ถอดบทเรียน "ทีมงานคิวเทโอปป้า" รวม 3 พฤติกรรมผิดกฎหมายที่ "ลูกจ้าง" ห้ามทำ

ถอดบทเรียน "ทีมงานคิวเทโอปป้า" รวม 3 พฤติกรรมผิดกฎหมายที่ "ลูกจ้าง" ห้ามทำ

จากกรณี "ทีมงานคิวเทโอปป้า" กระทำความเสียหายหลายกระทงต่อนายจ้าง ซึ่งมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางกฎหมายให้ได้ศึกษา ไปดูกันว่า พฤติกรรมที่ลูกจ้างไม่ควรทำ เสี่ยงโดนไล่ออก และผิดกฎหมาย มีอะไรบ้าง

โลกการทำงานมีปัญหาอยู่แบบไม่จบสิ้น ไม่ใช่แค่กับตัวงานเท่านั้น แต่การบริหารบุคลากร “พนักงาน” ก็เป็นปัจจัยหลักที่สามารถชี้วัดว่าองค์นี้มีประสิทธิภาพขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับองค์กร หรือบริษัทยุคใหม่ที่มีลักษณะขนาดเล็กลง เป็นโฮมออฟฟิศ หรือที่เรียกว่าการทำงานแบบพี่น้อง ดังนั้นกฎเกณฑ์บางอย่างก็ถูกลดความสำคัญลง หรือแม้แต่ตำแหน่งลำดับงานก็มีความใกล้ชิดกันกว่าแต่ก่อน แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาก็ใช่ว่าจะเป็นช่องทางให้พนักงานหรือลูกจ้างหาช่องโหว่เอาเปรียบบริษัทจากความใกล้ชิดเหล่านี้

จากกรณีดราม่าทีมงานคิวเทโอปป้า หลังจาก คิวเทโอปป้า ยูทูบเบอร์ชื่อดังซึ่งเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง ออกมาเปิดใจเรื่องที่ถูกกลุ่มลูกจ้างซึ่งเป็นทีมงานเบื้องหลัง กระทำความเสียหายหลายอย่าง ประเด็นนี้มีเกร็ดน่ารู้ทางกฎหมายให้ได้ศึกษา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รวบรวมพฤติกรรมที่ลูกจ้างไม่ควรทำ ซึ่งเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย และมีสิทธิถูกไล่ออกได้โดยไม่รู้ตัว

 

ถอดบทเรียน \"ทีมงานคิวเทโอปป้า\" รวม 3 พฤติกรรมผิดกฎหมายที่ \"ลูกจ้าง\" ห้ามทำ

  • เอาข้อมูลบริษัทไปให้คนภายนอก

การกระทำบางอย่างของลูกจ้าง หรือพนักงานอาจจะคิดว่าไม่ได้เสียหายอะไรมากนัก เช่น ในกรณีทีมงานคิวเทโอปป้า มีการพูดถึงเรื่องราวภายในบริษัท เล่าถึงโปรเจคสำคัญ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงอะไรในออฟฟิศ แต่ถ้าการแชร์ บอกต่อ บอกเล่าบางอย่างโดยเฉพาะส่วนที่เป็นความลับเฉพาะ หรือส่วนสำคัญที่ส่งผลกับบริษัทโดยตรง ต้องขอบอกเลยว่าอาจจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย

โดยประมวลกฎหมายอาญาระบุไว้ว่า

มาตรา 322 ผู้ใดเปิดผนึกหรือเอาจดหมาย โทรเลข หรือเอกสารใด ๆ ซึ่งปิดผนึกของผู้อื่นไป เพื่อล่วงรู้ข้อความก็ดี เพื่อนำข้อความในจดหมายโทรเลขหรือเอกสารเช่นว่านั้นออกเปิดเผยก็ดี ถ้าการกระทำนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังสามารถถูกฟ้องทางแพ่ง ข้อหาละเมิดจากการกระทำที่ส่งผลให้บริษัทเสียหายได้

ก่อนหน้านี้ในปี 2559 มีกรณีพนักงานเอไอเอสถือวิสาสะนำข้อมูลลูกค้าไปให้บุคคลภายนอก ซึ่งทางบริษัทก็ได้มีการดำเนินการทางกฎหมายอาญาเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า ห้ามคณะกรรมการบริษัทไปทำบริษัทคู่แข่ง หรือเปิดบริษัทเช่นเดียวกับบริษัทเดิม เพื่อป้องกันการซื้อขายข้อมูลที่สามารถส่งผลกระทบต่อบริษัทนั้นโดยตรง

มาตรา 1168 วรรคสาม  “ท่านห้ามมิให้ผู้เป็นกรรมการประกอบการค้าขายใดๆ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างค้าขายอื่นซึ่งประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของบริษัท โดยมิได้รับความยินยอมของที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น” 

  • นินทานายจ้าง (แม้กระทั่งในไลน์)

การบ่น ด่า เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานในสถานประกอบนั้น ไม่เว้นแต่ในโซเชียลมีเดีย อาจเป็นได้ทั้งความผิดทางแพ่งและหรือทางอาญา รวมทั้งอาจถือเป็นความผิดทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างด้วย

โดยหลัก ๆ อาจจะเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 326 ระบุไว้ดังนี้ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำนักงานกฎหมายนำชัย พรมทา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกฎหมายการนินทาเจ้านาย โดยยกคดีตัวอย่างไว้ว่า มีลูกจ้างรายหนึ่งได้ส่งข้อความลงในไลน์กลุ่มพนักงานของบริษัทเชิงระบายความแค้นใจที่มีต่อนายจ้างว่า “นายจ้างกลั่นแกล้งตน เป็นนายจ้างที่ไม่ดี เอาเปรียบลูกจ้าง และกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน”

จากคำพิพากษาฎีกา มีความเห็นว่า ลูกจ้างรายนี้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 

มาตรา 119 (2) และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์

 

  • ลักทรัพย์นายจ้าง

ข้อนี้ไม่ว่าใครก็ไม่ควรทำทั้งนั้น สำหรับการลักทรัพย์ของผู้อื่น จากกรณีทีมงานคิวเทโอปป้า เป็นความผิดทางอาญาและมีโทษจำคุก

มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

นอกจากนี้ยังมีมาตราที่เพิ่มโทษหนักขึ้นกรณีลักทรัพย์ด้วย อย่างกฎหมายอาญา มาตรา 335 ที่ระบุว่า

ผู้ใดลักทรัพย์
(1) ในเวลากลางคืน
(2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ
(3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ
(4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
(5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
(6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
(7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้น ๆ
(9) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ
(10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
(11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
(12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

  • ข้อกฎหมายเสี่ยงถูกเลิกจ้าง แบบไม่ได้ค่าชดเชย

นอกจากพฤติกรรมเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายแล้ว ยังมีในส่วนของข้อจำกัดตามกฎหมายที่ลูกจ้างสามารถเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยได้ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ระบุไว้ในกรณีใดกรณีหนึ่งตามนี้

1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน โดยหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

5. ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

6. ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกคามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในกรณีนี้ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

-----------------------------------

อ้างอิง keybookme.comdharmniti.co.ththaienglaw.com,decha.comwp-lawoffice.comsenate.go.thdharmniti.co.thdst.co.th