โอมิครอนกลายพันธุ์ “ไวรัส” อยู่รอดต้องปรับตัว
สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ไม่มีข้อมูลว่าอัตราป่วยและอัตราตายสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ทว่าตามธรรมชาติของ “ไวรัส” การกลายพันธุ์คือการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด จากนี้ต้องเฝ้าดูว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 จะสามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าหรือไม่
ข่าวการกลายพันธุ์ของโอมิครอนบนเกาะฮ่องกง ที่ก่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ “BA.2.2” เป็นตำแหน่งสไปค์โปรตีน I1221T (S:I 1221T) ซึ่งมีแพร่ระบาดไปยังอังกฤษแล้วเช่นกันทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำมาซึ่งการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้นและนำไปสู่การเป็นภัยร้ายในอนาคตได้หรือไม่อย่างไรนั้น
ล่าสุดใน ประเทศไทยพบมีผู้ติดเชื้อเข้าข่าย “BA.2.2” จำนวน 4 ราย เป็นต่างชาติ 1 ราย คนไทย 3 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์และข้อสรุปทางการจาก GISAID จากการติดตามความสามารถในการแพร่เชื้อ ความรุนแรง หรือความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อหรือวัคซีน ยังไม่พบสัญญาณที่น่ากังวล
อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 5-11 มี.ค.2565 จำนวน 1,882 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตาเพียง 6 ราย คิดเป็น 0.3% ที่เหลือ 1,961 ราย เป็นสายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็น 99.7% สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนพบเป็น BA.1 จำนวน 610 ราย คิดเป็น 32% และ BA.2 จำนวน 1,272 ราย คิดเป็น 68% ซึ่งในฐานข้อมูล GISAID ที่เป็นฐานข้อมูลเชื้อก่อโรคโควิด 19 ของโลกพบว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ยังเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักทั่วโลก
จากการประเมินเบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์สำหรับสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ณ วันที่ 13 มี.ค.2565 จากข้อมูลทางระบาดวิทยาไม่มีข้อมูลว่าแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ไม่มีข้อมูลว่าอัตราป่วยและอัตราตายสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ไม่มีข้อมูลว่ามีผลให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง หรือหลีกหนีวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ และไม่มีข้อมูลแต่การกลายพันธุ์นี้ไม่ควรส่งผลต่อการฟักตัวหรือระยะแพร่เชื้อของสายพันธุ์นี้
ทว่าตามธรรมชาติของ “ไวรัส” การกลายพันธุ์คือการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ด้วยการหลบภูมิหนีจากวัคซีน หรือพัฒนากลายพันธุ์ให้สามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้มากขึ้น ถึงจะเป็นแนวทางให้สามารถอยู่รอดได้ ขณะที่ร่างกายของมนุษย์ก็ต้องปรับตัวต่อสู้กับเชื้อ “ไวรัส” ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้เจ็บป่วย ด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หรือลดความรุนแรงของเชื้อโรคลงหากเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้อยู่รอด หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ่อนแอก็พ่ายแพ้ไป
จากนี้ต้องเฝ้าดูว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 จะสามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าหรือไม่ มีความรุนแรงมากขึ้นทำให้เสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ และหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ หากการกลายพันธุ์ไม่ได้กระทบ 3 ส่วนนี้ก็อาจเป็นการกลายพันธุ์ทั่วไปตามธรรมชาติของเชื้อไวรัส แต่ไม่ว่าจะเป็นกลายพันธุ์อย่างไร มาตรการป้องกันตัวแบบครอบจักรวาลหรือ Universal Prevention และวัคซีนก็ยังจำเป็นที่ยังต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ดำเนินเศรษฐกิจ ชีวิตกลับมาเป็นปกติและอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้อย่างปลอดภัย