รพ.สธ. 14 จ.รอบกรุง รับคนอาการโควิดโอมิครอนเขียว Walk in รักษาผู้ป่วยนอก  

รพ.สธ. 14 จ.รอบกรุง รับคนอาการโควิดโอมิครอนเขียว Walk in รักษาผู้ป่วยนอก  

สธ.เปิดรพ.ในสังกัดรอบกทม. รับคนกรุงอาการโควิดโอมิครอนกลุ่มสีเขียว เข้ารักษาแบบผู้ป่วยนอก Walk in ได้ฟรี วันละกว่า 1.8 หมื่นราย  หลังพบแห่โทรสายด่วน 1330 จนยอดรอสายกว่า 3 หมื่นราย  

  เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  ตามฉากทัศน์สถานการณ์โควิด19ที่มีการคาดการล่าสุด ช่วงปลายเม.ย.2565 น่าจะมีการติดเชื้อลดลง ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายวัน 95-100 % เป็นกลุ่ม608 คือ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว และกลุ่มนี้ที่ยังไม่ได้วัคซีนเข็ม 3 มี 70  % จึงขอเชิญชวนให้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น 

       สำหรับสถานการณ์เตียง ภาพรวมทั่วประเทศ มีอัตราครองเตียง 57 % เป็นเตียงระดับ 2.1  ผู้ป่วยเริ่มมีปอดอักเสบ ครองเตียง 22 % ระดับ 2.2 ปอดอักเสบที่ต้องให้ออกซืเจนไหลเวียนสูง ครองเตียง 14 % ระดับ 3 ใส่ท่อช่วยหายใจ ครองเตียง 22 % แต่ระดับ1ที่เป็นสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรืออาการน้อย มีอัตราการตครองเตียง 66 % ซึ่งจะเห็นว่าอัตราครองเตียงที่สูงนั้นอยู่ในเตียงระดับ1ที่รองรับกลุ่มอาการสีเขียว ที่อาการไม่ต้องเข้านอนรพ. จึงเป็นเหมือนการไปพักอาศัยในรพ. เพราะฉะนั้น เตียงระดับ 1 ที่รองรับกลุ่มอาการโควิดโอมิครอนสีเขียวเป็นการใช้เกินความจำเป็น ซึ่งโควิดโอมิครอนมีการระบาดเร็ว แต่อาการไม่มาก เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนระบบการดูแลรักษา เพื่อลดการครองเตียงในกลุ่มคนที่สามารถดูแลที่บ้านได้ 

   “สธ.มีโครงการดูแลแบบผู้ป่วยนอก(OPD) หรือเจอ แจก จบ รองรับผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกหรือติดเชื้อ ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ไม่มีภาวะเสี่ยงเข้ารับการดูแลรักษาแบบนี้ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ จากการให้การดูแลในระบบแยกกักที่บ้านหรือ HI พบว่ามีเพียง 0.5 % ที่อาการมากขึ้นแล้วต้องส่งเข้ารับการรักษาในรพ. ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ “นพ.เกียรติภูมิกล่าว 

      ภาพรวมการให้บริการสายด่วน 1330 สำหรับผู้ติดเชื้อ มีจำนวนสายที่ติดต่อเจ้าหน้าที่ราว  6 หมื่นราย แต่จำนวนสายที่เจ้าหน้าที่รับได้ราว 3 หมื่นราย เพราะฉะนั้น จึงมีผู้ที่ติดต่อไม่ได้อีกราวครึ่งหนึ่ง หรือ  3 หมื่นราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโทรมากจากผู้ติดเชื้อที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้น ผู้ติดเชื้อพื้นที่กรุงเทพมหานครที่โทรสายด่วน 1330 แล้วไม่มีการรับสาย  สามารถเดินทางWalk in ไปเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอก(OPD)ได้ที่รพ.สังกัดสธ.ทุกระดับใน 14 จังหวัดที่อยู่รอบกรุงเทพมหานครได้ ในเวลาราชการ รองรับได้รวมวันละ 18,650 ราย  เริ่มได้ตั้งแต่ 4 มี.ค.2565

    “ที่สธ.ต้องขยายให้ไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกในรพ.ในสังกัดพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร เนื่องจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีรพ.ในสังกัดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่จะรองรับผู้ติดเชื้อในกทม.เลย แต่ต้องการช่วยบรรเทาผู้ติดเชื้อที่มีผลตรวจATK เป็นบวกในกรุงเทพมหายคร ได้เข้าถึงบริการและได้รับการช่วยเหลือ และสามารถไปรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับทุกสิทธิ์การรักษา”นพ.เกียรติภูมิกล่าว 
        สำหรับ 14 จังหวัดที่ประชาชนจากพื้นที่กรุงเทพฯสามารถไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกได้ ประกอบด้วยว จ.นนทุบรี 1,500 รายต่อวัน ปทุมธานี  1,100 รายต่อวัน  พระนครศรีอยุธยา  1,670 ราย สระบุรี 1,800 ราย  นครนายก 600 ราย สิงห์บุรี 900 ราย  อ่างทอง 900 ราย นครปฐม 1,600 ราย สมุทรสงคราม 500 ราย สมุทรสาคร 800 ราย  สุพรรณบุรี 1,700 ราย สมุทรปราการ 1,300 ราย ชลบุรี 1,930 ราย ฉะเชิงเทรา 1,300 ราย  นอกจากนี้  ยังสามารถเข้ารับบริการได้ที่รพ.สังกัดกรมสุขภาพจิต และกรมควบคุมโรคในเชตปริมณฑล รองรับได้อีก 1,050 ราย 

      ด้านนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดสธ. กล่าวว่า  สธ.เปิดรพ.ในสังกัดรอบกรุงเทพมหานครเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน ที่ยังไม่สามารถสู่ระบบการดูแลรักษาได้ สามารถเดินทางแบบWalk inเข้าไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกที่รพ.สังกัดสธ.รอบๆกรุงเทพมหานครได้  ซึ่งมีศักยภาพในการดูแลได้แบบเจอ แจก จบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่กทม.ที่เจอผลตรวจATKเป็นบวก แล้วไม่สามาถติดต่อหน่วยบริการในพื้นที่กทม.ได้ สามารถไปเจอเจ้าหน้าที่เพื่อประเมินอาการและภาวะเสี่ยงได้ที่รพ.สังกัดสธ.ทั้ง 14 จังหวัด  เมื่อประเมินแล้วไม่มีภาวะเสี่ยงจะได้รับการแจกความรู้ในการดูแลตนเอง แจกยาที่จำเป็นตามอาการ และแจกเบอร์โทรประสานกรณีมีข้อสงสัยสามารถโทรติดต่อได้ และจบ เป็นการเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ และภายใน 48 ชั่วโมงจะมีเจ้าหน้าที่โทรไปประเมินอาการ