ทำอย่างไร เมื่อติดโควิด แล้วต้อง "home isolation"

ทำอย่างไร เมื่อติดโควิด แล้วต้อง "home isolation"

โควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงมากกว่าหมื่นรายต่อวัน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยที่อาการน้อยสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ทั้งนี้ หากติดโควิด-19 แล้วต้องรักษาตัวที่บ้าน "Home Isolation" จะปฏิบัติตัวอย่างไร

ช่วงปลายปี 2564 พบการระบาดของ โควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน แพร่ระบาดในวงกว้าง พบว่า อาการของผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของ โรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลเพียงระยะสั้น ๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้

 

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2565 เพื่อให้การดำเนินงานในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19โดยการแยกกักตัวที่บ้าน แบบ Home Isolation เป็นไปอย่างมีคุณภาพ และ มีประสิทธิภาพ

 

ใครบ้างที่ต้อง Home Isolation 

ผู้ที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อได้ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่นในบ้านตามคำแนะนำ ดังนี้

1) ผู้ป่วยโควิด-19 ที่วินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ การวินิจฉัย และ แพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้

2) ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ step down หลังเข้ารับการรักษาที่สถานที่รัฐจัดให้หรือ โรงพยาบาล อย่างน้อย 7 วัน และจำหน่ายกลับบ้าน โดยวิธี Home Isolation

 

ทำอย่างไร เมื่อติดโควิด แล้วต้อง \"home isolation\"

 

เข้าระบบ Home Isolation ทำอย่างไร

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดทำระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation : HI) ในการจับคู่หน่วยบริการดูแลและขณะนี้ยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อประชาชนตรวจ ATK ด้วยตนเองและมีผลติดเชื้อโควิด-19 สามารถลงทะเบียนระบบ HI ดังนี้ 

กทม.

  • โทร.เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ กรุงเทพมหานคร  
  • หรือ โทรสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2
  • หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line : @BKKCOVID19CONNECT

ต่างจังหวัด

โทร. Call Center ของจังหวัดหรืออำเภอ (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด) ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด หากไม่ทราบหรือไม่สะดวกโทร.ตามรายละเอียดข้างต้น สามารถใช้วิธีดังนี้ 

 
1.โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 

2. หรือ ลงทะเบียนด้วยตนเองที่ คลิก 

3. หรือ ไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือ คลิก 

  • เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด-19
  • เลือกลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)

 

ทำอย่างไร เมื่อติดโควิด แล้วต้อง \"home isolation\"

 

ลักษณะของบ้านพักอาศัยที่เหมาะสม

  • บ้านหรือที่พักอาศัยของผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงที่ต้องแยกตัว ควรจะต้องมีลักษณะ ดังนี้
  • ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องอาศัยในสถานที่พักอาศัยตลอดระยะเวลากักตัว ไม่ให้ออกจากที่พัก
  • มีห้องนอนส่วนตัว ถ้าไม่มีควรมีพื้นที่กว้างพอที่จะนอนห่างจากผู้อื่นกรณีมีผู้อยู่ร่วมบ้าน และต้องเปิด ประตูหน้าต่างให้ระบายอากาศได้ดี
  • มีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ได้ ไม่ต้องออกไปจัดหานอกบ้านด้วยตนเอง
  • ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมบ้านสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัย และการแยกจากผู้ป่วยได้
  • สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลและเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก หากบ้านหรือที่พักไม่เหมาะสม อาจต้องหาสถานที่แห่งอื่นในการแยกตัว


 

ข้อควรปฏิบัติ ผู้ป่วยโควิด-19 ในระหว่างแยกตัว

1) ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านระหว่างแยกตัวและงดการออกจากบ้านในระหว่างแยกตัว

2) อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ หากยังมีอาการไอจามต้องสวมหน้ากากอนามัยแม้ขณะที่อยู่ในห้อง ส่วนตัว โดยแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ให้ใช้หน้ากากผ้า

3) หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร หรือประมาณ หนึ่งช่วงแขน หากไอจามไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่นหรืออยู่ห่างอย่างน้อย 2 เมตร และให้หันหน้าไปยังทิศทาง ตรงข้ามกับตำแหน่งที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย

4) หากไอจามขณะที่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเอามือมาปิดปากและไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออก เนื่องจากมืออาจเปรอะเปื้อน หากไอจามขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปาก และจมูก

5) ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ (หากมือเปรอะเปื้อนให้ล้างด้วยสบู่ และน้ำ) โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ขณะไอ จาม หรือหลังจากถ่ายปัสสาวะหรือ อุจจาระ และ ก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นในบ้านใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได มือจับตู้เย็น ฯลฯ

6) กรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร

7) ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ

8) การทำความสะอาดห้องน้ำและพื้นผิว ควรทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์หรือพื้นที่ที่อาจปนเปื้อน เสมหะ น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งด้วยน้ำและน้ำยาฟอกผ้าขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (เช่น ไฮเตอร์, คลอรอกซ์) โดยใช้ 5% โซเดียมโซเดียมไฮโปคลอไรท์ น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำ 99 ส่วน หรือ 0.5% (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ต่อน้ำ 9 ส่วน)

9) แยกสิ่งของส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์

10) ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น ควรให้ผู้อื่นจัดหาอาหารมาให้ แล้วแยกรับประทานคนเดียว ถ้าเป็น อาหารที่สั่งมา และต้องเป็นผู้รับอาหารนั้น ควรให้ผู้ส่งอาหารวางอาหารไว้ ณ จุดที่สะดวก แล้วไปนำอาหาร เข้าบ้าน ไม่รับอาหารโดยตรงจากผู้ส่งอาหาร

11) ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนูฯลฯ ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติหากใช้เครื่องซักผ้าให้ใช้ ผงซักฟอก และ น้ำยาปรับผ้านุ่มได้

12)การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งให้ใส่ถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิท ก่อนทิ้งขยะที่ฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือ ด้วยแอลกอฮอล์ หรือ น้ำ และสบู่ ทันที

 

คำแนะนำสังเกตอาการตนเอง

  • ให้สังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิและ oxygen saturation ทุกวัน
  • หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจ หอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า94% หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่
  • เมื่อจะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับ ไม่ใช้รถสาธารณะ ให้ทุกคนในรถใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถ เพื่อเพิ่มการระบายอากาศ

 

แพทย์ติดตามดูแลผู้ป่วย

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ บุคลากรทางการแพทย์ คำแนะนำในการติดตามดูแลผู้ป่วย COVID-19 ที่อยู่ที่บ้าน ฉบับปรับปรุงวันที่ 4 มกราคม 2565 อาจปรับได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและด้านการควบคุมโรค ประกอบกัน ดังนี้

1) เป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการ

2) มีสุขภาพแข็งแรง อาจมีโรคร่วมที่รักษา และ สามารถควบคุมได้ตามดุลยพินิจของแพทย์

3) อายุน้อยกว่า 75 ปี

4) ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

 

การดำเนินการของโรงพยาบาล

1) ให้ดำเนินการติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง หลังผู้ป่วยโทรแจ้ง 1330

2) ประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์

3) ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์แยกกักตัวที่บ้าน

4) แนะนำการปฏิบัติตัวที่บ้านให้กับผู้ติดเชื้อ

5) ติดตามและประเมินอาการผู้ติดเชื้ออย่างน้อยวันละครั้ง หรือ ตามดุลยพินิจของแพทย์โดยให้ผู้ติดเชื้อ วัดอุณหภูมิ และวัดระดับออกซิเจนในเลือดทุกวัน ผ่านระบบการสื่อสาร

6) เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการมากขึ้นให้มีระบบนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล

7) ทั้งนี้ ระหว่างติดตามอาการของผู้ป่วย แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาตามความเหมาะสม ตามแนวทาง เวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีการปรับปรุง เป็นระยะตามข้อมูลและสถานการณ์ สามารถติดตามฉบับปัจจุบันจาก (ฉบับปัจจุบัน วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564) โดยมีระบบการจัดส่งยา การแนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับ การรับประทานยา การสังเกตผลข้างเคียงที่เหมาะสม ตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาล และรับผู้ป่วย มารักษาในโรงพยาบาล