อนุทิน สั่ง สธ. ดูแล "สิทธิบัตรทอง" หลัง สปสช. - รพ.มงกุฎวัฒนะ ยกเลิกสัญญา

อนุทิน สั่ง สธ. ดูแล "สิทธิบัตรทอง" หลัง สปสช. - รพ.มงกุฎวัฒนะ ยกเลิกสัญญา

"อนุทิน" ห่วงประชาชน "สิทธิบัตรทอง" รพ.มงกุฎวัฒนะ หลัง รพ.ขอลดจำนวนประชากรในการดูแล ทำให้ต้องมีการยกเลิกสัญญาระหว่าง สปสช. และ รพ.มงกุฎวัฒนะ พร้อมสั่ง รพ.ในสังกัด สธ. เข้าไปรับช่วงดูแลเพื่อให้ได้รับบริการต่อเนื่องไม่ขาดตอน คาดใช้เวลา 2 เดือนจัดระบบพร้อมรับคนไข้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะขอลดจำนวนประชากร สิทธิบัตรทอง ที่ขึ้นทะเบียนปฐมภูมิโดยตรงกับโรงพยาบาล และลดจำนวนรับการส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองลงครึ่งหนึ่งด้วยเหตุผลเรื่องความแออัดจนกระทบกับการบริการ ในประเด็นนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความห่วงใยพี่น้องประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ได้รับผลกระทบเนื่องจาก สปสช. จะต้องยกเลิกสัญญากับ รพ.มงกุฎวัฒนะ และได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขรับคนไข้จากโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะมาดูแล เพื่อไม่ให้สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขของประชาชนขาดตอน 

 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลที่จะเข้ามารับดูแลประชากรสิทธิบัตรทองจากโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ จะเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในโซนใกล้เคียง เช่น โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาลบำราศนราดูร โรงพยาบาลปทุมธานี ตลอดจนถึงโรงพยาบาลราชวิถี เป็นต้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเพื่อจัดระบบให้พร้อมรับคนไข้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้

"ประกอบกับก่อนหน้านี้ สปสช. ได้หารือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัด กทม. เข้ามาเป็นเจ้าภาพดูแลประชากรสิทธิบัตรทองกลุ่มนี้ ดังนั้นขอให้ประชาชนที่ลงทะเบียนกับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะไม่ต้องกังวลใจว่าจะไม่มีหน่วยบริการรองรับ ท่านจะมีหน่วยบริการปฐมภูมิทั้งที่เป็นศูนย์บริการสาธารณสุข รวมทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเข้ามารับเป็นหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการปฐมภูมิของท่าน"

 

"โดยในเบื้องต้น สปสช. จะนำรายชื่อของประชากรสิทธิบัตรทองจากโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ไปลงทะเบียนกับหน่วยบริการที่อยู่ใกล้บ้านท่านก่อนโดยอัตโนมัติ แต่หากท่านไม่สะดวกไปรับบริการในหน่วยบริการที่ สปสช. ลงทะเบียนให้ ก็สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการปฐมภูมิของตัวเองได้ในภายหลัง" นพ.จเด็จ กล่าว

 

นอกจากนี้ สปสช. ยังมีนโยบายยกระดับบัตรทอง ให้ผู้ใช้สิทธิไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ เช่น ไปรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. หรือที่คลินิกชุมชนอบอุ่นในเครือข่าย สปสช. ได้ทุกที่ หรือแม้ว่าจะมีหน่วยบริการประจำแห่งใหม่แล้ว แต่ถ้าเกิดเหตุจำเป็นการสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้เช่นกัน โดยดูรายชื่อหน่วยบริการ (สถานพยาบาล) ที่เข้าร่วมได้ที่

  • เว็บไซต์ สปสช.
  • เลือกเขตที่ต้องการตรวจสอบ
  • เลือกประเภทการขึ้นทะเบียน ที่ระบุว่า บริการตรวจรักษาโรคทั่วไปหรือ หน่วยบริการประจำในระบบหลักประกันสุขภาพ

"หากประชาชนสิทธิบัตรทองที่ได้รับผลกระทบมีข้อสงสัย ต้องการตรวจสอบหน่วยบริการปฐมภูมิแห่งใหม่ หรืออยากทราบว่าบริเวณใกล้บ้านมีหน่วยบริการในเครือข่าย สปสช. ที่สามารถไปรับบริการได้ที่ไหนบ้าง สามารถติดต่อสอบถามที่สายด่วน 1330 หรือ ไลน์ออฟฟิเชียล @nhso" นพ.จเด็จ กล่าว

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ