6 ข้อปฏิบัติลดเสี่ยงโควิด19 ระหว่างงานสงกรานต์2565

6 ข้อปฏิบัติลดเสี่ยงโควิด19 ระหว่างงานสงกรานต์2565

สธ.เผยสงกรานต์2565 หากหย่อนยานมาตรการ ยอดโควิด19พุ่งขอความร่วมมือทำตามข้อปฏิบัติก่อน-ระหว่าง-หลังเทศกาล เร่งรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในประเทศไทยผู้เสียชีวิตนอกจากโรคประจำตัวแล้ว ยังพบว่า 94% ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะลดการเสียชีวิตลงได้ 31 เท่า จึงเป็นมาตรการสำคัญที่ลดการเสียชีวิตลง สธ.มีนโยบายช่วงสงกรานต์ ลูกหลานที่กลับบ้านให้พาผู้สูงอายุไปรับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งได้มีการกระจายวัคซีนไฟเซอร์และแอสตราเซนเนก้าให้ไปถึงระดับรพ.สต.แล้ว
ในช่วงถัดไปจะมีการเปิดเทอมในเดือนพ.ค. ซึ่งเด็กมัธยมฯอายุ 12-17ปี เข้าสู่ช่วงการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น จึงขอให้เข้ารับก่อนการเปิดเทอม สามารถเลือกวัคซีนเป็นโดสปกติ หรือครึ่งโดสได้ ในส่วนของเด็กสุขภาพปกตื รับบริการได้ผ่านสถานศึกษาเป็นฐาน และเด็กที่ป่วย สามารถรับได้ที่สถานพยาบาลที่ดูแลรักษา สำหรับเด็ก ประถมฯ 5-11ปี จะรับเข็ม2ห่างจากเข็ม 1 ประมาณ 8สัปดาห์ก็จะมีเร่งฉีดรองรับเปิดเทอมด้วย 

ขณะนี้มีวัคซีนไฟเซอร์ 3 แบบ คือ ไฟเซอร์ฝาสีส้ม สำหรับเด็กเล็ก ไฟเซอร์ฝาสีม่วง เป็นสูตรเดิมที่ต้องผสมน้ำเกลือ และไฟเซอร์ฝาสีเทา สูตรใหม่ที่ฉีดในประชาชนทั่วไป โดยไม่ต้องผสมน้ำเกลือเหมือนฝาสีม่วง โดยฝาสีเทา เป็นอันใหม่ที่ฝรั่งเศสบริจาคให้เรา และไฟเซอร์ผลิตขึ้นมาใหม่ ข้อดี คือ ไม่ต้องผสมน้ำเกลือ ทำให้สะดวกใช้งาน โดยเฉพาะในรพ.สต.ที่มีเจ้าหน้าที่จำกัด อีกทั้ง ยังเก็บได้นานขึ้น จากเดิมเมื่อออกจากอุณหภูมิติดลบ 70 ต้องอยู่ในตู้เย็น 2-8 องศาจะอยู่ได้แค่ 4 สัปดาห์ แต่ของใหม่อยู่ได้นานถึง 8-10 สัปดาห์ จึงเหมาะแก่ รพ.สต. และวัคซีนไฟเซอร์ปลอดภัยสูง
“ตอนนี้มีวัคซีนประมาณ 3 ล้านได้กระจายไปยัง รพ.สต.แล้ว ซึ่งน่าจะถึงครบถ้วนทุกพื้นที่ประมาณ 1-2 วันนี้ โดยจะมีการตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งขั้นตอนจะส่งไปที่จังหวัด และจังหวัดจะกระจายไปยังรพ.สต.พื้นที่ที่รับผิดชอบ” นพ.โอภาส กล่าว 

  การคาดการณ์สถานการณ์โควิด19 ซึ่งจะทำเป็นเส้นกราฟ 3 สี คือ สีเขียว ระดับดีที่สุด สีเหลือง ระดับกลางๆ และสีแดง ระดับแย่ที่สุด ในส่วนของผู้ติดเชื้อรายใหม่หากนับจากที่ยืนยันด้วย วิธี RT-PCR จะอยู่ระดับเส้นสีเขียว ผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ระหว่างเส้นสีเขียวและเหลือง ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ อยู่ระดับเกินสีเหลือง และผู้เสียชีวิต อยู่ระดับใกล้เส้นสีเหลือง
"ภาพรวมสถานการณ์ขณะนี้พบว่า อยู่ระดับใกล้เส้นสีเหลือง โดยความร่วมมือของประชาชนยังอยู่ระดับดี มีการคงมาตรการ สามารถคุมการระบาดได้จนถึงสงกรานต์ แต่หลังสงกรานต์หากมีการหย่อนยานมาตรการจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้น ช่วงสงกรานต์จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญในการรับมมือการระบาด" นพ.โอภาสกล่าว 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สธ.ขอความร่วมมือประชาชน โดยก่อนเดินทางให้ Self Clean Up ตัวเอง งดกิจกรรมเสี่ยงอย่างน้อย 7 วัน ตรวจATKและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
ช่วงระหว่างงานสงกรานต์ 2565 มีข้อปฏิบัติ คือ 1.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม 2. ล้างมือบ่อยๆ 3. เว้นระยะห่างเมื่อไปในที่มีคนหนาแน่น เช่น วัด ตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า 4.งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกัน 5. เลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน และ 6.ผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนร่วมกิจกรรม
ข้อปฏิบัติหลังกลับจากเทศกาลสงกรานต์ 1. สังเกตอาการตนเอง 7 วันหากมีอาการสงสัยติดเชื้อให้ทำการตรวจ ATK 2.หลีกเลี่ยงพบปะผู้คนจำนวนมาก หากต้องพบผู้อื่นให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และ3.สามารถจัดการ work from home ให้เป็นไปตามความเหมาะสมโดยเฉพาะส่วนงานที่ไม่กระทบต่อการให้บริการเนื่องจาก การติดเชื้อในสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า มีการติดเชื้อที่ทำงานนำไปสู่การติดเชื้อครอบครัวและนำมาสู่การติดเชื้อที่ทำงานหรือกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ร่วมกันเป็นวงจรแบบนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อกลับบ้านแล้วกลับมาทำงาน จึงมีโอกาสนำเชื้อกลับมาแพร่ที่ทำงานได้ด้วย
ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะต้องป้องกันใน 2 เรื่องคือ 1.ป้องกัน covid-19 ด้วยการดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ self clean up ตัวเอง และ 2Uด้วยการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดและการรับวัคซีนตามกำหนด และ2. ป้องกันอุบัติเหตุจราจรโดยมาตรการ 3ม. คือไม่เมา สวมหมวกและใส่แมส และเกราะป้องกัน 3 ด่าน คือ ด่านตนเอง ด่านครอบครัวและด่านชุมชน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า โดยสรุปสถานการณ์ โควิด19 และข้อแนะนำ คือ1. สถานการณ์โรค โควิด19 ทั่วโลก แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อในทวีปแถบเอเชีย และอาเซียนเพิ่มขึ้นในบางประเทศ เช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ขณะที่ยุโรปบางประเทศเริ่มมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ส่วนประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากกระจายทั่วประเทศ ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักที่กำลังรักษาเพิ่มขึ้นและพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อจากการสัมผัส คนใกล้ชิดในครอบครัว คนที่รู้จักซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงจากการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ทานอาหาร ดื่มสุราด้วยกันระยะเวลานานทั้งในงานเลี้ยงที่บ้าน ที่ทำงาน ในร้านอาหาร