ไทยเจอ 4 รายมีโอกาสเป็นโอมิครอน BA.2.2

ไทยเจอ 4 รายมีโอกาสเป็นโอมิครอน BA.2.2

รอบสัปดาห์ โอมิครอน BA.2 ในไทย เพิ่มขึ้นกว่า 15% อยู่ที่ 67%  ขณะที่พบ 4 รายมีโอกาสเป็น BA.2.2 อาการดีทุกคน ระบุ "ยังเร็วเกินไป" ที่จะสรุปว่าทำเป็นเหตุทำคนฮ่องกงเสียชีวิตจากโควิด-19 มากขึ้น

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19  ประเด็น “การจำแนกตามสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังและการกลายพันธุ์ของเชื้อ” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า  

การเฝ้าระวังในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่ 5-11 มี.ค.2565 พบเป็น

  • สายพันธุ์โอมิครอน 99.69 %
  • สายพันธุ์เดลตาประปราย 0.31 %   

เมื่อตรวจสอบสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน พบเป็น

  • BA.1  คิดเป็น 32.4 %
  • BA.2 คิดเป็น 67.6 % จากที่สัปดาห์ก่อนเจออยู่ที่ราว 52%

โดยพบ BA.2 ในทั้ง 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศในสัดส่วนเกิน 50 % ยกเว้นเขตสุขภาพที่1(ภาคเหนือตอนบน) และ 11 (ภาคใต้ตอนบน) ที่สัดส่วนยังไม่ถึงครึ่ง   

อย่างไรก็ตาม ในฐานข้อมูล GISAID ที่เป็นฐานข้อมูลเชื้อก่อโรคโควิด19ของโลก  พบว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ยังเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักทั่วโลก  ส่วน BA.2 ขณะนี้มีรายงานสายพันธุ์ย่อยแล้ว 3 สายพันธุ์ คือ

  • BA.2.1 จำนวน  532 ราย
  • BA.2.2 จำนวน 68 ราย
  • BA.2.3 จำนวน 1,938 ราย 

จะเห็นว่า BA.2.1 และ BA.2.3 มีการรายงานเข้าไปจำนวนมากกว่า BA.2.2 แต่ทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบวิเคราะห์ของ GISAID ว่าจะกำหนดชื่อให้ใช้ตามนี้หรือไม่ คาดว่าอีก 2-3 วันอาจจะมีความชัดเจน

สำหรับ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ที่มีการกลายพันธ์ที่ตำแหน่งสไปก์โปรตีน I1221T โดยพบหลัก ๆ ในฮ่องกง 386 ราย และอังกฤษ 289 ราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่มาจากคนละสาย จำเป็นจะต้องมีการต้องติดตามต่อไป  แต่จากการประเมินเบื้องต้น ณ วันที่ 13 มี.ค. 2565 ใน 4 เรื่อง คือ 

1. ความสามารถในการแพร่ (transmission) จากข้อมูลทางระบาดวิทยาไม่มีข้อมูลว่าแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น

2. ความรุนแรงของโรค ไม่มีข้อมูลว่าอัตราป่วยและอัตราตายสูงวก่า พันธุ์อื่นๆ ไม่มีข้อมูลทางระบาดวิทยามาสนับสนุนว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอนที่มีการกลายพันธ์ สไปก์โปรตีน I1221T มีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ

3. ผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ไม่มีข้อมูลว่ามีผลให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง หรือหลีกหนีวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ

4. ระยะฟักตัวและระยะเวลากักตัว เนื่องจากไม่มีข้อมูลแต่การกลายพันธุ์นี้ไม่ควรส่งผลต่อการฟักตัวหรือระยะแพร่เชื้อของสายพันธุ์นี้

“ส่วน อัตราการเสียชีวิต ที่สูงขึ้นในฮ่องกง ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเป็นเพราะ โอมิครอนBA.2.2  ซึ่งยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ทำให้เพิ่มพยาธิสภาพในการทดสอบทางห้องปฏิบัติการหรือในสัตว์ทดลอง และอะไรที่จะอธิบายว่าทำลายอวัยวะของร่างกาย นอกจากนี้ จากการติดตามสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่ระบาดใหญ่ที่ผ่านมาทั้งอัลฟา เดลตา และโอมิครอน ยังไม่มีสายพันธุ์ย่อยที่มีความน่ากังวลเป็นพิเศษมากไปกว่าสายพันธุ์ที่น่ากังวลหลัก แต่เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ช่วยประเมินโอกาสในการแพร่ะกระจายของสายพันธุ์ใหม่ได้ และสายพันธุ์ย่อยBA.2.2 ยังไม่ถูกประเมินให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล” นพ.ศุภกิจกล่าว 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า  จากการตรวจทานข้อมูลในประเทศไทย ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการสุ่มตัวอย่างและถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวส่งเข้าระบบGISAID สัปดาห์ละ 500-600 ตัวอย่างที่ผ่านมานั้น พบว่า  มี 4 รายที่มีโอกาสเป็นโอมิครอนBA.2.2   โดยเป็นต่างชาติ 1 ราย และคนไทย 3 ราย  ทั้งหมดอาการสบายดีและบางรายอาจจะหายแล้ว โดยหาก GISAIDกำหนดชื่อสายพันธุ์อย่างเป็นทางการแล้ว ไทยก็จะสามารถยืนยันสายพันธุ์ทางการของทั้ง 4 รายที่เข้าข่ายนี้ด้วย

ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง กล่าวถึงประเด็น “การเข้าสู่ระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด-19” ว่า จากการให้บริการักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือ OPD เจอ แจก จบ ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. พบพื้นที่ส่วนใหญ่ใน 76 จังหวัดที่ สธ. ดูแลผลประเมินอยู่ในระดับดีถึงดีมาก มีบริการที่ครอบคลุมมากขึ้น ในส่วนของกทม.มีการให้บริการทั้งรพ.สังกัดกรมการแพทย์ กทม. เอกชน คลินิกต่างๆ ภาพรวมระบบ OPD ซึ่งเป็นบริการเสริมมีส่วนช่วยประชาขนผู้ติดเชื้อได้เป็นอย่างดี ในขณะนี้ระบบ HI ก็ยังมีอยู่ อย่างไรก็ตามการให้บริการโทรสายด่วน 1330 ก่อนหน้ามีการโทรใช้บริการจำนวนมากจากเดิมที่มีสูงถึง 9 หมื่นรายต่อวัน มีผู้ป่วยรอสายคงค้างจำนวนมาก แต่หลังเปิด OPD เจอ แจก จบ ทำให้มีผู้โทรใช้บริการเหลือ 4-5 หมื่นราวต่อวัน ในจำนวนนี้กว่า 3 หมื่นรายสามารถดูแลเข้าระบบได้