สิทธิบัตรทองตรวจยีนมะเร็งเต้านมฟรี รักษาพุ่งเป้า-ไม่ต้องทดลองยาหลายตัว

สิทธิบัตรทองตรวจยีนมะเร็งเต้านมฟรี รักษาพุ่งเป้า-ไม่ต้องทดลองยาหลายตัว

สิทธิบัตรทองตรวจยีนมะเร็งเต้านมฟรี ช่วยรักษาพุ่งเป้าใช้ยาตอบสนองได้ดี ไม่ต้องทดลองยาแต่ละตัว สธ.เร่งเก็บพันธุกรรมผู้ป่วย 5 หมื่นภายในปีนี้ เร่งวิเคราะห์ยีนคนไทยต้นตอเกิดโรคต่างๆ -การตอบสนองต่อยารักษา ก่อนบรรจุสิทธิประโยชน์ ตรวจวินิจฉัย รักษาได้แม่นยำมากขึ้น

      เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565  นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมวิชาการประจำปี สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ ครั้งที่ 1 "ปฐมบทจีโนมิกส์ประเทศไทย" จัดโดยสมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ สธ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ว่า การถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์มีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศไทย เพราะนำมาสู่การวินิจฉัย ป้องกัน รักษา ทำให้การแพทย์มีความแม่นยำและจำเพาะต่อบุคคลมากขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลและ สธ.ให้ความสำคัญและพยายามทำให้เกิดขึ้นภายใต้วาระแห่งชาติด้าน BCG โดยจะมีการเก็บตัวอย่างพันธุกรรมของผู้ป่วยกว่า 5 หมื่นราย เพื่อศึกษาทั้งการดื้อยารักษาในหลายๆ โรค รวมถึง โรคจากพันธุกรรม หรือโรคหายากที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้มีข้อมูลเชิงลึกในการรักษามากขึ้น แพทย์วินิจฉัยได้ดีขึ้น จะนำไปสู่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องช่วยกันผลักดันส่งเสริม

        "ที่ผ่านมาหลายคนที่มีเงินอาจไปใช้เทคโนโลยีนี้ในต่างประเทศ และใช้เงินจำนวนมาก อนาคตจะเดินหน้าในเรื่องนี้ ถ้ามีโอกาสเพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์การรักษาก็จะเป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคน ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต แพทย์ใช้ข้อมูลในการวินิจฉัยรักษาได้ดีขึ้น ตั้งเป้าจะเก็บ 5 หมื่นตัวอย่างให้เสร็จในปีนี้ ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างในพื้นที่อีอีซีก็เดินหน้าไปได้ประมาณ 6 พันตัวอย่าง คิดว่าภายในปีนี้จะได้ตามเป้า จะกลายเป็นข้อมูลบิ๊กดาตาในอนาคตด้วย" นายสาธิตกล่าว

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า การเก็บข้อมูลพันธุกรรม 5 หมื่นตัวอย่าง ต้องทยอยดำเนินการ ซึ่งความยากไม่ใช่แค่การเจาะเลือดแล้วสกัดดีเอ็นเอ แต่ต้องโยงกับประวัติผู้ป่วยด้วย การเก็บเร็วไม่ได้แปลว่าสำเร็จเร็ว หากเรามีประวัติที่ชัดเจน ประวัติครอบครัว และสามารถบอกได้ว่ายีนตัวนี้โยงกับโรคอะไร การแพ้ยาอะไร การเกิดมะเร็งอะไร จะใช้ยาตัวไหนรักษามะเร็ง จึงเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งยืนยันว่าการเก็บข้อมูลศึกษาไม่ได้จบที่ 5 หมื่นตัวอย่าง แต่จะมีการขยายต่อไป เนื่องจากยิ่งมีข้อมูลก็ยิ่งดี ในจีนมีการเก็บประมาณ 10 ล้านตัวอย่าง อังกฤษก็ 4-5 ล้านตัวอย่าง ซึ่งทุกวันนี้เราเรียนรู้เกี่ยวกับดีเอ็นเอ จีโนมไม่ถึง 4% มีเรื่องต้องเรียนรู้อีกเยอะ

       "มุ่งเน้นว่าอะไรเป็นต้นเหตุของการเกิดโรค ยีนที่ทำให้เกิดมะเร็ง เบาหวาน ความดัน หรือรับผิดชอบต่อการแพ้ยา ทำให้เด็กเกิดมาผิดปกติหรือเป็นโรคหายากทั้งหลาย ตอนนี้ถือว่าได้ข้อมูลมาพอสมควร ซึ่งหากเจอข้อมูลอะไรที่ทำได้สำเร็จ ก็จะผนวกเข้าไปในสิทธิประโยชน์การรักษา เช่น ปีที่แล้วพบยีนการแพ้ยาในคนไทย ก็เอาเข้าสิทธิประโยชน์ หรือพบว่ายีน BRCA1 BRCA2 ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิง ก็ผลักดันเข้าสู่สิทธิประโยชน์บัตรทองแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา" นพ.นพพร กล่าว

     นพ.นพพร กล่าวด้วยว่า การตรวจยีนในคนไข้ที่เป็นมะเร็ง เมื่อรู้ว่ามะเร็งชนิดนี้ตอบสนองต่อยาอะไรก็จะบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ จะได้ไม่ต้องมาทดลองยาแต่ละตัว ก็พุ่งเป้าไปที่ยาที่ตอบสนองได้ดี ดังนั้น การศึกษาข้อมูลพันธุกรรมหากมีข้อมูลสำเร็จชัดเจนเพิ่มเติมอื่นๆ ก็จะทยอยเสนอเพื่อบรรจุสิทธิประโยชน์ต่อไป ส่วนการเก็บข้อมูลนั้นวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่อีอีซี โดยมหาวิทยาลัยบูรพา และนำข้อมูลทั้งหมดมาส่งเก็บไว้ที่ สวทช. เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และเป็นข้อมูลกลางให้คนเข้ามาศึกษาข้อมูลได้ ภายใต้การกำกับควบคุมไม่ให้รั่วไหล เพราะเป็นข้อมูลที่เป็นอันตราย