บัตรทองขยายสิทธิประโยชน์ “คัดกรองการได้ยิน" ฟรี

บัตรทองขยายสิทธิประโยชน์ “คัดกรองการได้ยิน" ฟรี

บัตรทองขยายสิทธิประโยชน์ “คัดกรองการได้ยิน ฟรี” ครอบคลุมดูแลเด็กไทยแรกเกิดทุกคน หลังบอร์ด สปสช. เห็นชอบ เดินหน้าดูแลเด็กที่มีภาวะบกพร่องการได้ยินเข้าถึงการรักษา สู่การมีพัฒนาการที่ดี

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การได้ยินเสียงเป็นหนึ่งใน 5 สัมผัสพื้นฐาน มีการทำงานร่วมกับระบบประสาทและสมอง เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดอันนำไปสู่การพัฒนาการที่ดีในทุกๆ ด้าน หากสูญเสียการได้ยินแล้วก็จะส่งผลต่อการพูดและภาษาได้ ทำให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสารที่มีผลในการเข้าสังคม การเรียน ภาวะจิตใจ ความจำ พฤติกรรม อารมณ์และสูญเสียโอกาสทางสังคม ดังนั้น การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดจึงเป็นบริการทางการแพทย์ที่จำเป็น เพื่อค้นหาเด็กแรกเกิดที่มีความบกพร่องการได้ยินและนำเข้าสู่การรักษาโดยเร็ว

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการดูแลเด็กแรกเกิดที่มีความบกพร่องการได้ยินนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 บอร์ด สปสช. ได้มีมติให้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีที่ตรวจคัดกรองแล้วมีปัญหาหูหนวก ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ขณะเดียวกันให้บรรจุบริการตรวจคัดกรองการได้ยินเฉพาะในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง ร่วมเป็นสิทธิประโยชน์บริการด้วย  

อย่างไรก็ตาม จากการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน เพื่อครอบคลุมการดูแลเด็กแรกเกิดทุกคนให้ได้รับบริการตรวจคัดกรองการได้ยินอย่างทั่วถึง ที่ประชุมจึงเห็นชอบเพิ่มบริการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดทุกคนที่มีสัญชาติไทยเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง โดยให้เริ่มมีผลทันทีในปีงบประมาณ 2565 นี้ เนื่องจากไม่ส่งผลต่องบประมาณของระบบ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า บริการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดฯ จะทำการตรวจคัดกรอง 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เป็นการตรวจคัดกรองการได้ยินโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Otoacoustic emissions (OAE) โดยปล่อยเสียงกระตุ้น วัดเสียงสะท้อนจากเซลล์ขนภายในหูชั้นใน ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือ OAE พร้อมด้วยการตรวจคัดกรองการได้ยินระดับก้านสมองซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการได้ยิน โดยใช้เครื่องมือ Automated Auditory Brainstem Response (AABR) โดยผลของการตรวจคัดกรองทั้ง 2 ครั้งนี้ แพทย์จะนำมาวินิจฉัยและรักษาได้ในเบื้องต้น 

สำหรับในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีเด็กแรกเกิดจำนวน 555,200 คน เมื่อคำนวณต้นทุนบริการและค่าวัสดุ จากข้อมูลของโครงการเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จะใช้งบประมาณจำนวน 17.27 ล้านบาท ที่สามารถเบิกจ่ายในงบประมาณในส่วนบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ หลังจากนี้ สปสช.จะประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการเตรียมความพร้อมของระบบคัดกรองและระบบส่งต่อเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและจัดหาเครื่องมือสำหรับการตรวจคัดกรองเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand