โพธิ์ศรีสุวรรณโมเดล ต้นแบบ "ประเพณีปลอดเหล้า" ลดค่าใช้จ่าย 140 ล้านบาท

โพธิ์ศรีสุวรรณโมเดล ต้นแบบ "ประเพณีปลอดเหล้า" ลดค่าใช้จ่าย 140 ล้านบาท

สสส. – สคล.  ชู 5 ยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อน “วัฒนธรรมสร้างสุข ไร้แอลกอฮอล์” ลงพื้นที่ ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ศรีสะเกษ พื้นที่ต้นแบบงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ประหยัดค่าใช้จ่าย กว่า 140 ล้านบาท หวังดึงชุมชนทั่วประเทศ ปรับพื้นที่สู่สังคมสุขภาวะดี

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ลงพื้นที่ตำบลเสียว อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ ติดตามการดำเนินงาน ส่งเสริมพลังการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านงานบุญ ประเพณีปลอดเหล้า ใช้พลังชุมชนแก้ปัญหาคนติดสุราในพื้นที่ ตั้งเป้านำข้อมูลและแนวทางการทำงานที่สำเร็จ ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ระดับชุมชนหมู่บ้าน สู่การผลักดันเป็นนโยบายงานบุญประเพณีปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัดทั่วประเทศ

 

นายศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมายในชีวิต ทั้งความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางเพศ ทะเลาะวิวาท ที่ผ่านมา สสส. และ สคล. ได้ขับเคลื่อนงานเพื่อเปลี่ยนค่านิยมในสังคมไทย ผ่านการสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด และภาคนโยบาย โดยแผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด สสส. มีแนวทางดำเนินงานตามยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

 

1.การควบคุมการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์ และทางกายภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2.การปรับเปลี่ยนค่านิยมและลดแรงสนับสนุนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

3. การลดอันตรายของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

4.การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่

5.การพัฒนากลไกการจัดการและสนับสนุนด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติดที่เข้มแข็ง

 

โพธิ์ศรีสุวรรณโมเดล ต้นแบบ \"ประเพณีปลอดเหล้า\" ลดค่าใช้จ่าย 140 ล้านบาท

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า จากการเห็นโมเดลขับเคลื่อนของ โพธิ์ศรีสุวรรณ โมเดล ที่ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมเข้มเเข็ง เเละมีเส้นทางการเคลื่อนไหวเชิงนโยบายมายาวนาน ทำให้เห็นว่าการสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคมมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ที่มีกลไกการขับเคลื่อนที่สร้างการมีส่วนร่วมทั้งหน่วยงานรัฐเเละภาคประชาสังคม ในการเฝ้าระวังเเละบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

โดยเริ่มจากการทำข้อตกลงร่วมกันในชุมชน ขยับเป็นธรรมนูญตำบล เกิดเป็นพลังระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ทั้งนี้ต้นทุนเหล่านี้ยัง ผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายขับเคลื่อน พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นนโยบายระดับชาติ เพื่อใช้ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานฝ่ายปกครองอย่างต่อเนื่อง

 

“สสส. มุ่งเน้นการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าของการจัดงานปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้แก่ เจ้าภาพจัดงาน หน่วยงาน ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน ในสังคมไทยในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้งานบุญประเพณีปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100% จนเกิดเป็น “วัฒนธรรมสร้างสุข ไร้แอลกอฮอล์” สร้างสังคมแห่งการมีสุขภาวะที่ดีทุกระดับ” นายศรีสุวรรณ กล่าว

 

โพธิ์ศรีสุวรรณโมเดล ต้นแบบ \"ประเพณีปลอดเหล้า\" ลดค่าใช้จ่าย 140 ล้านบาท

เทศกาลปลอดเหล้า เริ่ม 2553

 

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สคล. ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานอย่างเข้มข้นใน ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ที่ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น มาร่วมรณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านการประกาศเจตนารมณ์ของคนในหมู่บ้าน ให้เกิดเป็นงานบุญประเพณีปลอดเหล้า เพื่อขยายความเข้มแข็งจากตำบลสู่อำเภอ และผลักดันสู่นโยบายระดับจังหวัด ที่ประกาศให้งานทุกเทศกาลในจังหวัดศรีสะเกษปลอดเหล้า เริ่มทำตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน

 

โดยใช้การขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม ไม่ได้ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ ในรูปแบบ Soft power ที่ดึงคนในชุมชนมาช่วยกันสร้างกลไกสำคัญต่อสู้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดย สคล. หวังให้โมเดลของ ต.เสียว ขยายผลไปสู่ในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะใน 15 จังหวัด ที่มีต้นทุนคล้ายกับจังหวัดศรีสะเกษ เช่น มหาสารคาม อำนาจเจริญ  ลำพูน ตาก

 

เคลื่อนการทำงานแบบ บูรณาการ 

 

นายธีระ กล่าวต่อว่า กลยุทธ์การทำงานสำคัญของ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ คือ ดึงภาครัฐร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมแอลกอฮอล์ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธานและฝ่ายสาธารณสุขเป็นเลขานุการ ร่วมกับภาคประชาสังคมที่มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) รวมอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายในระบบราชการ คณะทำงานก็สามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก สะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งและต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

 

“การทำงานของ สคล. จะปรับแนวทางการทำงานไปในเชิงพื้นที่มากขึ้น จากเดิมที่มุ่งผลักดันระดับนโยบายอย่างเดียว เพื่อให้เกิดข้อบังคับใช้กฎหมายลงมาสู่ระดับล่าง ทำให้ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของชุมชน ปัจจุบันกระแสสังคมเปลี่ยนไป สื่อเข้าถึงคนง่าย เครือข่าย สคล.ในพื้นที่ จะทำให้มองเห็นภาพและบริบทที่เปลี่ยนไป ทำให้รู้ความต้องการของชุมชน และปรับการทำงานได้ตรงจุดมากขึ้น โดยมุ่งเน้นที่ชุมชน เยาวชน รวมถึงการเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นายธีระ กล่าว

 

นายสุวรรณ เนตรเนติกุล  นายอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ความเข้มแข็งของชุมชนมีส่วนสำคัญที่ทำให้สร้างคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ดีขึ้นได้ ปัจจุบันได้ใช้กลไกบ้าน วัด โรงเรียน (บวร.) ร่วมกับ หน่วยงานข้าราชการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยเริ่มต้นในหน่วยเล็กที่สุด คือ หมู่บ้าน หากสร้างความเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรมได้ ก็สามารถเคลื่อนงานระดับใหญ่ขึ้นได้ ส่วนงานบุญประเพณีปลอดเหล้า อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบ จะส่งข้อมูลทุกวันที่ 14 ธ.ค.ของทุกปี เพื่อนำมาวิเคราะห์ แก้ปัญหา หาข้อสรุปทำงานร่วมกันในปีต่อๆไป

 

14 ปี ประหยัดเงิน 143 ล้านบาท 

 

โดยระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา พบการประหยัดค่าใช้จ่ายจากงานบุญปลอดเหล้าทั้งหมด 143,382,000 บาท ถือเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน ทำให้เห็นผลดีทางเศรษฐกิจ และทำให้ปัญหาเรื่องความรุนแรงต่าง ๆ ลดลง ผ่านการใช้หลัก 3 ดี คือ

1.) คนดีมีคุณธรรม

2.) สุขภาพดี

3.) เศรษฐกิจดียั่งยืน