แพทย์ย้ำ! ไม้ Swab ไม่อันตราย พร้อมรู้วิธีใช้ ATK (Nasal Swab) ให้ถูกต้อง

แพทย์ย้ำ! ไม้ Swab ไม่อันตราย พร้อมรู้วิธีใช้ ATK (Nasal Swab) ให้ถูกต้อง

อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม กรณีใช้ไม้ Swab เข้าไปกว้านลึกถึงเพดานจมูก จะสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อพังผืดเส้นประสาท ด้านกรมการแพทย์ชี้ชัดว่า ไม่จริง! ชวนรู้วิธีตรวจหาเชื้อโควิดด้วย ATK แบบที่ใช้ไม้ Swab ให้ถูกต้อง

จากกระแสการแชร์ "ข่าวปลอม"กรณีตรวจหาเชื้อ "โควิด-19" ด้วยวิธีสอดไม้ Swab เข้าไปกว้านลึกถึงเพดานจมูก จะทำให้เนื้อเยื่อพังผืดเส้นประสาทเกิดความเสียหาย ด้าน “กรมอนามัย” ออกมาโต้ตอบทันทีว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง!

โดยข่าวปลอมดังกล่าวอ้างว่า การสอดไม้ Swab เข้าไปกว้านลึกถึงเพดานจมูก จะสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อพังผืดที่ห่อหุ้ม Olfactory Nerve ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและอายุขัยของมนุษย์

เนื่องจาก olfactory nerve เป็นปราการของกะโหลกศีรษะ ซึ่งเชื่อมระหว่างโพรงจมูกกับสมอง หากเนื้อเยื่อตรงนี้เสียหาย ไวรัส และแบคทีเรียก็จะสามารถผ่านไปยัง blood-brain barrier และเข้าสู่สมองได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

ด้าน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวและชี้แจงว่า การสอดไม้ Swab เข้าไปในจมูกมีโอกาสขึ้นไปที่ตำแหน่งของเส้นประสาทรับกลิ่นได้จริง แต่ไม่สร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทอย่างที่หลายคนกังวล

อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าการสวอปทำให้เส้นประสาทรับกลิ่นเสียหายจนสูญเสียการรับกลิ่น

ดังนั้น การสวอปควรทำให้ถูกวิธีคือ แหย่เข้าไปตามแนวของพื้นจมูก เพื่อให้เข้าไปยังบริเวณโพรงหลังจมูกซึ่งมีโอกาสเจอเชื้อโรคได้มาก ซึ่งจะไม่โดนตำแหน่งของเส้นประสาทดังกล่าวอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังคือ ในกรณีที่คนไข้เคยได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับฐานสมอง หรือเคยผ่าตัดซ่อมฐานสมองมาก่อน ควรให้แพทย์หู คอ จมูก หรือแพทย์ที่ชำนาญเป็นผู้ทำการสวอปให้

 

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำจาก "องค์การเภสัชกรรม" เกี่ยวกับการสวอปเพื่อตรวจคัดกรองโควิดด้วย ชุดตรวจ ATK แบบ Nasal Swab ซึ่งจะต้องใช้ไม้แหย่เข้าไปในโพรงจมูก โดยมีขั้นตอนที่ถูกต้อง ดังนี้

 

1. ล้างมือให้สะอาด

2. สอดก้านเก็บตัวอย่างเข้าไปในโพรงจมูกลึกประมาณ 2.5 เซนติเมตร หมุนข้างละ 5 รอบ

3. คลายเกลียวฝาหลอดสกัดตัวอย่าง นำสารสกัดใส่ลงไปในหลอดสกัด

4. นำก้านเก็บตัวอย่างใส่ลงไปในหลอดสกัดทำการหมุนก้านเก็บตัวอย่าง 3-5 ครั้ง

5. ปล่อยก้านเก็บตัวอย่างไว้ในหลอดสกัดเป็นเวลา 1 นาที

6. ทำการบีบใต้หลอดสกัดแล้วดึงก้านเก็บตัวอย่างขึ้นจากหลอดสกัด

7. ปิดฝาหลอดสกัดให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้สารสกัดไหลออก

8. หยดสารสกัด 3 หยด ลงไปยังตลับทดสอบ

9. อ่านผลการทดสอบใน 15-20 นาที

หากพบว่าติดเชื้อ จะขึ้นแถบสีแดงที่ แถบ C และ T 

หากพบว่าไม่ติดเชื้อ จะขึ้นแถบสีแดงที่ แถบ C เท่านั้น

หากพบว่า ไม่สามารถแปลผลได้ จะไม่ปรากฏแถบสี หรือปรากฏแถบสีเฉพาะที่ตัว T และต้องตรวจด้วยชุดทดสอบอันใหม่

10. เมื่อตรวจเสร็จแล้วให้ทิ้งทุกอย่างในซองพลาสติกที่ให้มา แยกทิ้งเป็นขยะติดเชื้อ

นอกจากนี้ หากต้องการผลตรวจ ATK ที่แม่นยำ ก็มีข้อปฏิบัติที่ต้องทำตาม ขณะที่ตรวจด้วยตัวเอง ได้แก่ 

  • ห้ามนำชุดตรวจ ATK ไปทดสอบกับของเหลวอื่นที่ไม่ใช่สารคัดหลั่ง อาจให้ผลลัพธ์เป็นบวกปลอม
  • ไม่ควรอ่านผลตรวจ ATK หลังผลออกเกิน 20 นาที
  • ชุดตรวจ ATK เมื่อแกะออกจากซองแล้วต้องใช้ทดสอบทันที ห้ามทิ้งไว้นานก่อนทดสอบ

-----------------------------------

อ้างอิง : ศูนย์ข้อมูล COVID-19 (ข้อมูล ณ 28 มี.ค.65), องค์การเภสัชกรรม

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์