กรมควบคุมโรค เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ

กรมควบคุมโรค เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ

กรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ ของประเทศไทย ตามมติของสหประชาชาติ (UN General Assembly)

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2565) ที่ห้องประชุมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามมติของสหประชาชาติ ครั้งที่ 2 เพื่อทบทวนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำในประเทศไทย และหาแนวทาง  การพัฒนาสู่เป้าหมายการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามข้อเสนอของมติสหประชาชาติ รวมถึงพิจารณากลไกการขับเคลื่อนและกำกับติดตามการพัฒนางานป้องกันการจมน้ำ

นายแพทย์ปรีชา กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าทั่วโลกมีคนจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 360,000 คน เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 145,739 คน การจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่สอง รองจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการจมน้ำเสียชีวิตสูงเป็นอันดับสองของโลก ประเทศไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา   (ปี 2554 - 2563) มีคนเสียชีวิตจากการจมน้ำ 36,140 คน (เฉลี่ยปีละ 3,614 คน) เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 7,803 คน (เฉลี่ยปีละ 780 คน)


 “และจากรายงานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ที่เมืองนิวยอร์ก ได้รับรอง ข้อมติเรื่อง “Global Drowning Prevention” อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นฉันทามติร่วมกันในเรื่องการป้องกันการจมน้ำ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยได้เสนอให้ประเทศสมาชิกมีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามข้อมติของการประชุม และเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการจมน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศในลำดับแรกๆ ที่ร่วมให้การสนับสนุนและผลักดันมติสหประชาชาติ เรื่อง Global Drowning Prevention  เข้าสู่เวทีสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) ตั้งแต่ปี 2559” นายแพทย์ปรีชา กล่าว


นายแพทย์ปรีชา กล่าวต่อไปว่า ข้อมติดังกล่าวมีประเด็นสำคัญเสนอให้ประเทศสมาชิกมีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำใน 10 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การจัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันการจมน้ำระดับชาติ  2) การพัฒนาแผนงานป้องกันการจมน้ำระดับชาติ  3) การพัฒนาโครงการป้องกันการจมน้ำให้สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก  4) การมีกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำและมีการบังคับใช้  5) การมีข้อมูลการจมน้ำระดับชาติ  6) การส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความตระหนักและรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  7) การบูรณาการงานป้องกัน การจมน้ำไว้ในโครงการที่เกี่ยวกับภัยพิบัติที่มีอยู่  8) การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศโดยการแบ่งปันบทเรียนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี  9) การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือ/เทคโนโลยีนวัตกรรม และแบ่งปันให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา  และ 10) การนำเรื่องความปลอดภัยทางน้ำ หลักสูตรการว่ายน้ำ และการปฐมพยาบาล เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในโรงเรียน รวมถึงกำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day)” 
สำหรับการประชุมในครั้งนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุม จำนวน 35 หน่วยงาน โดยคาดหวังว่าผลลัพธ์จากการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามข้อเสนอของมติสหประชาชาติ ของประเทศไทยในครั้งนี้ จะส่งผลให้การเสียชีวิตจากการจมน้ำของประเทศไทยลดลงได้ตามเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ลดลงร้อยละ 50 ภายในปี 2580)