วพบ.ชลบุรี จิตอาสาช่วย สปสช. รับสายด่วน-ตอบไลน์ผู้ป่วยโควิด19

วพบ.ชลบุรี จิตอาสาช่วย สปสช. รับสายด่วน-ตอบไลน์ผู้ป่วยโควิด19

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี ระดมอาสาสมัครทั้ง อาจารย์-นักศึกษา กว่า 300 คน สนับสนุน สปสช. ช่วยรับสายด่วน-ตอบไลน์ให้คำปรึกษา-จัดหาให้ผู้ป่วยเข้าระบบการรักษา

ดร.ศุกร์ใจ เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี เปิดเผยว่า จากประสบการณ์การช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดในรอบแรกกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 6 ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือกับ สปสช. ส่วนกลาง เพื่อที่จะสนับสนุนอาจารย์และนักศึกษาพยาบาลของวิทยาลัยกว่า 300 ชีวิต เข้าช่วยเหลือภารกิจของสายด่วน สปสช. 1330 ในการโทรติดตามอาการผู้ป่วยโควิด 19

ดร.ศุกร์ใจ กล่าวว่า ทางวิทยาลัยเคยได้ร่วมมือกับ สปสช. เขต 6 ในการช่วยเหลือทั้งการดูแลรักษา และบริการสายด่วนช่วงสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งขณะนั้นทางวิทยาลัยระดมคนมาช่วยเหลือได้กว่า 170 คน แบ่งเป็นอาจารย์ประมาณ 20-30 คน และนักศึกษาจำนวน 154 คน โดยทางเจ้าหน้าที่ได้มอบโทรศัพท์จำนวน 100 เครื่อง เพื่อใช้สำหรับโทรติดตาม-สอบถามผู้ป่วย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักในการช่วยเหลือ โดยช่วงที่ติดเชื้อพีคของเดลต้า จำนวนที่ต้องโทรไปมีมากถึง 1,000 คนต่อสัปดาห์ เหล่าจิตอาสาต้องทำงานกันทุกวัน จนภายหลังสถานการณ์คลี่คลายพร้อมกันนั้นได้ยุติบทบาทในการช่วยเหลือลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดระลอกโอมิครอนในปัจจุบัน บุคคลากรในวิทยาลัยตระหนักถึงสถานการณ์ผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าระลอกก่อน ผู้ติดเชื้อจำนวนมากยังไม่ได้เข้าสู่ระบบบการดูแลรักษา ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับ สปสช. อีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2565

สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือในครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อระลอกที่แล้ว ประการแรก เป็นการสื่อสารผ่านรูปแบบ non voice ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ประการที่สอง การรับสายด่วน 1330 เพื่อให้คำปรึกษาและโทรติดตามอาการ และประการสุดท้าย การค้นหาผู้ป่วยเพื่อช่วยให้เข้ามาอยู่ในระบบการรักษา ซึ่งในแต่ละวันการให้บริการจะเฉลี่ยจัดสรรให้ทั้งนักศึกษาพยาบาลและอาจารย์มากน้อยตามสถานการณ์

ดร.ศุกร์ใจ กล่าวต่อว่า ในช่วงแรก สปสช. ติดต่อมาว่าต้องการจิตอาสาที่เป็นอาจารย์ก่อน เนื่องจากมีความรู้ความเข้าใจในการบริการและมีความพร้อมมากกว่า ซึ่งอาจารย์ของวิทยาลัยก็มีความสนใจและยินดีที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ มีการสมัครเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อาจารย์ที่เป็นจิตอาสามีจำนวนกว่า 50 คน

ในส่วนของนักศึกษาพยาบาลที่มาช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. แบบบูรณาการเข้ากับวิชาเรียนที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งหมด 112 คน จะทำงานโดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาวันละ 32 คน ทำตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงเย็น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนด้วย 2. นักศึกษาจิตอาสาที่ไม่ได้ทำในวิชาเรียน จำนวน 141 คน โดยหมุนเวียนกันไปวันละ 20 คน ด้วยกระบวนการแบบนี้ทำให้ได้นักศึกษาที่มาช่วยเหลือผู้คนมากยิ่งขึ้น เมื่อรวมทั้งอาจารย์และนักศึกษาทั้งหมดที่เข้ามาช่วยจะมีมากถึง 70-80 คนต่อวัน

“การมาทำงานตรงนี้ เด็กๆ จะได้เรียนรู้และเข้าใจมนุษย์มากขึ้น เพราะว่าด้วยวิชาชีพเราต้องทำงานกับมนุษย์ เมื่อมีคนป่วยหนึ่งคน มันไม่ได้ส่งผลแค่ทางกายอันเป็นผลจากโรค แต่มันส่งผลไปยังจิตใจ และครอบครัวซึ่งเป็นสังคมของเขาไปด้วย ซึ่งเรามีหน้าที่ต้องดูแลทุกคนอย่างเป็นองค์รวมโดยครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ” ดร.ศุกร์ใจ ระบุ

ด้าน นางพิชฏา อังคะนาวิน อาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี ชลบุรี กล่าวว่า อาชีพและนิสัยส่วนตัวคือแรงผลักดันให้อาสามาช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดทั้งรอบที่แล้ว และรอบนี้ด้วย รวมถึงการช่วยเหลือตรงนี้ไม่ได้เพิ่มภาระให้รู้สึกเหนื่อยหรือลำบาก อีกทั้งด้วยลักษณะงานที่รับผิดชอบสอดคล้องกับความรู้ที่มี เช่น การเข้าใจโรค และระบบของร่างกาย ทำให้สามารถอธิบายให้กับผู้ป่วยเข้าใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับงานที่รับผิดชอบจะเป็นการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ด้วยลักษณะงานที่เป็น Real-Time รวมถึงเป็นช่วงพีคของโอมิครอน โดยวันแรกที่ทำมีการแจ้งเตือนข้อความตั้งแต่เช้าจนถึงตี 2-3 ของทุกวัน ด้านปัญหาส่วนมากที่พบมาเสมอทั้งตัวเองและเพื่อนอาจารย์ที่ทำงานด้วยกัน จะเป็นเรื่องผู้ป่วยมีความกังวลและความเครียด ทำให้ไม่พอใจที่ติดต่อกลับไปช้า บางคนต้องใช้เวลาราว 30 นาทีในการพูดคุยทำความเข้าใจ

“การทำงานตรงนี้ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีสื่อสารกับผู้ป่วยมากขึ้น เพราะบางคนมีความกังวลมากและแสดงอารมณ์ผ่านน้ำเสียง หรือตัวอักษร เราจะต้องคิดว่าจะสื่อสารอย่างไรให้ผู้ป่วยเข้าใจ และได้รับบริการที่มีประโยชน์ต่อเขามากที่สุด นอกจากนี้การได้สอบถามติดตามอาการผู้ป่วยยังได้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่อัพเดทตลอดเวลาด้วย” นางพิชฏา ระบุ