Health Link แพลตฟอร์มเชื่อมข้อมูลสุขภาพ สู่ "Big Data" ด้านสาธารณสุข

Health Link แพลตฟอร์มเชื่อมข้อมูลสุขภาพ สู่ "Big Data" ด้านสาธารณสุข

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ผนึกพลัง 12 หน่วยงานภาครัฐ ขับเคลื่อน โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่าน "เทคโนโลยีดิจิทัล” สร้าง "Big Data" ด้านสาธารณสุข ผ่านแพลตฟอร์ม Health Link เชื่อมโยงคลังข้อมูลสู่เครือข่าย "สาธารณสุขไทย"

วันนี้ (17 มีนาคม 2565) คณะกรรมการปฏิรูปกระเทศด้านสาธารณสุข ผนึกพลัง 12 หน่วยงานภาครัฐ ภายใต้ชื่อ “องค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ” ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) เพื่อการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างกัน หวังพัฒนาเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเครือข่ายสาธารณสุขไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี

 

ปัจจุบันการมีสุขภาพที่ดีและการรักษาชีวิตประชาชนคนไทยให้ได้มากที่สุดคือ เรื่องที่สำคัญ ที่ต้องเร่งทำ การปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย กับพันธกิจที่จะช่วย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มุ่งพัฒนาระบบสุขภาพของไทยไปสู่ความเป็นเลิศระดับโลก ด้วยการรวมพลัง เชื่อมโยงดาต้าสำคัญ พัฒนาระบบสาธารณสุขไทย โดยเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยไทยผ่านระบบ Health Link ภายใต้การร่วมมือ รพ.กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

 

ทั้งนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว ไม่เพียงแค่ใน รพ.เท่านั้น แต่ทุกหน่วยงานจะถูกรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการดูแลรักษา ข้อมูลการแพ้ยา ผลห้องปฏิบัติการและหัตถการ ข้อมูลวินิจฉัยที่ผ่านมายินยอมจากผู้ป่วย ในการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบมาตรฐานด้านความปลอดภัยระดับสากล ร้อยเป็นโครงข่ายรวมศูนย์ข้อมูลสุขภาพของไทยอย่างสมบูรณ์ นับเป็นการเปลี่ยนนโยบายด้านสาธารณสุขครั้งสำคัญ

 

ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาท ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ มะเร็งรักษาทุกที่ เทเลเมดิซีน และเป็นฐานข้อมูลสำคัญต่อยอดงานบริการด้านสุขภาพและป้องกันโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยเป็นอย่างมาก เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องนำคลังข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาช่วยในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข และการวิเคราะห์เพื่อพัฒนางานบริการ จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพและการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสอดรับนโยบายการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลสุขภาพ

 

12 หน่วยงานรัฐ 

 

  • กระทรวงกลาโหม
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  • กระทรวงสาธารณสุข
  • กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  • กรุงเทพมหานคร 
  • ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
  • สภากาชาดไทย
  • มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
  • สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

 

พัฒนาเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ 

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับ “องค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศ” เป็นความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐทั้ง 12 หน่วย ที่ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ที่ยังกระจัดกระจายอยู่ในฐานข้อมูลของหน่วยบริการต่างๆ

จึงมีข้อตกลงร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange : HIE) จากระเบียนข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Personal Health Record :PHR) ของแต่ละฝ่ายระหว่างกัน ทำให้เกิดประโยชน์ของการบูรณาการข้อมูลเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ และในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพนี้จะเกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น

  • ประชาชนที่มีสิทธิเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้ทุกหน่วยบริการ
  • การบริการแพทย์ทางไกล
  • การบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพ
  • การดำเนินการในระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น

 

สร้าง Big Data ด้านสาธารณสุข

 

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นับเป็นก้าวย่างสำคัญยิ่ง ที่จะนำมาสู่การสร้างความร่วมมือพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มกลางสู่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ (National Health Information Platform) ซึ่งจะมีคลังข้อมูล หรือ Big Data ด้านสาธารณสุขขนาดใหญ่ แม้จะเกิดประโยชน์ต่อเครือข่ายสาธารณสุขไทยและนวัตกรรมในหลายๆ ด้าน

 

แต่ในท้ายที่สุดแล้ว มีเป้าหมายเดียวกันคือ ยึดหลักการให้บริการประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้ “โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเจ็บป่วยไปรักษาที่ไหน แพทย์สามารถตรวจสอบประวัติการรักษา และให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ”

 

ระบบ Health Link เชื่อมข้อมูล รพ. กว่า 100 แห่ง

 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาด้วยความพยายามของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้นำร่องในการเชื่อมโยงข้อมูล ด้านสุขภาพผ่าน ระบบ Health Link ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลกว่า 100 แห่ง ที่สามารถเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นได้สำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นำโดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ต้องการปฏิรูประบบบริหารจัดการฐานข้อมูล และการสื่อสารของประเทศให้มีประสิทธิภาพสามารถรองรับสถานการณ์การระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”

 

ระบบ Health Link คืออะไร 

 

Health Link คือ แพลตฟอร์ม สำหรับเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้แพทย์สามารถเข้าดูข้อมูลสุขภาพของคนไข้จากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการโดยคนไข้จะสามารถกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ 

 

Health Link เกิดขึ้นได้อย่างไร 

 

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้เกิด Health Link เชื่อมข้อมูลสุขภาพกับโรงพยาบาลในภาคี และมีการสนับสนุนโรงพยาบาลในการพัฒนาระบบและกระบวนการที่ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกิดขึ้นได้ตามมาตรฐานที่เราตกลงกันไว้ 

 

ประโยชน์ของ Health Link

 

ประโยชน์สำหรับคนไข้ 

  • คนไข้จะได้รับความสะดวกสบาย และประหยัดเวลา ไม่ต้องเดินทาง ไปขอข้อมูลจาก โรงพยาบาลเอง
  • ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน แพทย์จะทำการรักษา และวินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น ทำให้คนไข้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น  

 

ประโยชน์สำหรับแพทย์ 

  • แพทย์สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงที และรวดเร็วยิ่งขึ้น 
  • สามารถทำการวินิจฉัยได้แม่นยำ และประหยัดเวลามากขึ้น 

 

สปสช. หนุนสร้างกลไกเข้มแข็ง 

 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยถึงบทบาทของ สปสช. ในการโครงการฯ ว่า สปสช. พยายามที่จะทำให้กลไก มีความเข้มแข็งขึ้น เดิมทีหาก รพ. จะเบิกเงิน ทาง สปสช. มักจะขอข้อมูลจาก รพ. ให้ส่งมาเบิก ซึ่งส่วนใหญ่ รพ.ให้ความร่วมมือดี 

 

แต่ขณะนี้ เราจะเปลี่ยนใหม่เพื่อสนับสนุนให้การบูรณาการข้อมูลดีขึ้น โดยนำข้อมูลที่ท่านบูรณาการมาใช้ในการเบิกมากขึ้น แทนที่จะขอตรงจาก รพ.แต่ละแห่ง ก็เปลี่ยนมาเอาจากข้อมูลที่มีการบูรณาการแล้ว 

 

ข้อดีคือ แต่ละโรงพยาบาลไม่ต้องส่งแยกกันส่งข้อมูล แต่ข้อมูลจะถูกส่งไปรวมใน ระบบ Health Link โดย สปสช. จะไปเอาข้อมูล จาก Health Link และสามารถผูกข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ไม่จำเป็นต้องครบเดือนแล้วค่อยส่ง ทำให้การเบิกรวดเร็วขึ้น ความถูกต้องก็ดีขึ้น นับเป็นกลไกเสริม ความพยายามในการเชื่อมโยงข้อมูลการบริการให้ดีขึ้น โดยเริ่มนำร่องในเขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และ บึงกาฬ ซึ่งในเดือนก.พ. เริ่มมีการส่งข้อมูลเข้ามาแล้ว ขณะที่ กทม. กำลังดำเนินการ 

 

"เนื่องจากปีที่ผ่านมา สปสช. เริ่มมีการบูรณาการบัตรทองในต่างจังหวัด จุดสำคัญคือ เราอยากให้ผู้ป่วยเมื่อเดินทางไปรักษาที่ไหนก็สามารถมีข้อมูล จึงจำเป็นต้องนำข้อมูลอีกที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วย ในรูปแบบของการรวมข้อมูล และหากผู้ป่วยอนุญาต ก็สามารถดึงประวัติเขามาดูได้ เป็นประโยชน์ในเรื่องการบริการ"

 

"ทั้งนี้ หากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทั้งประเทศ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดคือ การบริการที่รักษาที่ไหนที่ไหนก็ได้ มีข้อมูลเชื่อมโยงกัน เป็นประโยชน์กับการบริการสำหรับประชาชน เราหวังผลตรงนี้ ซึ่งก็อยู่ที่ความร่วมมือ และความเข้าใจ ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็วางเป้าไว้คาดว่าจะบูรณาการกันได้โดยใช้เวลาราว 1-2 ปี รวมถึง อาศัยความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และสปสช. จะเป็นกลไกสนับสนุนและเสริม" นพ.จเด็จ กล่าว

 

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตสุขภาพที่ 13 ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูประบบการบริการและการรักษาประชาชนของประเทศ โดย กรุงเทพมหานคร จะอำนวยความสะดวก และให้การความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ประสบความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้”

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์