สปสช. เยียวยา “วัคซีนโควิด-19” 12,408 ราย รวม 1,461 ล้านบาท

สปสช. เยียวยา “วัคซีนโควิด-19” 12,408 ราย รวม 1,461 ล้านบาท

"สปสช." ดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นประชาชนที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด "วัคซีนโควิด-19" แล้ว 12,408 ราย 1,461 ล้านบาท ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง 8,919 ราย เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นคำร้องมากสุด 2,624 ราย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งฉีด "วัคซีนโควิด-19" ให้กับประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรุนแรงภายหลังติดเชื้อ โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 กุมพันธ์ 2565 มีประชาชนได้รับวัคซีนโควิด-19 รวมเข็มที่ 1, 2, 3 และ 4 สะสมแล้ว จำนวน 123,462,330 โดส กระจายทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ ในจำนวนนี้มีผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์และผลกระทบภายหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้มอบให้ สปสช. ทำหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19

 

จ่าย เยียวยาวัคซีนโควิด กว่า 1,461 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีประชาชนที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังรับฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นทั้งสิ้นจำนวน 15,552 ราย ในจำนวนนี้

  • เข้าหลักเกณฑ์รับการช่วยเหลือจำนวน 12,408 ราย (79.78%)
  • ไม่เข้าหลักเกณฑ์ฯ จำนวน 2,280 ราย (14.66%)
  • อยู่ระหว่างการรอพิจารณาจำนวน 864 ราย (5.56%)
  •  

ซึ่งในจำนวนนี้มีการมียื่นอุทธรณ์คำร้อง 831 ราย โดย สปสช.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ แล้วทั้งสิ้น 1,461.19 ล้านบาท

 

สปสช. เยียวยา “วัคซีนโควิด-19” 12,408 ราย รวม 1,461 ล้านบาท

กทม. ยื่นคำร้องมากที่สุด 2,624 ราย

 

จากพื้นที่ยื่นคำร้อง 5 อันดับแรก ได้แก่ เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นคำร้องมากที่สุด จำนวน 2,624 ราย รองลงมาเขต 10 อุบลราชธานี จำนวน 1,813 ราย เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 1,630 ราย เขต 8 อุดรธานี จำนวน 1,461 ราย และเขต 6 ระยอง จำนวน 1,041 ราย

 

เมื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง จำนวน 8,412 ราย (54.09%) ผู้มีสิทธิประกันสังคม จำนวน 3,760 ราย (25.44%) ผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ จำนวน 3,008 ราย (19.34%) นอกนั้นเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ  

 

ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง 

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในส่วนของอาการไม่พึงประสงค์ที่มีการยื่นคำร้องฯ อาทิ มีไข้, ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน, มีผื่น คัน บวม, ปวดเวียนศีรษะ หน้ามืด, แน่นหน้าอก หายใจลำบาก, อาการชา, แขนขาอ่อนแรง, ภาวะแพ้รุนแรง (Phylaxis Shock) และเสียชีวิต

 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรง ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์

 

  • ระดับ 1 อาการเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท จำนวน 8,919 ราย
  • ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มี จำนวน 351ราย
  • ระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท จำนวน 3,138 ราย

 

สปสช. เยียวยา “วัคซีนโควิด-19” 12,408 ราย รวม 1,461 ล้านบาท

3 ช่องทาง ยื่นคำร้อง 

 

ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ

1.ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด

2.ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

3.ที่ สปสช.เขตพื้นที่ทั้ง 13 สาขาเขต

 

ยื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปี 

 

มีระยะเวลายื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับจากวันที่เกิดความเสียหายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น

 

เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย

 

“สปสช.ยังคงให้การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบภายหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล ขอให้ประชาชนเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์การให้บริการ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 และลดความสูญเสียจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” เลขาธิการ สปสช. กล่าว  

 

ดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ที่ คลิก