“ชุมชนบ้านแสงตะวัน” เชื่อมโยง ดิน น้ำ ป่า สู่การบริหารจัดการน้ำยั่งยืน

“ชุมชนบ้านแสงตะวัน” เชื่อมโยง ดิน น้ำ ป่า สู่การบริหารจัดการน้ำยั่งยืน

"ชุมชนบ้านแสงตะวัน" ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ ต้นแบบการ "บริหารจัดการน้ำ" สร้างการมีส่วนร่วมชุมชน ศึกษาพื้นที่ เส้นทางน้ำ เชื่อมโยงการทำงานกับภาคีเครือข่าย บริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ในมิติองค์รวม สู่ความมั่นคงทางอาหารและอาชีพ

ปัญหา น้ำแล้ง น้ำหลาก น้ำเสีย พบได้ในหลายพื้นที่ของไทย การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน จึงไม่เพียงแค่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง แต่ต้องมีความร่วมมือกับชุมชน ในการเข้าใจบริบทพื้นที่ตนเอง ออกแบบเส้นทางน้ำ และวางแผนการใช้น้ำ เพื่อให้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

พื้นที่ "ชุมชนบ้านแสงตะวัน" ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นชุมชนที่อยู่ทางตอนล่างของลุ่มน้ำห่วยเสนง อยู่ในเขตปกครองของ ต.คอโค อ.เมืองสุรินทร์ จำนวนประชากร 1,228 คน 278 ครัวเรือน

 

สัดส่วนการประกอบอาชีพของครัวเรือนในชุมชน ร้อยละ 34.17 ทำเกษตรกร ร้อยละ 55.03 รับจ้างและค้าขาย และร้อยละ 10.80 รับราชการ โดย ร้อยละ 86 ของครัวเรือนประชากรทั้งหมดมีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี

 

ลักษณะทางภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ทั้งหมด 1,392 ไร่ จำแนกเป็น พื้นที่เกษตรกรรม 785 ไร่ ที่อยู่อาศัย/สาธารณะ 460 ไร่ ป่าชุมชน/ป่าริมตลิ่ง 80 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 67 ไร่ โดยแหล่งน้ำที่สำคัญ มี 8 แห่ง ได้แก่ หนองกันจาน หนองลำหาด หนองตามุม สระพระ หนองไทรน้อย หนองไทรใหญ่ แก้มลิง ห้วยสวายกอง หนองถนน และคลองเชื่อมแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 1,467.7 มิลลิเมตร

 

ปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก น้ำเสีย 

 

“ปิยศักดิ์ สุคันธพงษ์” ตัวแทนจากสภาพลเมืองสุรินทร์ กล่าวในงานเสวนา "ทางเลือกการจัดการน้ำชุมชนในบริบทการเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย" เรื่อง บทเรียนรูปธรรมการจัดการน้ำโดยชุมชน ภาคอีสาน จ.สุรินทร์ จัดโดย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 65 โดยเล่าย้อนกลับไปถึง การใช้น้ำและสถานการณ์ปัญหาของชุมชน พบว่า ลักษณะการใช้น้ำของชุมชน คือ น้ำเพื่อการเกษตร การใช้ในครัวเรือน การใช้น้ำเพื่อนิเวศและสิ่งแวดล้อม และการใช้น้ำเพื่อความเชื่อ พิธีกรรม ประเพณี ขณะเดียวกัน สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบ พบว่า มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ (ฤดูแล้ง) น้ำมากเกินไป (ฤดูฝน) และ คุณภาพน้ำ (น้ำเสีย)

“แม้พื้นที่บ้านแสงตะวันจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำสำคัญ แต่ไม่สามารถดึงน้ำมาใช้ได้ ได้แต่ยืนมองน้ำไหลผ่านไปเฉยๆ ไม่มีศักยภาพดึงน้ำมาใช้ประโยชน์ ดังนั้น หน้าแล้งจึงมีน้ำไม่เพียงพอในการใช้ อีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ฤดูฝน ฤดูน้ำหลาก ท่วมพื้นที่ และอีกส่วน คือ ระยะที่มีการประกอบการฟาร์มหมูและการเพิ่มปริมาณของสัตว์เลี้ยง เกิดการปล่อยน้ำเสียออกมาในแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อชุมชน มีปลาตาย ทำให้ระบบนิเวศของพื้นที่เสียไป”

 

เก็บน้ำได้ ใช้น้ำเป็น 

 

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ชุมชนหันกลับมามองว่า จะมีการดำเนินการจัดการน้ำมาใช้ประโยชน์อย่างไร และทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถจัดการน้ำเองได้ เป็นที่มาของ ผู้ใหญ่บ้าน "ชุมพร เรืองศิริ" มองว่า ฐานคิด สำคัญของการบริหารจัดการน้ำ คือ เก็บน้ำได้ ใช้น้ำเป็น ทำอย่างไรจะเก็บน้ำได้ใช้หน้าแล้ง และใช้น้ำเป็น ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งอุปโภคบริโภค เกษตร และรักษาระบบนิเวศ 

 

การจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลง

 

ปิยศักดิ์ เล่าต่อไปว่า ในอดีต การจัดการน้ำชุมชน ส่วนใหญ่พระสงฆ์จะเป็นผู้นำในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการทำทำนบดินกั้นน้ำ อย่างไรก็ตาม การทำทำนบดิน เมื่อน้ำหลากทำนบดินก็พัง ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นความพยายามของชุมชน ในการจัดการแก้ไขปัญหาที่ชุมชนได้รับผลกระทบ

 

พอมาช่วงระยะเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง คือ การพัฒนาโดยหน่วยงานภาครัฐ (ช่วงระยะแรก) ไม่ว่าจะ อบจ. และ ชลประทาน ได้เข้ามาพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นความต้องการบางส่วนของชาวบ้าน แต่สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ ชุมชนเป็นเพียงผู้รับประโยชน์เท่านั้น และเสนอความต้องการเข้าไป แต่การคิด วางแผน การจัดการน้ำทั้งระบบชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมมากนัก

เรียนรู้แนวทาง สู่การจัดการยั่งยืน

 

ต่อมาในปี 2554 ทาง ผู้ใหญ่บ้าน “ชุมพร เรืองศิริ” ได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ โดยทาง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ในสมัยนั้น (ปัจจุบันเป็น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน.) ได้มีการจัดเวทีที่ จ.ขอนแก่น หาชุมชนที่สนใจในการบริหารจัดการน้ำ ผู้ใหญ่ชุมพร จึงได้เข้าไปร่วมศึกษาเรียนรู้

 

"จากการเข้าไปร่วมในครั้งนั้น ทำให้ชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นชุดความรู้ ชุดเครื่องมือ ทั้งเครื่องมือในการศึกษาข้อมูลด้านศักยภาพ เครื่องมือในการทำแผนผังน้ำหรือสมดุลน้ำ หรือการวางแผนบริหารจัดการน้ำ นำมาศึกษาและออกแบบการบริหารจัดการน้ำ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ" ปิยศักดิ์ กล่าว 

 

จัดระบบผังน้ำ เชื่อมโยงแหล่งน้ำชุมชน

 

เมื่อมีการศึกษาข้อมูล มีการนำข้อมูลต่างๆ มาจัดทำระบบผังน้ำ ซึ่งเห็นชัดเจนว่า แหล่งน้ำแต่ละแหล่ง พยายามคิดให้เชื่อมโยงกัน เพื่อเป็นแหล่งหนุนเสริม เมื่อแหล่งใดแหล่งหนึ่งมีปริมาณน้ำที่น้อยลง จะได้ดึงแหล่งอื่นเข้าไป และมีการขุดคลองกระจายน้ำไปสู่แปลงไร่นาเกษตรกร

 

"จากการดำเนินงาน ทำให้ชุมชนได้มีผลเชิงรูปธรรม แหล่งน้ำมีศักยภาพในการกักเก็บน้ำและใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ได้ตลอดปี เกิดกลุ่มอาชีพปลูกผักเสริมพลังชีวิต/เกษตรทฤษฎีใหม่ ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ มีรายได้เพิ่มเฉลี่ย 2,576 บาทต่อเดือน การจัดตั้งคณะกรรมการและกฎ กติกา การบริหารจัดการน้ำชุมชน"

 

สร้างความมั่นคงด้านอาหาร

 

ปิยศักดิ์ เล่าต่อไปว่า อีกประการหนึ่งที่เห็นผลชัดเจน คือ ในส่วนของระบบนิเวศ ความหลากหลายมากขึ้น ชุมชนสามารถเก็บ กุ้งหอยปูปลาเพื่อบริโภค เชื่อมโยงไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ชุมชนสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อการบริโภค ส่วนหนึ่งคืออาหารจากแหล่งธรรมชาติ

 

ขณะที่ แหล่งน้ำในชุมชน พบว่า ในชุมชนมีทั้งในส่วนของ ประปาหมู่บ้าน ซึ่งดึงจากห้วยเสนงเข้ามาใช้ในการประกอบอาชีพ 17 ครัวเรือน และ ใช้ประโยชน์อุปโภค 37 ครัวเรือน ทั้งนี้ การปลูกพืชชุมชน มีความหลากหลาย มีรายได้เกิดขึ้น พื้นที่ปลูกเห็นชัดเจนว่าเกษตรกรจากกลุ่มปลูกผักเสริมพลังชีวิต มีรายได้จากการปลูกผัก โดยมีการปลูกผักกว่า 24 ชนิด ทั้งการปลูกเป็นสวนหน้าบ้านหลังบ้าน หรือ เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการปลูกหลากหลายและจำหน่ายเป็นรายได้ครัวเรือน

 

มูลค่าซื้อขายวัว 1.5 ล้านบาท/ปี

 

ขณะที่ การสัตว์เลี้ยง ที่เยอะ คือ วัว มูลค่าการซื้อขายกว่า 1,510,000 บาทต่อปี เมื่อมีน้ำกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทำให้ชาวบ้านสามารถปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์ ทำให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น และชุมชนสามารถต่อยอด พัฒนาเป็นศูนย์จำหน่าย หรือ เป็นศูนย์ตลาดนัดโคกระบือและจำหน่ายสินค้าชุมชนด้วย

 

บริหารองค์รวม ดิน น้ำ ป่า

 

ทั้งนี้ จากการศึกษา พบว่า ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ มองแบบเดี่ยวๆ ไม่ได้ ต้องเป็นการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ป่า และมองในมิติองค์รวม เพราะแต่ละมิติมีความสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้น จากการดำเนินงานชุมชนแสงตะวัน พบว่า เมื่อมีการจัดการน้ำที่คำนึงถึงความชุ่มชื่นของดิน ความหลากหลายของป่า เมื่อมีความชุ่มชื่นเพิ่มมากขึ้น และแหล่งอาหาร ที่เกิดขึ้นในส่วนของแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา

 

"ส่วนหนึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับชุมชน ชุมชนสามารถหากินจากแหล่งธรรมชาติและระบบการผลิตในแปลงของตนเอง เป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน หากเรามองการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ไม่แยกส่วน”

 

ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน

 

ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญ คือ การมีกัลยาณมิตร เครือข่าย หลายภาคส่วน ซึ่งถ้ามองตั้งแต่ต้น ในส่วนของ สสนก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้ามาจุดประกายความคิด การบริหารจัดการน้ำ ทำอย่างไรให้สามารถมีน้ำอุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตร และเพื่อระบบนิเวศ มีการแนะนำให้เครื่องมือในการพัฒนา วางแผน การจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ จะทำให้ชุมชน เข้าใจ เรียนรู้ และนำไปสู่การวางแผนโดยชุมชนเอง

 

"ไม่ใช่โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาบอกว่าต้องทำ ถือเป็นจุดสำคัญ ว่า การบริหารจัดการน้ำ ต้องมีส่วนร่วมทั้งชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องวางแผนร่วมกัน โดยยึดถือภูมิสังคมของชุมชนเป็นตัวตั้ง ทั้งความคิด ความเชื่อ และลักษณภูมิประเทศและภูมิศาสตร์"

 

ท้ายนี้ หวังว่า การพัฒนาต้องเริ่มจากชุมชน เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ระยะแรก มีการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐ แต่การใช้ประโยชน์ของชุมชน ใช้ได้บางส่วน ชุมชนเป็นเพียงผู้ได้รับประโยชน์เท่านั้น ไม่มีส่วนร่วมในการคิด เห็นข้อเท็จจริง หรือ วางแผนจัดการอย่างไรให้เหมาะสมสอดคล้องกับวิธีการดำเนินชีวิต แต่หากชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ชุมชนได้จัดการตนเอง บริหารจัดการน้ำโดยชุมชนเอง โดยหน่วยงานภายนอก ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ให้การสนับสนุน หนุนเสริม ให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ จะทำให้การบริหารจัดการน้ำในชุมชนมีความยั่งยืน เกิดผลกับชุมชน ทำให้ชุมชนสร้างความมั่นคงด้านอาหารและยั่งยืน