มหาวิทยาลัยในยุค "Metaverse" ต้องเรียนอะไร? มหาวิทยาลัยจริงจำเป็นหรือไม่

มหาวิทยาลัยในยุค "Metaverse" ต้องเรียนอะไร? มหาวิทยาลัยจริงจำเป็นหรือไม่

โลกที่ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญที่ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับเปลี่ยนตัว ไม่ว่าจะอยู่ใน กลุ่มนักธุรกิจ ผู้ระกอบการ คนวัยทำงาน คนรุ่นใหม่ ล้วนต้องเรียนรู้กระบวนการทำงานที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น

ว่ากันว่า “Metaverse” เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การสื่อสารทางสังคมและการเรียนรู้และเสริมต่อประสบการณ์ให้ผู้คนเข้าสู่โลกความเป็นจริงที่อาจไม่เคยหรือไม่สามารถได้พบเห็นผ่านโลกเสมือน

โดยผู้ที่อยู่ใน Metaverse จะสร้างอวตารหรือ “ตัวตน” ในรูปลักษณ์ที่พอใจ มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สัมผัสวัตถุและบรรยากาศด้วยกราฟิกที่มีมิติจากบริบทสิ่งแวดล้อม เป็นการการเชื่อมโยงตัวตนและชีวิตบนสังคมเสมือนจริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์หลายอย่างที่โลกความเป็นจริงอาจพาไปไม่ได้หรือไม่ทั่วถึง

Metaverse ช่วยทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรม จับต้องและเข้าใจยาก กลายมาเป็นภาพเสมือนจริงที่สัมผัสและจับต้องได้ การเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การผลิตทรัพยากรบุคคลเพื่อก้าวทันนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ทำให้หลายมหาวิทยาลัย ต้องปรับหลักสูตร การเรียนการสอน เพิ่มเพิ่มทักษะให้เหมาะกับการทำงานในโลก "Metaverse"

 

  • เตรียมทักษะให้พร้อม ก้าวสู่โลก Metaverse

ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการ Carnegie Mellon-KMITL มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า  โควิด-19 ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลให้เกิดขึ้นได้มากขึ้น หลายหน่วยงานมีการทรานฟอร์ม ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยได้มีการปรับตัวอย่างกว้างขวาง นักศึกษา 1-2 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย แต่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา 

ตอนนี้มีการนำเครื่องมือมาใช้ในการเรียนการสอน รวมถึงในภาคธุรกิจก็มีการนำเครื่องมือดิจิตอลมาใช้ในการทำงานมากขึ้น ให้ทุกภาคธุรกิจ ไปใช้ และทำให้เกิดความก้าวกระโดดมากขึ้น

เมื่อก่อน นักศึกษาป.ตรีมีประมาณ  2.7 แสนคน แต่ตอนนี้ มีไม่ถึง 1.8 แสนคน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจต้องการคนด้านดิจิตอลมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันแรงงานไทยมีทักษะดิจิตอล เกิน 50% อยู่แล้ว และแรงงาน 48-49%  ต้องการมีทักษะดิจิตอลเพิ่มเติม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน

"Metaverse" ทำให้คนมีความรู้ด้านดิจิทัล มากขึ้น ซึ่งในอนาคตทุกธุรกิจต้องเข้าสู่ Metaverse  จะต้องการคนออกแบบดิจิทัลที่สวยงาม ซึ่งอาจต้องมีพื้นฐานเรื่องของ 3D ด้วย

ทักษะที่จำเป็นในยุค Metaverse ที่ควรมี อาทิ

  • ทักษะด้านการเขียนโค้ด
  • การเขียนโปรแกรม
  • ทักษะด้าน AI
  • กราฟิกดีไซน์
  • การออกแบบ
  • ความรู้ด้านสกุลเงินดิจิทัล NFT
  • Blockchain
  • ทักษะการวิเคราะห์
  • การวางแผนกลยุทธ์
  • ทักษะการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า

ดังนั้น ใครที่ต้องการจะประสบความสำเร็จในอนาคต ไม่ควรพลาดที่จะมีสกิลเหล่านี้ติดตัวไว้ รับรองว่าใช้หาเงินในโลกของ Metaverse เพราะการทำงานจะต้องเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับกระบวนการทำงาน

 

  • Metaverse ข้ามพรมแดนการเรียนรู้

ศ.ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในโลก Metaverse ผู้เรียนจะได้ไปและได้ทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในสภาพกายภาพจริง เช่น การทดลองวิทยาศาสตร์ที่มีความเสี่ยง หรือการเดินทางทัศนศึกษาในที่ห่างไกลและยากจะไปได้ในความเป็นจริง เช่น การผจญภัยในป่าอเมซอน หรือการดำน้ำลงดูประการังที่เกาะฟิจิ เป็นต้น

นอกจากนั้น Metaverse ยังช่วยจำลองโลกเสมือนจริงและสร้างสถานการณ์จำลองให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะเบื้องต้นบางอย่างจนเกิดเป็นความชำนาญได้อีกด้วย (Mastery Learning) เช่น การเข้าสู่สภาพในอวกาศ ดวงดาวอื่น หรือ ได้ฝึกงานร่วมกับผู้มีความสามารถในระดับโลก  แม้กระทั่งการออกแบบเสื้อผ้าและเปิดร้านให้ผู้ซื้อต่างชาติได้พบผู้ขายจริง (เสมือน)และได้ทดลองใส่(เสมือน)ก่อนสั่งซื้อจริง

“เราสามารถเดินทางหรือติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่ห่างไกล ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถจำลองห้องเรียนเสมือนที่ไทย แต่ได้ความรู้สึกเหมือนไปนั่งเรียนที่ต่างประเทศ ไม่ว่ายุโรป อเมริกา แม้จะไกลแค่ไหนก็สามารถจำลองพื้นที่นั้นให้กลายเป็นชุมชน (Community) การศึกษาร่วมกันข้ามประเทศได้”

  • มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวสู่อนาคต

ศ.ดร.ใจทิพย์ กล่าวต่อไปว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่ง Metaverse ไม่ให้ได้ทั้งหมด เช่น การรับรส กลิ่น เสียง เป็นต้น บรรยากาศที่สร้างขึ้นจากกราฟิกย่อมไม่มีรสชาติ ไม่เหมือนของจริง 100% จึงไม่อาจทดแทนการเรียนรู้กับโลกในความเป็นจริงได้ทั้งหมด

ดังนั้น Metaverse จึงเป็นทางเลือกเสริม ไม่ใช่การทดแทนโรงเรียนเลยเสียทีเดียว นอกเสียจากว่า จะจัดนิเวศในการรับรู้ ให้ตอบสนองสัมผัสทั้งห้า

ปัจจุบัน มีพื้นที่แซนด์บ็อก (Sandbox) ที่เริ่มปฏิบัติการใช้เทคโนโลยี Metaverse หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีเว็บไซต์และผู้ประกอบการที่เริ่มให้บริการระบบ Metaverse แล้ว เช่น Spatial และ Metaverse Studio หรือ Koji & Metaverse นั่นหมายความว่า โลกเสมือนกำลังเข้ามาใกล้โลกความเป็นจริงขึ้นทุกที

“เราควรเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ หมั่นค้นคว้าข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ Metaverse ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่ก็เป็นดาบสองคมได้ ดังนั้น เราควรทำความเข้าใจและมีสติสัมปชัญญะในการใช้งานสิ่งนี้ รู้จักแยกแยะความจริงและภาพเสมือน”

โลกในยุคดิสรัปชันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว Metaverse ที่กำลังเข้ามาในพื้นที่ชีวิตจริงของเราจะเปลี่ยนโฉมชีวิต New Normal ไปอีกแค่ไหนก็ยังไม่แน่ชัด แต่ในแวดวงการศึกษา

ศ.ดร.ใจทิพย์ เน้นว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการเตรียมผู้เรียนให้มีความสามารถ เท่าทันเทคโนโลยีและการใช้ชีวิตทั้งในโลกเสมือนและโลกแห่งความเป็นจริง

  • ธรรมศาสตร์ ตั้ง “วิทยาเขต” โลกเสมือน

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าในโอกาสครบรอบ 88 ปีขณะนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมเปิดวิทยาเขตแห่งที่ 5 ที่เรียกว่า “Thammasat Metaverse Campus” ที่จะให้บริการทางการศึกษาแก่ผู้คนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกบนแพลทฟอร์ม T-Verse

ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ งานวิจัย รวมทั้งนวัตกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะเข้ามาร่วมกันสร้างแพลทฟอร์มแห่งนี้ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการพัฒนาศักยภาพของทุกคน

ทั้งนี้ วิทยาเขตที่ตั้งอยู่บนโลกเมตาเวิร์ส ภายใต้แพลตฟอร์ม T-Verse ซึ่งภายใน Thammasat Metaverse Campus จะตอบโจทย์ใน 4 ด้าน ได้แก่

  1. Immersive Learning Classrooms ที่จะยกระดับประสบการณ์การเรียนการสอนรูปแบบใหม่
  2. VR Museum of History, Culture and Democracy นอกจากการเรียนวิชาการแล้ว ยังมุ่งเน้นการเรียนการสอนนอกห้องเรียน จากประสบการณ์ที่ได้รับบนเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง หรือ Virtual Reality (VR) Technology
  3. Next Generation Omnichannel Marketplace
  4.  88 Sandbox Spaces เป็นการต่อยอด 88 Sandbox ที่เป็นโครงการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพให้เป็น Next Unicorn ของประเทศ โดยภายใน Thammasat Metaverse Campus
  • DPU อัพหลักสูตรตอบโจทย์คนยุคโลกเสมือน

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยท่ามกลางความท้าทายในโลกการเรียนรู้และเทคโนโลยีว่าจากบทบาทของสถาบันการศึกษาต้องปรับตัวตามเทรนด์ของโลกให้ทันซึ่ง DPU เดินหน้าทำงานอย่างมุ่งมั่นในกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านจาก Web2 ไป Web3 ที่การทำงานจะขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI หรือ Artificial Intelligence รวมถึง Blockchain

ทาง DPU กำลังเดินหน้าเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ให้กับนักศึกษาและมหาวิทยาลัยผ่านหลักสูตร ทักษะที่จำเป็น ตลอดจนความพร้อมของ Ecosystem ที่จะรองรับการเรียนการสอนในอนาคต

ล่าสุด DPU ได้มีการมอบปริญญาบัตรในรูปแบบของ NFT (Non-Fungible Token) นับเป็นก้าวแรกของ DPU ในการเดินหน้าไปสู่โลกของ Metaverse อย่างแท้จริง โดยเปิดให้นักศึกษาที่มีวอลเล็ตดาวน์โหลดและยื่นเอกสารได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีนาคม 2565 

ผู้ที่จบการศึกษาไปแล้วก็สามารถมาลงทะเบียนรับปริญญาในรูปแบบของ NFT ได้เช่นกัน โดยมีการร่วมมือด้านระบบการออกปริญญาบัตรแบบ NFT กับ SmartContract Blockchain Studio และ บริษัท ไอเพ็น สตูดิโอ จำกัด

  • “DPU Core” 6 ทักษะจำเป็นใน Metaverse

โดยแนวทางการพัฒนาของ DPU กับการก้าวเข้าสู่ Web3 มีการเตรียมความพร้อม และก้าวไปทีละขั้น ตั้งแต่การเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยที่ก่อนหน้านี้มีการปรับหลักสูตรที่เรียกว่า DPU Core ประกอบด้วย

6 ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต ได้แก่ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการทำงานเป็นทีม และ ทักษะความรอบรู้เรื่องเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้และนำไปสู่การปฏิบัติจริง

พร้อมกันนี้ก็ได้ปรับการเรียนแบบโมดูล (Module) มีการจัดกลุ่มวิชาที่รวมเอาองค์ความรู้จากหลายคณะมาร่วมกันสอนแบบบูรณาการ ซึ่งความรู้ที่นักศึกษาได้เรียนรู้ไปในแต่ละโมดูลถูกจัดเก็บในรูปแบบของ NFT

ในปีนี้มหาวิทยาลัยจะมีการเตรียมความพร้อมที่จะปรับรูปแบบการเรียนการสอนหรือกิจกรรมบางส่วน ขึ้นไปอยู่บน Metaverse Platform เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสสัมผัสเทคโนโลยีใหม่ซึ่งกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนหลาย ๆ อย่างบนโลกใบนี้

นอกจากนี้ DPU ได้จับมือร่วมกับหลากหลายพันธมิตรจากหลายธุรกิจ ในการสร้าง D.OASIS Metaverse Platform เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและการต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อสร้าง Ecosystem สู่ Web3 และ Metaverse ประกอบด้วย J Ventures, Index Creative Village, Eventpass, Warrix, Prakit Holdings, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และอีกหลากหลายองค์กร

โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Web3 และ Metaverse ของเอเชีย ประเดิมด้วยการเผยแพร่ความรู้ในหัวข้อ What is metaverse? และ Crypto Tax Clinic ในเดือนมีนาคมนี้ และหลักสูตรระยะสั้น Metaverse Developer ที่จะเปิดสอนเดือน เม.ย. นี้

  • แนะธุรกิจปรับ Business Model ครั้งใหญ่

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า โลก Metaverse หรือ โลกเสมือนที่ผสานเข้ากับโลกจริงได้อย่างลงตัว ได้เขย่าให้ธุรกิจทุกวงการต้องสั่นสะเทือนอย่างหนัก เพราะองค์ประกอบหลักของเทคโนโลยีนี้ ได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากกิจวัตรประจำวันของคน

อาทิ การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย การซื้อขายสินค้า การสร้างความบันเทิง และในอนาคตก็อาจจะเกิดวิถีใหม่ในการปฏิสัมพันธ์และการทำธุรกรรมต่างๆ อีกด้วย แม้ Metaverse เป็นการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาเชื่อมโยงเพื่อให้เห็นภาพเสมือนจริง โลกเสมือนจริงดังกล่าวอนุญาตให้ทุกบริษัทสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้

รวมถึงพัฒนาจุดเด่นของตนเองเพื่อต่อยอดธุรกิจตามเทรนด์ผ่านการซื้อแผนที่ (Map) เพื่อนำองค์กรไปสู่การตลาดรูปแบบใหม่ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น The Sandbox (SAND), Decentraland (MANA), Solana (SOL), Cardano (ADA) หรือแม้แต่ Metaverse Thailand และอีกหลาย ๆ แพลตฟอร์ม เป็นต้น

“ธุรกิจต้องรีบปรับแผนธุรกิจแบบ Real Time เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์และเพิ่มช่องทางการตลาดให้ทันคู่แข่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ซุปเปอร์มาเก็ต Walmart ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกใหญ่ที่สุดของโลก ได้นำ Metaverse มาสร้างช่องทางการซื้อแบบ Virtual ลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายซื้อของไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน และได้รับความรู้สึกการ Shopping ที่เสมือนจริงได้ นี้อาจจะเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

อย่างไรก็ตาม   Metaverse ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับอินเทอร์เน็ต แต่เป็นการต่อยอดจากเดิม โดยเมตาเวิร์สจะทำให้คุณเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงที่เลียนแบบทุกแง่มุมในการใช้จริง โดยใช้เทคโนโลยีจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง (VR) เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (AR) รวมทั้งการใช้ AI บนโซเชียลมีเดีย และสกุลเงินดิจิทัล

พูดสั้นๆ คือ อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ผู้คน เรียกดู แต่เมตาเวิร์สเป็นสิ่งที่คุณสามารถเข้าไป“มีชีวิตอยู่” ในโลกเสมือนจริง และเชื่อว่า ในอนาคตจะพัฒนาให้เกิดความเสมือนจริงครบทุกมิติ