"วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก" กลุ่มไหนควรได้รับ เปิดอาการ ความรุนแรง

"วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก" กลุ่มไหนควรได้รับ เปิดอาการ ความรุนแรง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก" เผยกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีน เปิดอาการ ความรุนแรง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก" เผยกลุ่มเสี่ยงจะเป็นเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต อายุยิ่งน้อยยิ่งมีโอกาสเกิดมากกว่าอายุที่มากขึ้น

 

โรคมือเท้าปาก วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก

หลังจากเปิดเรียน มีการระบาดของโรคมือเท้าปากมากขึ้นเห็นได้ชัด กลุ่มอาการมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสได้หลายตัวมาก มี Coxsackie A, เช่น CA6, CA16 Coxsackie B, Enterovirus-A และอื่นๆ อีกมาก

ตัวที่รุนแรงที่สุดที่จะมีโอกาสเกิดสมองอักเสบ เป็น EV-A 71 โอกาสที่เกิดสมองอักเสบส่วนใหญ่ จะเป็นเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต อายุยิ่งน้อยยิ่งมีโอกาสเกิดมากกว่า อายุที่มากขึ้น

ในการระบาดปีนี้ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ CA6 จะแสดงอาการทางผิวหนังค่อนข้างมาก มีตุ่มขึ้นที่เพดานปาก มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า รอบก้น และเมื่อหายแล้วบางรายจะมีร่องรอยที่เล็บ

ในการระบาดบางปี จะเกิดจากสายพันธุ์ EV71 ดังแสดงในรูป ที่เคยระบาดในปี 2560 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทางศูนย์เราเฝ้าระวังสายพันธุ์การระบาดของโรคมือเท้าปากมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบันดังแสดงในกราฟ ให้เห็นแต่ละปี สายพันธุ์เป็นอะไร เพื่อประโยชน์ในการดูแลและการป้องกัน

 

"วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก" กลุ่มไหนควรได้รับ เปิดอาการ ความรุนแรง

 

"วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก" กลุ่มไหนควรได้รับ เปิดอาการ ความรุนแรง

 

วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก ที่พูดกัน ที่จริงเรียกไม่ถูก จะต้องเรียกว่าวัคซีนป้องกัน EV71 เท่านั้น เพราะไม่สามารถป้องกันข้ามสายพันธุ์มาป้องกัน CA หรือ CB ได้ การให้ในปีนี้ จะไม่ป้องกันมือเท้าปากในปีนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็น CA6

ไวรัส EV71 ยังแยกสายพันธุ์ย่อยได้มากกว่า 10 สายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ A B และ C Bจะเป็น B 1 ถึง B 5 C จะเป็น C1 -C5 สายพันธุ์ที่ระบาดขึ้นอยู่กับภูมิภาคที่พบแตกต่างกันไป

วัคซีนป้องกัน EV71 ทำมาจากสายพันธุ์ EV71 สายพันธุ์ย่อย C4 แต่การระบาดในประเทศไทยของเราในปี 2560 เป็นสายพันธุ์ EV-71 B5 และก่อนการระบาดของ covid เราพบว่า EV71 ที่พบ เริ่มจะพบสายพันธุ์เป็น C1 แล้วก็หยุดไป และในปีนี้การระบาดส่วนใหญ่ที่ตรวจพบขณะนี้ ไม่ใช่ EV71 แต่เป็น CA6

ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิก ในการยืนยันการข้ามสายพันธุ์ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงไร มีเพียงการศึกษาในหลอดทดลองเท่านั้น วัคซีนจีนแผ่นดินใหญ่ทำมาจากสายพันธุ์ C4 วัคซีนไต้หวันที่ทำการศึกษา ทำจากสายพันธุ์ B4

สิ่งจะต้องทำความเข้าใจคือ วัคซีนมือเท้าปาก EV71 ไม่สามารถป้องกัน มือเท้าปากที่เกิดส่วนใหญ่ในประเทศไทย ที่มีสายพันธุ์ CA6, CA16 และอื่นๆ ได้ จะป้องกันจำเพาะต่อ EV71 และสิ่งที่จะต้องทำการศึกษาการข้ามสายพันธุ์ในการป้องกันระหว่าง EV71 C4 มาป้องกันสายพันธุ์ EV71 B5 หรือ C1 ที่พบในบ้านเรา ได้มากน้อยเพียงไร เป็นสิ่งที่ควรจะมีวางแผนการศึกษาต่อไป เพื่อพิจารณาการนำวัคซีนมาใช้ต่อไปในอนาคต

วัคซีนป้องกันโรค EV-A-71

ได้กล่าวมาแล้วว่าวัคซีนใช้ป้องกันไวรัส enterovirus A 71 เท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก และอาจจะทำให้เกิดความรุนแรง สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้

การติดเชื้อ EV 71 ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นสมองอักเสบหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะเป็นในเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี และในจำนวนนี้ประมาณ 60% พบในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี หรือกล่าวว่าในเด็กเล็กโอกาสโรคจะรุนแรง มีอาการแทรกซ้อนพบได้มากกว่าเด็กโต

เมื่อย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมา เราจะสูญเสียเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กทุกปี เป็นหลักหน่วยต่อปี ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กที่มีอาการแทรกซ้อน สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้ำท่วมปอด ในระยะหลังแนวทางการรักษาผู้ป่วย ดีขึ้นโดยการให้ IVIg

จากการศึกษาภูมิต้านทาน ต่อเชื้อไวรัส EV 71 สายพันธุ์ B5 ที่พบในประเทศไทย โดยทีมของเราที่ศูนย์ และเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ “วัคซีน” ในการติดตามระยะยาวของเด็กไทยถึง 4 ปี จะเห็นได้ชัดว่าเด็กแรกเกิดจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ EV71 สายพันธุ์บี 5 แล้วประมาณ 80% โดยภูมิต้านทานนี้ส่งต่อมาจากมารดาที่มีภูมิต้านทานแล้วเป็นส่วนใหญ่ และภูมิต้านทานจะลดลงอย่างรวดเร็ว และเกือบจะวัดไม่ได้ที่อายุ 6-7 เดือน แล้วหลังจากนั้นเด็กไทยก็จะเริ่มติดเชื้อตามธรรมชาติ มีภูมิต้านทานต่อ EV71 สายพันธุ์ B5 เพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ดังแสดงในรูป จึงเป็นเหตุให้เด็กในช่วงตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป มีโอกาสติดเชื้อและเกิดความรุนแรงของโรคได้

 

"วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก" กลุ่มไหนควรได้รับ เปิดอาการ ความรุนแรง

 

และเราได้ทำการศึกษาภูมิต้านทาน ต่อเชื้อ EV71 สายพันธุ์ B5 ในประชากรเด็ก และผู้ใหญ่ที่จังหวัดขอนแก่น ดังแสดงในรูป รายงานนี้เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ "J Biomed Sci" และแสดงให้เห็นการตรวจพบเชื้อก่อโรคมือเท้าปาก ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ดังนั้น ถ้าต้องการสร้างภูมิ ป้องกันการติดเชื้อ EV 71 จำเป็นที่จะต้องให้ในเด็กเล็กและให้มีภูมิขึ้น อายุ 6 เดือน

การศึกษาของวัคซีนเชื้อตาย EV71 สายพันธุ์ C4 ประเทศจีน จะให้ที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป และให้ 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน และมีการใช้ในประเทศจีนมาหลายปีแล้ว

ส่วนของไต้หวัน ที่เป็นสายพันธุ์ B4 ได้ทำการศึกษาระยะที่ 3 ในเวียดนาม ได้ผลดีโดยให้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป ขณะนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน

 

"วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก" กลุ่มไหนควรได้รับ เปิดอาการ ความรุนแรง

 

CR เฟซบุ๊ก หมอยง

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์