"ปศุสัตว์" สีเขียว อาหารปลอดภัย ลด "ก๊าซเรือนกระจก"

"ปศุสัตว์" สีเขียว อาหารปลอดภัย ลด "ก๊าซเรือนกระจก"

ว่ากันว่า "ปศุสัตว์" เป็นหนึ่งในสาเหตุการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" นำไปสู่ภาวะโลกร้อน กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในการเคลื่อน "ปศุสัตว์สีเขียว" เพื่อเดินหน้าสู่เป้า Net zero ในปี 2583 พร้อมกับการผลิตอาหารปลอดภัย

ปี 2562 ภาคเกษตรและอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 1 ใน 3 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านตัน หรือราว 1.65 หมื่นล้านตัน ขณะที่ภาคปศุสัตว์ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 7,200 ล้านตัน หรือ 13% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

 

ข้อมูลจาก Krungthai compass ระบุว่า สินค้าปศุสัตว์และอาหารเป็นสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ขณะเดียวกันการส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี หากยุโรปและสหรัฐ มีมาตรการทางการเกษตรอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

 

เป็นที่มาของพิธีลงนามความร่วมมือ โครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย (Thai Livestock Technical Consortium for Climate Neutrality, LCCN) เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 65 ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ภาคีปศุสัตว์และสัตว์น้ำไทย ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการเดินหน้าสู่ปศุสัตว์สีเขียว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2583

 

โดยร่วมมือทางวิชาการ ศึกษาตั้งแต่กระบวนการก่อนเข้าโรงงานฆ่าสัตว์ ศูนย์รวบรวมไข่ น้ำนมดิบ หรือตลาด ส่งเสริมพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม ตลอดจนมาตรการต่างๆ พร้อมกับพัฒนาบุคลากรในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ให้มีความรู้ความเข้าใจ เชี่ยวชาญด้านการประเมินและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลักดันงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ เสริมสร้างประสบการณ์นักศึกษา มจธ. สนับสนุนการเรียนรู้ในการปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ

  • ภาคเกษตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 14.7%

 

“ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ” ผู้อำนวยการสำนักประเมินและรับรองโครงการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อธิบายว่า การผลิตอาหารโดยเฉพาะในส่วนของเนื้อสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเนื้อวัว ในปี 2559 ไทยปล่อย ก๊าซเรือนกระจก 354.4 ล้านตัน โดยภาคที่ปล่อยมากที่สุด คือ พลังงาน 72% และ ภาคเกษตร 14.7%

 

เมื่อดูที่ภาค เกษตร ส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ การปลูกเพาะปลูกข้าว 51.07% รองลงมา คือ การปล่อยไนตรัสออกไซด์จากดิน 21.99% ปศุสัตว์ 21.46% การใช้ปุ๋ยยูเรียและปูนขาว 2.97% การเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร 2.50%

 

  • มาตรการ EU - สหรัฐ ตัวเร่งปรับตัว

 

“เหตุผลที่ภาคเกษตรและปศุสัตว์ต้องปรับตัวเพื่อรองรับกระแสโลกร้อน คือ มาตรการใหม่ๆ ที่ออกมาค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU) โดยเริ่มการรายงานปี 2566 และเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบบในปี 2569 แม้ขณะนี้จะยังไม่รวมผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรแต่ต้องมีการเตรียมพร้อม รวมถึง ภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Tax) ของสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2567 โดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และจะมีการพิจารณาภาคเกษตรในการก่อสร้างอีกด้วยด้วย”

 

ขณะเดียวกัน Farm to Fork Strategy ของ EU ตั้งเป้าหมายลดการใช้ยาฆ่าแมลงและวัชพืช รวมทั้งยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง 50% ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 20% และเพิ่มฟาร์มออร์แกนิกให้มีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในยุโรป ในปี 2573 ส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารที่ยั่งยืน และ พัฒนาฉลาก Eco-Score ของฝรั่งเศส และเยอรมนี เริ่มในปี 2564 โดยให้ระดับคะแนนดัชนีด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้า

“ในการประชุม Cop26 ซึ่งมุ่งเน้นการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา กว่า 81 ประเทศ ประกาศเป้าหมาย Net Zero และ อีกกว่า 60 ประเทศอยู่ระหว่างพิจารณาเป้าหมายดังกล่าว ขณะที่ไทยตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608 การที่ไทยเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญ และมีความเปราะบางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากอุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นจะส่งผลต่อผลผลิต ดังนั้น จึงต้องพยายามปรับตัวและมีส่วนร่วมในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบทั่วโลก” ดร.พฤฒิภา กล่าว

 

  • สินค้าปศุสัตว์ Top 10 ซื้อขายทั่วโลก

 

ด้าน น.สพ.ดร. ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี กล่าวถึง ภาพรวมสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งติด Top 10 ในสินค้าที่มีการซื้อขายกันทั่วโลก อันดับต้นๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม รองลงมา คือ เนื้อสุกร เนื้อสัตว์ปีก เนื้อจากโคเนื้อ และผลิตภัณฑ์จากไข่ ตามลำดับ ดังนั้น ภาคปศุสัตว์มีความสำคัญในภาพรวมการค้าเกษตรและอาหารระดับโลก

 

ในปี 2573 คาดว่าแนวโน้มความต้องการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์สูงขึ้น 14% หากดูการผลิต จะเห็นว่าทุกกลุ่มไม่ว่าจะเนื้อวัว เนื้อสุกร สัตว์ปีก แกะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หลายประเทศประชากรมากขึ้น เพราะฉะนั้น ความต้องการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์จะสูงขึ้น อาทิ สัตว์ปีก จากหลายปัจจัย เช่น ประเทศที่มีรายได้น้อยจะอย่างลาวหรือหลายประเทศในแอฟริกาจะขยับเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หรือด้วยเหตุผลทางความเชื่อ รวมถึงการตระหนัก เรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้พฤติกรรมด้านบริโภคเปลี่ยน

 

 “เมื่อพูดถึงก๊าซเรือนกระจก เป็นโจทย์ของเราทุกคนว่าทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นจนถึงปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ถูกมองว่าเป็นปัญหา หากไม่ร่วมมือกัน และไม่เริ่มสื่อสาร คนทั่วโลกจะมองปศุสัตว์ว่าเป็นตัวร้ายและส่งผลกระทบต่อโลก"

 

"คนในภาคปศุสัตว์ต้องเสียงดัง และให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่าสินค้าปศุสัตว์เป็นสินค้าดีต่อสิ่งแวดล้อม ต้องปรับตัว ปศุสัตว์ยังเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร ระบบอาหาร และหวังว่าจะเห็นทิศทางการปรับเปลี่ยนภาคปศุสัตว์ไปสู่ปศุสัตว์ที่ยั่งยืน ต้องรีแบรนด์ประเทศไทยจาก Thailand Kitchen of the world สู่ Thailand Green(er) Kitchen of the world”

 

  • แนวทางดำเนินงาน MOU

 

สำหรับ แนวทางการดำเนินการภายใต้ MOU ซึ่งมีเป้าหมายรวมกันในการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2583 “ศ. ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์” บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เผยว่า แนวทางดำเนินงานแบ่งเป็นช่วงละ 5 ปี ช่วงแรก ปี 2565- 2569 ในการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการร่วมและจัดตั้งคณะทำงาน และ จัดทำ Action Plan เบื้องต้น

 

แผนงานที่คาดว่าจะดำเนินการในช่วง 5 ปีแรก คือ การประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ การทำ Benchmarking คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านพลังงาน และพัฒนาแบบจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อตั้งเป้าและดูผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจาก Intervention ต่างๆ จัดลำดับความสำคัญของ intervention นำมาซึ่งความสามารถในการจัดลำดับความสำคัญในกิจกรรมต่างๆ ได้ในที่สุด

 

"ปศุสัตว์" สีเขียว อาหารปลอดภัย ลด "ก๊าซเรือนกระจก"

 

  • แนวทางกรมปศุสัตว์ สู่ เกษตร อาหาร ยั่งยืน

 

“น.สพ.รักไทย งามภักดิ์” ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์กรมปศุสัตว์ กล่าวถึง บทบาทและแนวทางของกรมปศุสัตว์ในการส่งเสริมปศุสัตว์สีเขียว โดยระบุว่า กรอบในการบริหารจัดการห่วงโซ่ผลิตภาคการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจ เป็นการปรับเปลี่ยนตลอดห่วงโซ่ ทั้งในด้านโภชนาการ ลดการใช้สารเคมีในการผลิต สวัสดิภาพสัตว์ การตลาด การคิดฉลากสินค้า ปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับสารเสริมในอาหารสัตว์ โดยกำหนดเกณฑ์การอนุญาตใช้ Feed additive ที่เป็นผลผลดีต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกแบบฉลากต่างๆ

 

บทบาทและแนวทางของกรมปศุสัตว์ ครอบคลุมตั้งแต่ “อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์” ที่ต้องได้คุณภาพมาตรฐาน นำวัตถุดิบมาใช้ประโยชน์สูงสุด ลดขยะ และระบบฐานข้อมูลของซัพพลายเออร์ ขณะเดียวกัน

 

“วัตถุดิบอาหารสัตว์” ต้องลดการตัดไม้ทำลายป่า การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ลดการใช้สารเคมี เกษตรอินทรีย์ ส่วนการทำ 

 

“ฟาร์ม” มีการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (GAP) ลดการตัดไม้ทำลายป่า สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม ใช้พลังงานทดแทน สวัสดิภาพสัตว์ การใช้ยาต้านจุลชีพ และลดการใช้เคมี ขณะเดียวกัน 

 

“ตลาด” ในเรื่องของฉลากสินค้า การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และ “โรงฆ่าหรือโรงผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์” ตรวจสอบสัตว์ก่อนฆ่า ไปจนถึงการจัดการซาก

 

  • (ร่าง) โรดแมป ปศุสัตว์สีเขียว

 

Step 1 (2565) ตั้งคณะทำงาน ปศุสัตว์สีเขียว ระหว่างภาครัฐ เอกชนและเกษตรกรร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทาง

 

Step 2 (2565-2567) นำร่อง วัตถุดิบอาหารสัตว์ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว ได้มาตรฐาน GAP และ นำร่องโรงงานผลิตอาหารสัตว์จัดทำโครงการ “ปศุสัตว์สีเขียว”

 

Step 3 (2567-2569) ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ (ฟาร์ม) โรงฆ่า และอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และ

 

Final (2570) ปศุสัตว์สีเขียว ฉลากสามารถ การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตั้งแต่วัตถุดิบ การเพราะปลูก เลี้ยงสัตว์ แปรรูป ผลิต จำหน่าย จนถึงผู้บริโภค

 

“ทั้งนี้ คาดว่าช่วงแรกจะเริ่มในส่วนของ ข้าวโพด มันสำปะหลัง และข้าว หรือโรงงานผลิตอาหารสัตว์จะนำร่องอย่างไร สุดท้ายจะขยายไปยังฟาร์ม โรงฆ่า และตลาด ต้องมีความร่วมมือทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภค เพื่อเป้าหมาย ให้ได้ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกิดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ และประเทศคู่ค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น สู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ลดการทำลายทรัพยากรโลก” น.สพ.รักไทย กล่าว