ตรวจ ATK พบติดโควิด ไม่ต้องตรวจยืนยันซ้ำ ไฟเขียววิธีตรวจโควิด-19 แบบใหม่

ตรวจ ATK พบติดโควิด ไม่ต้องตรวจยืนยันซ้ำ ไฟเขียววิธีตรวจโควิด-19 แบบใหม่

กรมวิทย์ไฟเขียววิธีใหม่ตรวจยืนยันโควิด-19  ใช้เวลา 30 นาที - ราคาถูกกว่า RT-PCR ย้ำตรวจ ATK พบติดโควิด ไม่ต้องตรวจยืนยันซ้ำ  จำเป็นเฉพาะกลุ่มเสี่ยงป่วยหนัก - นอนรพ. ปัดไม่ใช่เพราะห้องแล็บไม่พอ ระบุมีศักยภาพตรวจได้ถึง 2 แสนตัวอย่างต่อวัน ปัจจุบันตรวจ 70,000 ตัวอย่าง   

  เมื่อวันที่ 7 มี.ค.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า   เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีในการตรวจหาเชื้อมีการปรับปรุงตลอด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกแนวทางคำแนะนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับไวรัสก่อโรคโควิด-19 ฉบับล่าสุด  โดยคำแนะนำที่เปลี่ยนจากเดิม คือ

1.สิ่งส่งตรวจที่เหมาะสมกับการตรวจสารพันธุกรรม คือ การเก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูก หรือน้ำลาย  ส่วนสิ่งส่งตรวจที่เหมาะสมกับการตรวจหาแอนติเจน หรือชุดตรวจ ATK กรณีชุดตรวจแบบ Professional Use คือ ตัวอย่างหลังโพรงจมูก กรณี Home Use เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกด้านหน้าหรือน้ำลาย
   

“การเก็บน้ำลายควรทำในตอนเช้าหลังตื่นนอน เพราะเชื้อจะสะสม เก็บโดยการขากเอาน้ำลายส่วนลึกของลำคอออกมาด้วย งดแปรงฟัน หรือใช้น้ำยาบ้วนปาก งดอาหาร ยาอม ของขบเคี้ยว อย่างน้อย 30-60 นาที ส่วนกรณีเด็กควรดูไม้สวอปที่เหมาะสม ไม่แข็งมาก เพราะจมูกเด็กบอบบาง หรือใช้เก็บน้ำลายก็จะช่วยลดอันตรายจากการแหย่จมูก”นพ.ศุภกิจ กล่าว

2.การตรวจยืนยันด้วยสารพันธุกรรม ซึ่งข้อกำหนดคือ ต้องตรวจหาสารพันธุกรรมได้ขั้นต่ำไม่เกิน 1,000 copies/ml และตรวจพบยีนของไวรัสมากกว่า 1 ยีนหรือตรวจพบเพียง 1 ยีนแต่พบมากกว่า 1 ตำแหน่งในยีนนั้น  ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงวิธี RT-PCR ที่ผ่านเกณฑ์  จึงใช้เป็นวิธีหลัก แต่ขณะนี้มีเทคโนโลยีอื่น คือ LAMP และ CRISPR ซึ่งเดิมตรวจได้ไม่เกิน 4,000 copies/ml ถือว่าความไวไม่พอ แต่ปัจจุบันมีการระบุว่า สามารถตรวจได้ต่ำกว่า 1,000 copies/ml และสามารถตรวจยีนไวรัสได้ 2 ตำแหน่งด้วย เพื่อเป็นการยืนยันผล เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สามารถตรวจยืนยันด้วยวิธีเหล่านี้ได้ไม่เฉพาะแต่ RT-PCRเท่านั้น   ซึ่งการตรวจเหล่านี้ถือว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ ก็ต้องไปยื่นขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก่อนว่ามีคุณสมบัติตามที่กำหนดในการยอมให้เป็นการตรวจยืนยันอีกวิธีนอกจาก RT-PCR

3.การตรวจ ATK พบโควิด ในผู้สัมผัสโรค หากไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง ให้เข้าระบบ HI/ CI หรือรักษาแบบผู้ป่วยนอก OPD หากมีอาการหรือความเสี่ยงอาการรุนแรง จะตรวจสารพันธุกรรม เพื่อส่งรักษาต่อใน รพ.  ส่วนกรณีตรวจATKหากผลลบ ไม่มีอาการก็ทำการกักตัวเอง ตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วันหรือเมื่อมีอาการ  และ4.การคัดกรองด่านระหว่างประเทศยังใช้ RT-PCR เป็นหลัก แต่อาจพิจารณาใช้การตรวจหาแอนติเจนด้วยเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ (Machine based assay : MBA) หรือวิธีการตรวจสารพันธุกรรมที่สามารถตรวจตัวอย่างได้ครั้งละจำนวนมากๆ และใช้เวลาตรวจไม่นาน ใช้เวลาราว 30 นาที จากที่ RT-PCR ใช้เวลา  3-4 ชั่วโมง  สามารถนำมาใช้ได้เพราะความไว และความแม่นยำยอมรับได้  ส่วนการจะนำมาใช้หรือไม่อยู่ที่ระดับนโยบาย

    ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้ที่ตรวจATKพบติดโควิด จำเป็นต้องไปตรวจยืนยันด้วยวิธีRT-PCR หรือ LAMP และ CRISPRหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า  ไม่จำเป็น เนื่องจากโอมิครอนไม่ว่า BA.1 หรือ BA.2 ความรุนแรงไม่มาก ต้องถามตัวเองว่าตรวจ ATK พบติดโควิดแล้ว เรามีความเสี่ยงทางการแพทย์หรือไม่ เช่น น้ำหนักมาก อ้วน เบาหวาน ความดัน ไตวายเรื้อรัง โรคปอด หรือโรคประจำตัวอื่นๆ หากผลบวกแล้วเป็นกลุ่มนี้ก็ควรไปพบแพทย์ให้ประเมินอาการและต้องตรวจซ้ำ RT-PCR เมื่อต้องเข้ารับการรักษาในรพ. ไม่จำเป็นต้องไปตรวจซ้ำทุกราย และไม่แนะนำใช้ RT-PCR ไปตรวจเชิงรุกว่าใครติดเชื้อ เพราะต้องใช้พลังในการตรวจและค่าใช้จ่ายสูง ถึงขณะนี้ตรวจไปแล้ว 20 กว่าล้านตัวอย่าง เฉลี่ยตัวอย่างละ 2 พันบาทก็เป็นหมื่นล้านบาท

     “การตรวจATK ก็จะช่วยได้ ยิ่งคนไปมีความเสี่ยงมาก็ใช้ ATK ตรวจได้ในการคัดกรองตัวเอง จะตรวจ RT-PCR เฉพาะมีความเสี่ยงทางการแพทย์และเข้ารักษาใน รพ.รวมถึงวิธีใหม่ที่กรมวิทย์ให้ใช้ตรวจยืนยันได้นอกจากRT-PCRด้วย แม้ว่าจะมีราคาถูกลงกว่าRT-PCRที่ราคา 900 บาทเหลือราว 400-500 บาท ก็ไม่มีความจำเป็นไปต้องไปตรวจยืนยัน”นพ.ศุภกิจ กล่าว  
      ถามย้ำว่ากำหนดให้ผลตรวจATKพบโควิด ไม่ต้องตรวจแล็บยืนยัน เป็นเพราะห้องแล็บไม่สามารถรองรับได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ไม่ใช่ เนื่องจากห้องแล็บทั่วประเทศผ่านการรับรองจากรมวิทย์ 516 แห่ง มีศักยภาพตรวจได้วันละ 2 แสนตัวอย่าง ขณะที่ปัจจุบันมีการตรวจอยู่ที่ 70,000 ต่อวัน ยังสามารถรองรับได้อีก  

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์