รัฐ-เอกชน พัฒนาเครื่องมือแพทย์ ลดนำเข้า ตอบโจทย์ "BCG"

รัฐ-เอกชน พัฒนาเครื่องมือแพทย์  ลดนำเข้า ตอบโจทย์ "BCG"

อว. ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ "BCG" ผ่านความร่วมมือของ สวทช. และ ปตท. มุ่งวิจัยต่อยอดนวัตกรรมสุขภาพการแพทย์แก้วิกฤติสุขภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ "SDGs"

พิธีลงนามความร่วมมือการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เมื่อวันที่ 4 ก.พ. เกิดขึ้นเพราะต้องการลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสุขภาพ และพัฒนาสุขภาพชีวิตของประชาชน สร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข ลดการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศและสอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs (Sustainable Development Goals)ของสหประชาชาติ

 

การขับเคลื่อนประเทศไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องอาศัยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติ พร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมเป็น BCG Economy Model โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีในด้านต่างๆ เป็นความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ด้วยนวัตกรรมและความสามารถเติบโตและแข็งขันได้ในระดับโลก ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ของสหประชาชาติ

 

นโยบาย BCG Model  ในสาขาเครื่องมือแพทย์ ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน เทียบเท่าสากล ผลักดันเป็นสินค้าส่งออกได้ ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ถึงจะเป็นจริงได้

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า BCG ในสาขาเครื่องมือแพทย์เป็นสาขาสำคัญ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub ที่ผ่านมา พบว่า “อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์” มีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยและผลกระทบของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 - ปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเกือบ 6 ล้านคนทั่วโลก 

 

ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ทั้งในแง่ของวัตถุดิบ อุปกรณ์ และวัสดุทางการแพทย์ ที่ไม่สามารถนำเข้า หรือผลิตได้ทันในประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ จึงเป็นตัวเร่งความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ชั้นสูงและทันสมัย ซึ่งต้องอาศัยความต้องการการแพทย์ในการให้บริการสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานบริการที่สูงขึ้น

 

รัฐบาลยกระดับบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการส่งเสริมและป้องกันโรค การเสริมสร้างสุขภาพ ต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดสุขภาวะทั้งสังคม มุ่งลดการเจ็บป่วย พิการ เสียชีวิตที่ไม่สมควร และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพอย่างองค์รวม ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ภายในประเทศ ที่จะสนับสนุนระบบบริการ

สวทช. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิจัย นวัตกรรม ทางการแพทย์และสาธารณสุข ลดการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสุขภาพ และพัฒนาสุขภาพชีวิตของประชาชน และ ปตท.ขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน และสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง มาตรฐานระดับสากล ช่วยป้องกัน ลดโอกาสติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และฝุ่น PM2.5 รวมทั้งวิจัย พัฒนา เครื่องมือแพทย์อื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในลำดับถัดไป” ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว 

 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (Assistive Technology and Medical Devices Research Center: A-MED) ได้ส่งมอบหน้ากากอนามัย Safie Plus กว่า 300,000 ชิ้น ซึ่งเป็นนวัตกรรมผลงานวิจัยโดยทีมวิจัยไทยเพื่อคนไทย แก่โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลสนาม หน่วยงานของรัฐทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนคนไทยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพดีได้มาตรฐานระดับสากล และนำมาสู่การขยายผลความร่วมมือครั้งนี้

 

นพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. เผยว่า นอกจากการพัฒนาธุรกิจทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต หรือ Life Science ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีของโลก ได้ลงทุนผ่านบริษัท อินโนโพลีเมด ในการสร้างโรงงานผลิตผ้าไม่ถักทอ (Non-woven Fabric) มีลักษณะเส้นใยขนาดเล็กและละเอียดในระดับไมโครเมตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากาก อุปกรณ์ PPE ทางการแพทย์ และแผ่นกรองประสิทธิภาพสูง โดยมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 5,000 ตันต่อปี

 

ทั้งนี้ ธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตขึ้นในโลกหลังโควิด-19 และถือเป็น 1 ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย BCG ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ได้แก่1) เกษตรและอาหาร 2) สุขภาพและการแพทย์ 3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

รัฐ-เอกชน พัฒนาเครื่องมือแพทย์  ลดนำเข้า ตอบโจทย์ \"BCG\"

 

  • นวัตกรรมการแพทย์เพื่อคนไทย

 

สำหรับ “น้ำยาเคลือบแผ่นกรองหน้ากาก Safie Plus” เป็นการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีดักจับจุลินทรีย์และฝุ่นละอองโดยสารเคลือบไฮดรอกซีอะพาไทต์และไททาเนียมไดออกไซค์บนแผ่นนอนวูฟเวนของเส้นใยธรรมชาติผสมพอลิเอสเตอร์ที่มีรูพรุนระหว่างเส้นใยขนาดเล็กและเนื่องจากมีเส้นใยธรรมชาติเป็นองค์ประกอบจึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถย่อยสลายได้ง่ายที่มีประสิทธิภาพการกรองไวรัสและ PM2.5 ตามมาตรฐาน ASTM F2101 และ ASTM F2299 ตามลำดับได้มากถึง 99%  รวมถึงการ ร่วมมือในการผลิตหน้ากากอนามัย 4 ชั้น โดยการผลิต ปตท. จะใช้สิ่งอำนวยความสะดวกภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิต เบื้องต้น 2 แสนชิ้น

 

ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัย “น้ำยาเคลือบแผ่นกรองหน้ากากSafie Plus” ที่มีคุณสมบัติในการกรองไวรัส แบคทีเรีย และฝุ่น PM 2.5 ที่มีประสิทธิภาพสูง ความร่วมมือระหว่าง ทีมวิจัยเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ฝังใน ของ A-MED และทีมวิจัยสิ่งทอ ของ MTEC สวทช. ที่ผสมผสานความรู้ทางด้านวัสดุทางการแพทย์กับสิ่งทอเข้าด้วยกันในการพัฒนาเทคโนโลยี

 

“เครื่องมือแพทย์และวัสดุฝังในร่างกายมนุษย์” ผ่านการพัฒนาให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ทางการแพทย์สำหรับวัสดุฝังใน เช่น กะโหลกศีรษะเทียม เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย ได้มาตรฐานทางการแพทย์ระดับสากล สอดคล้องกับเป้าหมายนโยบาย BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ฝังในของ A-MED มีประสบการณ์ยาวนานในการพัฒนาอุปกรณ์ฝังในทางการแพทย์หลากหลายชนิดเข้าสู่เชิงพาณิชย์ 

 

ถือเป็น 1 ในแผนหลักเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียน (Medical Hub) ในปี 2570 ซึ่ง สวทช. ได้มีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ฝังในทางการแพทย์ (Implant devices) ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการวิจัยพัฒนา ทดสอบ ออกแบบและผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้คนไทยสามารถเพิ่มการเข้าถึงการรักษาด้วยวัสดุฝังในที่ผลิตในประเทศ