ใช้บริการทัวร์เสมือนจริงจะมีมากถึง 1 พันล้านคน

รายงานฉบับนี้ยังแนะนำ 3 แนวทางในการขับเคลื่อนนวัตกรรมไอซีทีในอนาคตเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า และการผลักดันให้อุตสาหกรรมมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เควิน อธิบายว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) และการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีไอซีทีเป็นกุญแจสำคัญในกระบวนการนี้ 

"ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมไอซีที หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ สามารถประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดียิ่งขึ้น นี่คือแนวทางของเราในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับสังคม”