ปรับวิธีรายงาน “โควิด” ลดความวิตกประชาชน

ปรับวิธีรายงาน “โควิด”  ลดความวิตกประชาชน

การที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหมื่น 3 วันติดกันนี้ไม่ได้อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พื้นที่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว

ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับมาเกินหมื่นคนอีกครั้งในรอบ 3 เดือนครึ่ง และทะลุหมื่น 3 วันต่อเนื่องกันในรอบระบาดระลอกโอมิครอนซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา โดยเมื่อวันที่ 5 ก.พ.65 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,490 คน เสียชีวิต 21 คนซึ่งก่อนหน้านั้นเคยแตะหมื่นคนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 ต.ค.64 จำนวน 10,111 ราย วันที่ 6 ก.พ. เป็นอีกวันที่ผู้ติดเชื้อแตะหมื่นเป็นวันที่ 2 อีกจำนวน 10,879 เสียชีวิต 20 และล่าสุดคือวันที่ 7 ก.พ. ที่มีผู้ติดเชื้อต่อเนื่องทะลุหมื่นเป็นวันที่ 3 คือ 10,470 เสียชีวิต 12 คน

การที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหมื่น 3 วันติดกันนี้ไม่ได้อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พื้นที่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ส่วนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตยังมีแนวโน้มคงตัว ขณะที่เตียงรักษาพยาบาลมีเพียงพอรองรับ การติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็นตลาดและกิจกรรมการรวมกลุ่มคน ที่มีการรับประทานอาหารและดื่มสุรา รวมถึงสถานที่ทำงาน สถานประกอบการ โรงงาน โรงเรียน และค่ายทหาร

หากพิจารณาผู้ติดเชื้อ และมีอาการหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต เทียบกับระลอก เม.ย. 64 ที่ผ่านมา ถือว่าลดลงอย่างมาก และตอนนี้อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างคงตัว ระบบสาธารณสุข ยังคงรองรับได้ แม้วัคซีนป้องกันร้อยละ 100 ไม่ได้ แต่ลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้ จากเดิมอัตราการเสียชีวิตของไทยร้อยละ 2 ปัจจุบันอยู่ประมาณร้อยละ 0.22 ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 1 เป็นไปตามหลักวิชาการ ปัจจุบันมีคนไข้นอนรพ.ประมาณ 5 หมื่นราย เป็นปอดอักเสบ 500 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 100 กว่าราย ไม่ถึง 1 % ดูแล้วเหมือนไข้หวัดใหญ่ไปทุกที

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในขณะนี้แทบไม่มีอาการใดๆ เนื่องจากได้รับวัคซีนแล้วจำนวนมาก บางคนที่มีอาการเข้ารับการรักษาไม่กี่วัน ก็สามารถกลับมารักษาตัวต่อที่บ้านจนหาย ดังนั้นสธ.จะปรับการรายงานให้เข้ากับสถานการณ์ ในกรณีที่เป็นโรคประจำถิ่น จะรายงานเฉพาะคนที่ไปรพ.และเสียชีวิต ไม่ได้รายงานผู้ติดเชื้อทุกคน ซึ่งขณะนี้ในต่างประเทศก็มีการผ่อนคลายมาตรการไปหมดแล้ว ถ้าประเทศไทยยังมีมาตรการที่เข้มข้น อาจกระทบกับการขับเคลื่อนในภาคส่วนอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ เป็นต้น

ปลายปี 2565 ประชาชนฉีดเข็ม 3 ไปกว่า 70 % ป้องกันติดเชื้อใกล้เคียงอยู่ที่ระดับ 60-70% ป้องกันการเสียชีวิต 96-98 % ถึงตอนนั้นคนติดเชื้อไม่มีอาการคงอยู่กับบ้าน ไม่ต้องทำอะไรมาก เรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่าจะอยู่ร่วมกับโควิดให้สมดุลได้อย่างไร การผ่อนปรนมาตรการเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนกิจการ กิจกรรมให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนปกติมากที่สุด แต่คงต้องดูแลป้องกันตนเองตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ตามระดับเตือน” ภัยโควิด19 ระดับที่ 4 คือ งดไปรับประทานร่วม/ดื่มสุราในร้าน งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท เลี่ยงเข้าใกล้ผู้อื่นนอกบ้าน งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท งดไปต่างประเทศ และเข้าประเทศกักตัว