"สกู๊ตเริงเมือง" ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบ "คาร์บอนต่ำ"

"สกู๊ตเริงเมือง" ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบ "คาร์บอนต่ำ"

"สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า" เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริม "การท่องเที่ยว" คาร์บอนต่ำ เนื่องจากคล่องตัว และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตอบโจทย์นักเดินทางที่เริ่มมองหาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( Climate Change ) ถือเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่การท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันพบว่า เทรนด์การท่องเที่ยวยั่งยืน ถือเป็นสิ่งที่นักเดินทางหันมาให้ความสนใจ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ การท่องเที่ยว ต่างหันมาให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบรับเทรนด์ดังกล่าวเช่นกัน

 

ผลการสำรวจในปี 2564 จาก Booking.com ซึ่งรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของผู้เดินทางกว่า 29,000 คนใน 30 ประเทศ พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระตุ้นให้ผู้เดินทางมุ่งมั่นที่จะเริ่มต้นการเดินทางท่องเที่ยวในวิถียั่งยืน ซึ่ง 87% ของผู้เดินทางชาวไทยเชื่อว่าผู้คนต้องลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้เพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไป ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

 

รายงานด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2564 ของ Booking.com เผยว่าผู้เดินทางมุ่งมั่นที่จะเดินทางอย่างยั่งยืนด้วยความใส่ใจมากกว่าที่เคย โดย 78% ของผู้เดินทางชาวไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนให้พวกเขาต้องการเดินทางแบบยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต และ 66% ยอมรับว่าการแพร่ระบาดได้เปลี่ยนทัศนคติให้พวกเขาลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชีวิตประจำวัน อาทิ การรีไซเคิล (50%) และการลดขยะอาหาร (28%) ถือเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญลำดับแรกๆ

 

"สกู๊ตเริงเมือง" ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบ "คาร์บอนต่ำ"

“สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า” ถือเป็นทางเลือกของการใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง เพราะมีความคล่องตัว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่าง “นียาซคาน ข่านเคน” หรือ “ยาซ” ในวัย 33 ปี ผู้ก่อตั้ง Scoot de urban ก็เป็นอีกคนที่เริ่มทำธุรกิจท่องเที่ยว คาร์บอนต่ำ ด้วยสกูตเตอร์ไฟฟ้า ที่ผู้ร่วมทริปจะได้ทั้งความสนุก และความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงได้เที่ยวแบบรักษ์โลกอีกด้วย

 

“ยาซ” เล่าว่า Scoot de urban เริ่มก่อตั้งช่วงก่อนโควิด-19 จุดเริ่มต้นจากความชื่นชอบปั่นจักรยาน และเริ่มหันมาสนใจสกูตเตอร์ไฟฟ้า จึงเช่ามาลอง พบว่า การใช้สกู๊ตเตอร์สะดวกสบาย ไม่ต้องใช้แรงมาก ประกอบกับทำงานด้านการท่องเที่ยว มากว่า 4 ปี จุดประกายให้เกิด Scoot de urban ขึ้น แม้ปัจจุบันเราจะเห็นว่า การท่องเที่ยวด้วย สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เริ่มได้รับความนิยม แต่ความแตกต่างของ Scoot de urban คือ “การท่องเที่ยวที่เน้นเส้นทางประวัติศาสตร์” โดยผู้ร่วมทริปมีตั้งแต่อายุ 10 ปี ไปจนถึง 70 กว่าปี ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

 

“ทั้งหมดเกิดจากความชอบส่วนตัว และเราอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวอยู่แล้ว จึงมองว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีหากสามารถนำสกูตเตอร์มาใช้ในลักษณะของทัวร์ได้ด้วย กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยที่ชอบประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โดยใช้สกู๊ตเตอร์ ซึ่งเป็นของพาร์ทเนอร์ที่ทำธุรกิจให้บริการสกู๊ตเตอร์ มาเป็นพาหนะในการเดินทาง”

 

"สกู๊ตเริงเมือง" ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบ "คาร์บอนต่ำ"

ทัวร์ประวัติศาสตร์แบบ One day trip

 

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวจะเป็นลักษณะ One day trip เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. รับนักท่องเที่ยวต่อครั้งประมาณ 20 คน ราคาคนละประมาณ 1,000++ บาท มีอาหารเช้า อาหารเที่ยง และอาหารว่าง รวมถึงมีวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญให้ความรู้ตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว มีทีมงานที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย

 

“เนื่องจากเป็นทัวร์ประวัติศาสตร์ จึงต้องใช้เวลาทั้งวันในการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ต่างๆ เชื่อมโยงแหล่งที่มา ชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ โบราณสถาน ศาสนสถาน เป็นข้อมูลเชิงลึกสำหรับกลุ่มลูกค้าคนไทย ขณะเดียวกัน ก็มีลูกค้าต่างชาติให้ความสนใจด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มต่างชาติ การเล่าเรื่องจะแตกต่างออกไป เป็นการอธิบายข้อมูลเบื้องต้น เน้นลองประสบการณ์ ลองอาหาร ลักษณะการให้ความสำคัญแต่ละจุดจะต่างกัน ซึ่งปัจจุบัน เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น”

 

"สกู๊ตเริงเมือง" ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบ "คาร์บอนต่ำ"

 

“ทริปส่วนใหญ่จะจัดในกรุงเทพฯ และจะอยู่เป็นโซน เพราะสกูตเตอร์ค่อนข้างมีข้อจำกัด วิ่งได้ไม่เกิน 25 กิโลเมตร ดังนั้น จึงต้องจัดทริปในสถานที่ที่จำกัดและต้องคำนวณระยะทางให้ดี การท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงอยู่ในบริเวณตรอกซอกซอย ไม่ค่อยได้ออกถนนใหญ่ นอกจากบางพื้นที่ที่ไม่มีซอยทะลุถึงกันได้ ก็ต้องดูตามความเหมาะสม โดยจะจัดประมาณ 1 เดือน 1 ทริป นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงาน องค์กร เช่น มหาวิทยาลัย เริ่มสนใจให้ Scoot de urban เป็นคนจัดทริปให้ด้วยเช่นกัน”

 

ร่วมทริปได้ทุกวัย 

 

สำหรับการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้านั้น คล้ายจักรยาน “ยาซ” อธิบายว่า ถ้าขี่จักรยานเป็น ก็ขี่สกู๊ตเตอร์ได้ แต่หากขี่จักรยานไม่เป็น ต้องลองฝึกดูก่อนเพราะจะบาลานซ์ไม่ค่อยได้ แต่ก็มีหลายคนที่ขี่จักรยานไม่ได้แต่ขี่สกู๊ตตอร์ได้ และมีคนที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไม่ได้เลยก็มีเช่นกัน โดยกลุ่มที่มาร่วมทริปมีตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไปเพราะสามารถดูแลตัวเองได้ ไปจนถึง 70 กว่าปี

 

การท่องเที่ยวโดยสกูตเตอร์ ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถเพิ่มคุณค่าของการท่องเที่ยวโดยให้ความรู้ทางวิชาการ ด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยทำให้การท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืน

 

“สิ่งสำคัญ คือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้เชื้อเพลิงต่างๆ เพราะสกูตเตอร์ไฟฟ้าใช้วิธีการชาร์ตคล้ายมือถือ ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงก็เต็ม ไม่ต้องเติมน้ำมัน ถือเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง” ยาซ กล่าวทิ้งท้าย

 

"สกู๊ตเริงเมือง" ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบ "คาร์บอนต่ำ"

 

ทริปทัวร์ย่านเจริญกรุง

 

หนึ่งในทริปการท่องเที่ยวด้วยสกู๊ตเตอร์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในโครงการบริการวิชาการ เปิดมุมมองใหม่ไปกับสกู๊ตเตอร์ ตอนหลงรักบางกอก บอกรักเจริญกรุง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบวิถีปกติใหม่และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism-RT) ในรูปแบบสกูตเตอร์ไฟฟ้า ให้แก่ สาขาวิชาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)

 

นอกจากจะลดมลภาวะ ยังสามารถเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายและทั่วถึง เชื่อมโยงกับการเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการแก่สังคม เรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นพหุวัฒนธรรมในย่านเจริญกรุง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ และเขตพระนคร ของกรุงเทพมหานคร

 

จุดหมายปลายทาง คือ การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ประกอบด้วย ชุมชนนานาชาติ ร้านอาหารพื้นถิ่น และความเป็นแห่งแรกในเมืองไทย อาทิ ถนนสายแรก เส้นทางรถรางสายแรก โรงแรมแห่งแรก ประกอบกับบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

กำหนดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวตั้งแต่ท่าเรือสาทรสู่คลองโอ่งอ่าง ซึ่งเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจ อาทิ ศาลเจียวเองเบี้ยว มัสยิดฮารูณ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โบสถ์กาลหว่าร์ วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร วัดอุภัยราชบำรุง รวมถึงการรับประทานอาหารสไตล์อินเดีย-ปากีสถาน เพื่อสะท้อนความเป็นพหุวัฒนธรรมในย่านเจริญกรุง การเยี่ยมชมสถานที่ ถ่ายภาพอาคารตึกเก่า วิถีชีวิตบนถนนเจริญกรุง โดยเชื่อมโยงเข้ากับงานสตรีทอาร์ต แสดงให้เห็นศักยภาพในพื้นที่ย่านประวัติศาสตร์และแหล่งการค้าที่เคยรุ่งเรืองตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

 

"สกู๊ตเริงเมือง" ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบ "คาร์บอนต่ำ"