อุบัติเหตุทางน้ำ ภัยใกล้ตัวที่ช่วยได้ ด้วยความรู้เหล่านี้

อุบัติเหตุทางน้ำ ภัยใกล้ตัวที่ช่วยได้ ด้วยความรู้เหล่านี้

หากตกน้ำหรือเห็นคนตกน้ำเหมือนกรณี“แตงโม” ต้องช่วยเหลืออย่างไร ผู้เชี่ยวชาญด้านกู้ชีพกู้ภัย รวบรวมความรู้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำมานำเสนอ

จากเหตุการณ์ดาราสาว แตงโม-นิดา พัชระวีระพงษ์ เสียชีวิตจากการจมน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่ารูปคดีหรือสาเหตุยังไม่ชัดเจน แต่ก็สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมและผู้คนตระหนักถึงการช่วยเหลือดูแลตัวเองในการเดินทางทางน้ำกันมากขึ้น

  • แม่น้ำเจ้าพระยา มีกระแสน้ำเชี่ยว

อุบัติเหตุทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นในทะเลหรือในแม่น้ำลำคลอง เป็นภัยที่คนไม่เห็น หากจะเดินทางทางน้ำควรระวังภัยอย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่น้ำเจ้าพระยา ที่คนส่วนใหญ่ตกน้ำหายไปแล้ว ส่วนมากจะเสียชีวิต เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำที่มีกระแสน้ำรุนแรงหมุนวนมาก 

“ปกติ แม่น้ำเจ้าพระยา มีช่วงเวลาขึ้นลง และมีช่วงเปลี่ยนคือหยุดนิ่งอยู่พักหนึ่งแล้วก็เปลี่ยนทิศทาง เวลามีกระแสน้ำ ถ้าอยู่ริมฝั่ง กระแสน้ำก็จะเบา แต่ถ้าอยู่ตรงกลางร่องน้ำ ที่มีเรือใหญ่ๆ วิ่งผ่าน เช่น เรือลากบรรทุกทราย เขามักจะวิ่งตรงกลาง

เพราะมีความลึก อย่างน้อย 16-17 เมตร ขึ้นไป ที่ตรงนั้นจะมีกระแสน้ำ นั่นคือสิ่งที่ยากที่สุดของเรา นักกู้ภัย ซึ่งปกติแล้วถ้ามีคนตกกลางแม่น้ำ หรือกระโดดจากกลางแม่น้ำ มันทำงานยากมาก หายากกว่าริมฝั่ง”

อุบัติเหตุทางน้ำ ภัยใกล้ตัวที่ช่วยได้ ด้วยความรู้เหล่านี้ แม่น้ำเจ้าพระยา Cr.Kanok Shokjaratkul

กิตติพจน์ ศุภมาตรา ครูสอนดำน้ำและอาสาสมัครกู้ภัยทางน้ำ ผู้มีประสบการณ์ช่วยเหลือกู้ชีพกู้ภัยทางน้ำมากว่า 10 ปีให้ข้อมูลในรายการ รู้สู้กู้ภัย ทางช่องไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 ไว้เป็นความรู้

  • ถ้าเจอคนตกน้ำ จะต้องทำอย่างไร

กิตติพจน์ แนะนำว่า หากเราพบเจอคนตกน้ำ เราจะต้อง "ตะโกน โยน ยื่น"  

ตะโกน เพื่อให้คนที่อยู่รอบข้างๆ ได้เตรียมของเตรียมอะไรมาช่วยเราด้วย โยน คือการโยนอุปกรณ์ หรืออะไรที่มันลอยน้ำให้เขาเกาะได้ ยื่น คือยื่นไม้หรือยื่นอะไรให้เขาจับ แล้วดึงเขาเข้าฝั่ง นี่คือวิธีที่ดีที่สุด

วิธีที่ไม่แนะนำเลยคือ การโดดลงน้ำไปช่วย อันตรายมาก ประชาชนทั่วไม่ได้เรียนรู้เรื่องการช่วยเหลือมาอย่างถูกวิธี เขาอาจจะกอดเรา พากันลงไปทั้งสองคนได้”

อุบัติเหตุทางน้ำ ภัยใกล้ตัวที่ช่วยได้ ด้วยความรู้เหล่านี้

  • สิ่งแรกเมื่อคนตกน้ำ...ตะโกน

“ตะโกนเลยครับ เพราะคนที่ได้ยิน หรือคนที่อยู่ข้างๆ จะบอกกัน ให้ไปหาอุปกรณ์มา เพราะคนตกน้ำ จะยังไม่จมไปทันที ยังมีเวลาที่เขาผลุบๆ โผล่ๆ แม้กระทั่งคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น นาทีนั้นเขาพยายามเอาตัวรอด

ไม่ว่าเหตุเกิดเวลากลางวันหรือกลางคืน เราก็ทำแบบเดียวกัน คือ ตาต้องมองเขาไว้ตลอดเวลา ว่าเขาอยู่ตรงไหน ไม่ละสายตาจากเขา จะได้รู้ว่าเขายังอยู่ ตะโกนแบบไม่ต้องหันไป ใช้เสียง แต่ตาจับจ้องคนตกน้ำ ให้เห็นว่าเขายังอยู่หรือหายไปตรงไหน เมื่ออุปกรณ์มาถึง จะได้ช่วยอย่างรวดเร็ว เพราะจุดที่จมลงไป เป็นจุดที่สำคัญมากๆ “

  • การแจ้งเจ้าหน้าที่

การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญ เจ้าหน้าที่จะพยายามถาม จนกว่าจะได้ข้อมูลชัดเจน เพื่อการค้นหาที่รวดเร็ว คนรอบข้างที่อยู่ใกล้เคียง มีใครเห็นบ้าง นั่นคือข้อมูลที่สำคัญที่สุด

  • การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ แยกเป็น 2 ประเภทคือ

-เมื่ออยู่ ผิวน้ำ ลักษณะคนจมน้ำยังลอยคออยู่ ไม่สูญหาย การช่วยเหลือคือ โยน ยื่น

-เมื่ออยู่ ใต้น้ำ ต้องใช้ อุปกรณ์ดำน้ำ อุปกรณ์ค้นหา มีแต่เจ้าหน้าที่ที่อบรมมาแล้วเท่านั้นที่จะลงไป

อุบัติเหตุทางน้ำ ภัยใกล้ตัวที่ช่วยได้ ด้วยความรู้เหล่านี้ Cr.มูลนิธิร่วมกตัญญู

  • อุปกรณ์ช่วยชีวิต

การช่วยเหลือประเภทผิวน้ำ กิตติพจน์ แนะว่า จะมีอุปกรณ์หลายอย่างดังนี้

1) ห่วงยางบริเวณท่าเรือ กรมเจ้าท่านำมาติดไว้ทุกแห่ง เป็นห่วงยางโฟม มีเชือกให้เกาะได้ 4 คน สามารถรับน้ำหนักได้ น้ำหนักเบา เวลาโยนในพื้นที่ที่มีลมแรงๆ จะควบคุมทิศทางไม่ได้ เป็นห่วงยางโฟมที่มีเชือกมัดไว้ สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ โยนครั้งเดียวอาจไม่ถึงผู้ประสบภัย จึงมีเชือกคล้องไว้ให้ดึงกลับมาโยนใหม่ได้อีก

2) ห่วงยางในเรือ เป็นไฟเบอร์ สีส้ม แข็งๆ มีน้ำหนัก สามารถควบคุมทิศทางได้ แต่ต้องระวังเวลาโยนจะกระแทกโดนผู้ประสบภัย

3) ถุงเชือกโยน หรือ Throw Bag เป็นถุงที่มีน้ำหนัก วิธีการโยน คือ ต้องโยนให้ทั้งถุง โดยผู้โยนจับปลายเชือกด้านบนไว้ แล้วเหวี่ยงโยนถุงไปให้เขา จากนั้นดึงผู้ประสบภัยเข้ามาเรื่อยๆ

“ถ้าเราโยนเชือกเปล่าๆ มันจะไม่มีน้ำหนัก ถุงแบบนี้มีน้ำหนัก สามารถเหวี่ยงโยนให้เขาได้ แต่ลักษณะการโยนต้องฝึก โยนให้ข้ามศีรษะ ให้เชือกพาดข้ามไป เพราะสายตาการมองเขาจะแคบ มองแต่ด้านหน้า

ถ้าเราโยนห่วงยางไปตกด้านหลังเขาจะไม่มองเลย เขาจะคว้าแต่ด้านหน้าเท่านั้นการโยนห่วงยางจุดโยนคือด้านหน้า แต่ถ้าเป็นโทรลแบคต้องโยนข้ามศีรษะให้พาดตัวเขา พอเขาจับเชือกได้เราก็ลากกลับมาได้เลย”

4) การยื่น จะเป็นไม้ยาวๆ ตามทางข้าง ท่อแป๊บ ท่อเอสล่อน อะไรก็ได้ ยื่นไป

5) ทุ่นลอยน้ำ อุปกรณ์พิเศษ Rescue Tube จะมีการอบรม Lifeguard ให้ว่ายน้ำเอาทุ่นนี้ไปให้จับ หรือว่าเอาทุ่นนี้เข้าไปล็อคตัวไว้ แล้วลากเขากลับมา เพื่อไม่ให้เขามาเกาะกอดรัดตัวเราแล้วดึงกันจมลง ซึ่งต้องอบรม

6) เสื้อชูชีพ ถ้ามีก็โยนให้เขา เรามักไม่ค่อยใส่กัน คิดว่ามันอึดอัด แต่จริงๆ มันเป็นสิ่งที่ป้องกันอันตรายได้มากที่สุด กู้ภัยทางน้ำ มีกฎว่าต้องใส่ทุกคน ลงน้ำแค่หัวเข่าก็ต้องมีชูชีพ หรืออยู่ในเรือต้องมีชูชีพ ถ้าลงเรือแล้วใครไม่ใส่ชูชีพ ให้ขึ้นหมดเลย เราอบรมกันมาแบบนี้

อุบัติเหตุทางน้ำ ภัยใกล้ตัวที่ช่วยได้ ด้วยความรู้เหล่านี้ Cr.มูลนิธิร่วมกตัญญู

  • วิธีที่ไม่แนะนำ กระโดดน้ำลงไปช่วย

ปกติแล้วนักกู้ภัยจะ โยน ยื่น ก่อน แล้วค่อยใช้วิธีสุดท้ายคือ การโดดลงไปช่วย กิตติพจน์ ย้ำอีกครั้ง

“สิ่งที่ต้องระวังคือ การกอดรัด การโดดลงไปช่วย เป็นวิธีสุดท้าย สำหรับนักกู้ภัย เขาจะโยนยื่นทั้งหมดก่อน ถ้าไม่ได้เขาถึงจะกระโดดลงไปช่วย ซึ่งต้องเรียนและอบรมมา การว่ายน้ำก็ต้องประเมินตัวเองก่อนว่าว่ายน้ำแข็ง และรู้วิธีแก้การกอดรัด

  • วิธีช่วยคนตกน้ำ

"ถ้าเราอยู่ริมน้ำแล้วเห็นคนตกน้ำอยู่ไกล โยนอะไรไปก็ไม่ถึง ให้ใช้วิธี ตะโกน ให้เรือผ่านไปผ่านมารับรู้ แต่ถ้าเป็นนักกู้ภัยที่ฝึกมา หากโยนไม่ถึง เขาจะใส่ชูชีพว่ายพาอุปกรณ์ไปใกล้ที่สุดแล้วยื่นให้

แต่ถ้าเราอยู่บนเรือ ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ แล้วเพื่อนน้ำตกลงไป ต้องใช้วิธี โยน เพราะในเรือต้องมีชูชีพอยู่แล้ว อันดับแรก หยุดเรือ สอง โยน แต่เรือจะไม่ถอยหลังเข้ามารับเด็ดขาด เพราะใบพัดมันอยู่ด้านหลัง จะใช้วิธีวนกลับมา

ถ้าตกเรือในทะเล จะใช้วิธี เป่านกหวีด ประกาศว่ามีคนตก แล้วก็วนเรือกลับมารับ ยื่น ทุกอย่างให้ เพราะยังมีเวลา คนตกน้ำเขาจะตะเกียกตะกาย อย่างน้อยเป็นนาที ถ้าเขาไม่หมดสติ เขาก็ตะเกียกตะกาย ผลุบๆ โผล่ๆ ยังมีเวลาช่วยเขาได้”

  • การช่วยเหลือใต้น้ำ

เป็นเรื่องของ นักกู้ภัย ที่ได้รับการอบรมมาเท่านั้น ด้วยการใช้ อุปกรณ์ดำน้ำ มาช่วยค้นหาที่มองไม่เห็น ด้วยการ ปูพรมค้นหา กิตติพจน์ กล่าว

ปูพรมค้นหา คือ การหาทั้งบริเวณให้ละเอียดที่สุด ด้วยการต่อตัวหน้ากระดาน แล้วกวาดหน้ากระดานไป ถ้าไม่เจอก็ถอย แล้วกวาดใหม่ เหมือนเดินหน้ากระดาน แต่เรานอนอยู่

เราจะมีอุปกรณ์ เชือกบัดดี้ เป็นเชือกลอยน้ำ มีสีสันเห็นได้ชัดเจน เอาไว้สื่อสารระหว่างคนข้างบนกับนักดำน้ำข้างล่าง มีความยาว 50-100 เมตร แล้วแต่พื้นที่ นักดำน้ำ จะคล้องเชือกนี้ไว้ที่ข้อมือ เพื่อให้รู้แนวทิศทางว่าคนข้างบนอยู่ตรงไหนแล้วเชือกนี้จะต้องตึง ถ้าหย่อนจะสื่อสารไม่ได้

วิธีการสื่อสาร คือ การกระตุก หนึ่งที บอกคนข้างล่างให้หยุด สองที ให้ไปทางซ้าย สามที ให้ไปทางขวา สี่ที ให้เดินหน้า ห้าที ให้ถอยหลัง ถ้ากระตุกรัวๆ ถี่ๆ คือเรียกให้ขึ้น เพื่อมาวางแผนใหม่

อุบัติเหตุทางน้ำ ภัยใกล้ตัวที่ช่วยได้ ด้วยความรู้เหล่านี้ Cr.มูลนิธิร่วมกตัญญู

ส่วนคนข้างบน ก็ต้องคอยดู ฟองอากาศ ของนักกู้ภัยดำน้ำว่าอยู่ตรงไหน หรือหายไปไหน หรือบิดเบี้ยวแถวไม่ตรง อย่างชุดแรก คนที่ 1-2-3-4 จะเรียงกัน วิธีค้นหาคือหน้ากระดานนอนเรียงกัน จะเห็นฟองอากาศเรียงกัน 4 ฟอง ถ้าหายไปฟองหนึ่งหรือบิดเบี้ยวแถวไม่ตรง อาจจะอยู่ตรงนั้นก็ได้ที่เราไม่เจอ ต้องเรียกขึ้นมาแล้วมาซ้ำที่เดิมตรงนั้น ที่หายไป”

  • ป้องกันก่อนเกิดเหตุ

กิตติพจน์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ต้นเหตุ คือ ต้องป้องกันตัวเองก่อน เหตุร้ายก็จะไม่เกิด 

“ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือ การแก้ปัญหาปลายเหตุ ปัญหาหลักจริงๆ เราต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ มีสติ มีอุปกรณ์ชูชีพ ก็ต้องใส่ มันก็ไม่เกิดปัญหา อย่างตกเรือไปเรามีชูชีพอยู่ ปัญหาการสูญหายก็ไม่เกิดขึ้น การมางมร่างเขาเหล่านี้คือปลายเหตุ

ถ้าเราป้องกันตัวเองตั้งแต่แรก ไม่ว่าขึ้นเรือ ลงเรือ ที่ไหน ให้ดูอุปกรณ์ในเรือ แล้วเตรียมพร้อม มีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ชูชีพอยู่ตรงไหน มีปัญหาอะไรเราใส่ปุ๊บ เราก็รอดแล้ว”

  • ถ้าเจอคนตกน้ำ ต้องแจ้งที่ไหน

“หลักๆ เลย 191 ส่วนเรื่องการกู้ชีพ เจอบนถนน เจอในเรือ เจอตรงไหน ก็ 1669 ศูนย์นเรนทร เขาจะประสานงานกับกู้ภัยทั้งหมด ทั่วประเทศ

เราคนไทยด้วยกัน ควรช่วยเหลือกัน ถ้าประสบเหตุ ก็แจ้งไปเถอะครับ เสียเวลาไม่เยอะ ให้ข้อมูลกับกู้ชีพกู้ภัย เขาจดไปแล้วเราก็ออกจากตรงนั้นได้ ไม่ต้องอยู่ทั้งคืน”