ผู้ปกครองวอนรัฐยกเลิกมาตรการ"ชุดตรวจATK" ก่อนเข้าเรียน

ผู้ปกครองวอนรัฐยกเลิกมาตรการ"ชุดตรวจATK" ก่อนเข้าเรียน

ถ้าจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ก่อนที่นักเรียนจะเข้าสถานศึกษา โดยตรวจแบบ ATK ก็จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง เรื่องนี้พวกเขาถามหามาตรการที่ชัดเจน...  

เมื่อไม่นานผู้ปกครองทั่วประเทศรวมตัวให้ยกเลิกการตรวจ ATK ก่อนเข้าเรียนในสถานศึกษา เพราะสร้างภาระให้แก่ประชาชนในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่

เพราะมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด ผ่านชุดตรวจเชื้อโควิดด้วยตัวเอง (Antigen Test Kit : ATK) ของบรรดานักเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ต้องตรวจเป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อให้ทราบผลก่อนเข้าไปในสถานศึกษา

เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีความชัดเจนด้านมาตรการจัดการการแพร่ระบาดเชื้อโควิดในสถานศึกษาและพื้นที่เสี่ยง 

 

 

 

ด้านโรงเรียนโอดนโยบายส่วนกลางไม่ชัดเจน ส่งผลต้องประสานหน่วยงานท้องถิ่นดำเนินการตรวจคัดกรองด้วยตนเอง ห่วงเด็กเล็กแหย่จมูกจนเลือดซิบ เร่งหาวิธีการอื่นให้เหมาะสมก่อนจะวุ่นทั้งประเทศ

มาตรการตรวจโควิด

สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง และยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเยื่อบุโพรงจมูกของเด็กนักเรียนด้วย 
ATK ตรวจคัดกรองเบื้องต้น
ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (Institute of HIV Research and Innovation) หรือ IHRI ระบุว่า การใช้ชุดตรวจ ATK นั้นไม่ได้ใช้เพื่อป้องกัน แต่ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือตรวจคัดกรองเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด 

“หากมีการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม สวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิ และล้างมืออยู่เสมอ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชุดตรวจ ATK " สุภัทรา กล่าว
เช่นเดียวกับ นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อธิบายว่า ชุดตรวจ ATK ได้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อใช้ตรวจคัดกรองในกรณีเกิดการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดการและนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที ทั้งยังช่วยลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดด้วย 
“ไทยได้เริ่มใช้ชุดตรวจ ATK อย่างแพร่หลายในช่วงรอบการระบาดของเชื้อเดลต้า หากพิจารณาจะพบว่าไทยเลือกที่จะบริหารจัดการโรคในแบบ Living with Covid

คือ ต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับการระบาดของเชื้อโควิดให้ได้ ทำให้ชุดตรวจ ATK เป็นตัวช่วยประเมินความเสี่ยงภายหลังจากไทยตัดสินใจเดินหน้าเปิดประเทศ
การประเมินความเสี่ยงอาจไม่จำเป็นต้องใช้ชุดตรวจ ATK เพียงอย่างเดียว หลายประเทศที่ใช้เกณฑ์อื่น ๆ ในการประเมิน อาทิ การประเมินตนเอง หรือตรวจสอบจากประวัติการฉีดวัคซีน แต่กรณีที่ต้องการใช้มาตรการการตรวจเข้มข้นยิ่งขึ้นก็สามารถใช้ชุดตรวจ ATK ร่วมด้วยได้ " 
แนวทางตรวจโควิดต้องชัดเจน
    ทั้งนี้ นิมิตร์ เทียนอุดม รองประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า 
ต้องเลิกตรวจ ATK แบบหว่านแห ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สูญเปล่า และต้องไม่สร้างความคลุมเครือให้เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน 
“ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ผ่านองค์ความรู้และข้อมูลที่เข้าใจง่ายเพื่อช่วยลดความตระหนกและช่วยทำให้คนไทยอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างรู้เท่าทัน” 

นอกจากนี้ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการกับสถานศึกษาและสถานประกอบการ ทั้งของรัฐและเอกชนต้องชัดเจน
“ต้องไม่มีการบังคับให้ตรวจ ATK แต่ต้องประเมินความเสี่ยงและไม่เลือกปฏิบัติ ต้องบริหารสถานการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่แก้ปัญหาด้วยการเร่งจัดซื้อชุดตรวจ ATK เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย” 

สถานการณ์การใช้ ATK

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบดีว่ารัฐบาลได้สั่งซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวม 8.5 ล้านชุดเพื่อแจกให้แก่กลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจคัดกรองลดการแพร่ระบาด 
แต่ปัจจุบันชุดตรวจเหล่านั้นได้ถูกใช้ไปจำนวนมาก จนเหลือเพียง 2 ล้านชุดท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงแต่อย่างใด 
ที่สำคัญรัฐบาลไม่ได้เดินหน้านโยบายจัดซื้อเพิ่ม ร้อนถึงส่วนบริหารท้องถิ่นที่ต้องหาซื้อเพื่อกระจายสู่สถานศึกษาและชุมชนพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ของตนเอง

ในปี 2565 สปสช. ได้ใช้งบประมาณ 115 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อชุดตรวจไว้ใช้ตรวจคัดกรองในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ 
อีกทั้งในปีที่ผ่านมาได้กระจายแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศรายละ 2 ชุด โดยได้กระจายออกสู่สถานพยาบาลและพื้นที่เสี่ยงจนชุดตรวจที่มีอยู่เกือบจะหมดแล้ว ประกอบกับความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การใช้ ATK ที่ดำเนินการตรวจคนจำนวนมากที่ไม่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง

ยิ่งทำให้มีการใช้ ATK มากเกินจำเป็น จนปริมาณความต้องการพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลต่อราคาที่มีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว 
หากองค์การเภสัชกรรมสามารถกระจาย ATK เข้าไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ร้านยาหรือคลินิก และให้ประชาชนเข้าไปซื้อชุดตรวจ ATK ได้ในราคาถูก ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้ส่วนหนึ่ง

ขณะที่ อดุลย์ บุญช่วย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหินดาษ (กระแส บุญชู อุทิศ) จังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวแทนครู เห็นว่า เมื่อนโยบายไม่ชัดเจนก็จะส่งผลอย่างมากต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปได้อย่างถูกต้อง 
“มาตรการที่ต้องตรวจโควิดนักเรียน 100% จึงจะสามารถเปิดเรียนได้นั้น อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก ควรตรวจ ATK เฉพาะนักเรียนที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ส่วนเด็กเล็กก็ต้องการให้ใช้ชุดตรวจแบบอื่นที่เหมาะสม เนื่องจากบางรายตรวจแล้วได้รับบาดเจ็บในโพรงจมูก”