เปิดภาพคาดการณ์โควิด19ปี 65 ครึ่งปีหลังผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เปิดภาพคาดการณ์โควิด19ปี 65 ครึ่งปีหลังผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

กรมควบคุมโรคเปิดภาพคาดการณ์โควิด19ปี 65 ครึ่งปีหลังผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เทียบเคียงโรคภัยสุขภาพอีก 4 โรค


        เมื่อวันที่ 4  ก.พ.  2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  โควิด19 ปี 2564 ป่วย 2,216,551 ราย  ซึ่งเมื่อเทียบหลายๆประเทศแล้ว สถานการณ์ของเราดีกว่ามาก แต่ก็ถือว่ารุนแรงอยู่ในปี 64 โดยมีผู้เสียชีวิต 21,637 ราย แต่หลังจากมีความร่วมมือฉีดวัคซีน คิดว่าสถานการณ์ปีนี้จะดีขึ้น   ส่วนไข้หวัดใหญ่ แต่ละปีจะมีผู้ป่วยแสนกว่าราย โดยปีที่ผ่านมาถือว่าป่วยต่ำมาก มีรายงานป่วย 10,698 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ ยังมีอุบัติเหตุจราจร เสียชีวิต 12,376 ราย เด็กจมน้ำ 560 ราย ซึ่งถือว่าอุบัติการณ์ลดลงเช่นกัน

ภาพรวมการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในปี 2565 ประกอบด้วย 

   1. โรคโควิด19 หากไม่มีสายพันธุ์อื่นเพิ่มเติม คาดว่าครึ่งปีหลัง จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุจากคนไทยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเป้าหมายซึ่งขณะนี้ฉีดไปได้ประมาณ 20% หากทำได้จะควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อรายใหม่ได้ แต่ต้องไม่มีการกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญเพิ่มเติม หากมีการกลายพันธุ์หรือเหตุการณ์ใหม่ๆเกิดขึ้นก็จะมีการพยากรณ์โรคใหม่อีกครั้ง

      2.โรคไข้หวัดใหญ่ คาดว่าจะป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เป็น 22,817 ราย ในช่วงฤดูฝน ปลายฝนต้นหนาว แต่การใส่หน้ากากอนามัย นอกจากป้องกันโควิด ยังป้องกันไข้หวัดธรรมดา และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งต้นปีการใส่หน้ากากอนามัยคนไทยยังดีอยู่ แต่ปลายปีหากใส่หน้ากากอนามัยลดลง การระบาดก็อาจเพิ่มขึ้นได้

     3.โรคไข้เลือดออก จะระบาดเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีประมาณ 85,000 ราย ด้วยเหตุผลว่า ปกติไข้เลือดออกจะระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี ซึ่งตอนนี้ถึงวงจรต้องระบาดรอบใหม่ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของคนไทย 2 ปีที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อน้อย ภูมิก็จะน้อย และกิจกรรมทางสังคมจะเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มสูงในเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2565 และจะพบป่วยมากที่สุดสุดในเดือน ก.ค. จำนวน 13,769 ราย ดังนั้น การรณรงค์ไข้เลือดออกต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ โดยขณะนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกรายแรกของไทยในปี 2565 แล้ว เป็นผู้ใหญ่ หญิงอายุ 38 ปี ที่ เมื่อมีไข้ และไปซื้อยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs) ซึ่งไข้เลือดออกห้ามกินยาแก้ปวด พวกแอสไพริน เอ็นเสด เพราะจะทำให้เลือดออกทางเดินอาหาร

       4.ส่วนอุบัติเหตุทางถนน ปี 2564 ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนค่อนข้างน้อย แต่ปี 2565 จะมากขึ้น โดยอยู่ระดับ 17,000-20,000 คน  หรือมากกว่านั้น ดังนั้น มาตรการการรณรงค์ การบังคับใช้กฎหมาย การร่วมมือกันปฏิบัติตามวินัยจราจรจะช่วยได้  ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าผู้เสียชีวิตสูงสุดจะอยู่เดือนมี.ค. และธ.ค.

   และ 5.เด็กจมน้ำ ในปี 2564 พบรายงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีน้อยลง จากเดิมปีละ 1,000 กว่าราย แต่ปีที่ผ่านมา 500 กว่าราย เหตุผลเพราะเมื่อมีโควิด19 เด็กอยู่บ้านมากขึ้น ไม่มีการชวนไปเล่นน้ำ ทำให้ตัวเลขตกน้ำ จมน้ำลดลง อย่างไรก็ตาม ปี 2565 โรงเรียนจะเปิดออนไซต์มากขึ้น มีกิจกรรมต่างๆมากขึ้น จึงคาดการณ์ว่าเดือน มี.ค. และเม.ย. จะมีเด็กตกน้ำ จมน้ำมากขึ้น จึงต้องแจ้งเตือนเรื่องนี้
        หากดูตามกราฟที่คาดการณ์โควิด19ช่วงนี้ ยังเป็นช่วงที่ขึ้นอยู่ ทั้งนี้ เมื่อโรคระบาดขึ้นแล้วจะคงอยู่สักระยะและค่อยๆ ลดลง เป็นไปตามคาดการณ์ ซึ่งสถานการณ์ติดเชื้อและการดำเนินการยังเป็นไปตามคาดหมาย อย่างไรก็ตาม อย่าไปกังวลกับตัวเลขมากจนเกินไป หากจะเป็นโรคประจำถิ่น สำคัญคือควบคุมสถานการณ์ได้ และให้ความสำคัญกับตัวเลขผู้ติดเชื้ออาการหนักและเสียชีวิตที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ อย่างหลายประเทศทางยุโรปและอเมริกา แม้ผู้ติดเชื้อจะขึ้นไปเป็นแสนรายหรือเป็นล้านราย ก็ยังไม่เพิ่มมาตรการเข้าไป เพราะระบบสาธารณสุขเขารองรับได้   
         “เช่นเดียวกับประเทศไทย แม้ผู้ติดเชื้อจะขึ้นไปถึงระดับหมื่นราย แต่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ประกอบกับโอมิครอนไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดลตา มียาและวัคซีน เชื่อว่าจะทำให้ระบบสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ แต่ผู้ติดเชื้อระดับหมายหมื่นรายก็ยังต้องระวังอย่าให้เพิ่มมากกว่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการป้องกัน”นพ.โอภาสกล่าว

       นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การระบาดที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์ที่ไม่ค่อยใหญ่ จะเป็นคลัสเตอร์กระจัดกระจายทั่วทุกจังหวัดของประเทศ และพบว่าคลัสเตอร์ที่เกิดจากงานเลี้ยง งานบุญ สังสรรค์ งานแต่งงาน งานศพ งานบวชยังเป้นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะต่างจังหวัด และเมื่อมีการติดเชื้อในกลุ่มที่ไปร่วมงานก็จะกลับไปติดที่บ้าน และโอมิครอนเราพบหลายครั้งว่าติดกันเกือบทั้งบ้าน

"จากเดิมสายพันธุ์เดลตามีอัตราการติดเชื้อในครอบครัว 10-20% แต่สายพันธุ์โอมิครอนจากการประเมินเบื้องต้นติดเชื้อแล้วไปติดในครอบครัว อัตราติดเชื้ออยู่ที่ 40-50% จะเห็นว่าติดเชื้อค่อนข้างง่าย แต่ข้อดีคือพบว่าส่วนใหญ่อาการน้อย โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่กลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เสียชีวิตเกือบ 100% ต้องเร่งรัดฉีดเข็มกระตุ้นกลุ่มนี้ต่อไป เมื่อถึงกำหนดขอให้ไปฉีดอย่ารีรอ" นพ.โอภาสกล่าว 

      ถามถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อสูงขึ้นหลังจากนี้  นพ.โอภาส กล่าวว่า กิจกรรมที่เพิ่มมากขึ้น การเปิดร้านอาหารให้ดื่มแอลกอฮอล์ การจัดกิจกรรมต่างๆ คงทำให้ผู้ติดเชื้อตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่กิจกรรมนี้สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้ก็รับผลกระทบมาก แต่การจะเป็นโรคประจำถิ่นได้ต้องสมดุลระหว่างการควบคุมโรคและการใช้ชีวิตควบคู่กันไป ถ้าอยู่ใระดับอย่างนี้ก็น่าจะยอมรับได้ เพราะระบบสาธารณสุขรองรับได้ และผู้ติดเชื้อเสียชีวิตไม่ได้มีอัตราที่น่ากังวลจนเกินไป แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยนโยบายของ รมว.สธ.ได้ให้นโยบายนำยาใหม่ๆ ที่มีการขึ้นทะเบียนรีบนำมาใช้เพื่อลดการเสียชีวิตให้มากที่สุด