เพิ่มสิทธิ "ผู้ป่วยไตวาย" เลือก "ฟอกไต" ไม่ต้องจ่ายเงินเองอีก เริ่ม 1 ก.พ.

เพิ่มสิทธิ "ผู้ป่วยไตวาย" เลือก "ฟอกไต" ไม่ต้องจ่ายเงินเองอีก เริ่ม 1 ก.พ.

บัตรทองเพิ่มสิทธิผู้ป่วยไตวาย สมัครใจเลือกฟอกเลือดได้ฟรี  ไม่จำกัดเฉพาะล้างไตทางช่องท้องเท่านั้น  รักษาได้ในทุกสถานพยาบาลที่มีหน่วยบริการ  เริ่ม 1 ก.พ.นี้  ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วย 2 หมื่นบาท/เดือน

       เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่วมกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และ นายธนพล ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม "เพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เลือกวิธีฟอกไตได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย" เริ่มดำเนินการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565

        นายอนุทิน กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ต สปสช.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 มีมติเห็นชอบข้อเสนอการช่วยเหลือค่าบริการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้องและให้เริ่มดำเนินการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ในวันนี้เป็นการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการ โดยเฉพาะหน่วยบริการฟอกไต ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยฟอกไตในภาพรวม

ข้อเสนอนี้เกิดจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ได้รับฟังปัญหาของผู้ป่วยฟอกไตสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งซาติ (บัตรทอง) มีหลายคนต้องจ่ายเงินค่าฟอกไตครั้งละ 1,500 บาท เนื่องจากไม่ต้องการล้างไตผ่านช่องท้องตามหลักเกณฑ์กองทุนบัตรทองที่กำหนดให้เป็นบริการแรกของการบำบัดภาวะไตวายเรื้อรัง เนื่องจากมีความกังวลและจำเป็น ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายและเดือดร้อน จึงนำมาหารือกับ สปสช. ซึ่งจากผลการศึกษาปรากฏว่าสามารถทำได้และใช้งบประมาณเพิ่มไม่มาก โดยบอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบ ซึ่งจะทำภาพชีวิตผู้ป่วยกลุ่มนี้และครอบครัวดีขึ้น ขณะเดียวกันระบบยังเกิดการดูแลสุขภาพประชาชนได้ครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น ต้องขอบคุณบอร์ด สปสช.ทุกท่านที่ได้ร่วมเห็นชอบเรื่องนี้

         นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักการพิจารณาคือ การชดเชยบริการในส่วนที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินป้องกันภาวะล้มละลายทางการเงิน โดยให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจเลือกวิธีล้างไตกับแพทย์ที่คำนึงถึงเศรษฐานะ พยาธิสภาพของโรค ปัจจัยทางสังคม และความเหมาะสม ปัจจุบันมีผู้ป่วยฟอกไต 30,802 ราย ในจำนวนนี้ 6,546 ราย เป็นกลุ่มที่ไม่สมัครใจล้างไตทางช่องท้องแล้วเลือกจ่ายเงินเองฟอกไตเอง ส่วนผู้ป่วยล้างทางหน้าท้องมี 32,892 ราย ในจำนวนนี้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปใช้วิธีฟอกไตประมาณ 5,000 ราย โดยจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 1,079.9 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 ในระยะ 8 เดือน จะใช้งบประมาณ 719.9 ล้านบาท ซึ่ง สปสช. จะนำงบเหลือจ่ายของปี 2564 ที่ไม่มีภาระผูกพันนำมาดำเนินการ

     “ผู้ป่วยไตวายที่ต้องการรับบริการด้วยการฟอกไตนั้น สามารถแจ้งความประสงค์และปรึกษากับแพทย์ได้ และสามารถเข้ารับบริการได้ในทุกหน่วยบริการที่มีหน่วยบริการไตเทียม ไม่เฉพาะในสถานพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปยังสถานพยาบาล 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายยกระดับบัตรทอง”นพ.จเด็จ กล่าว

       ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือ ประชาชน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ต้องเริ่มนโยบายล้างไตผ่านช่องทางเป็นทางเลือกแรก เพราะติดข้อจำกัดจำนวนหน่วยบริการไตเทียมและบุคลากรมีไม่เพียงพอ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่ต้องการฟอกไตได้ ส่งผลให้มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการล้างไตผ่านช่องท้องต้องจ่ายค่าฟอกไตเอง แต่ปัจจุบันหลายพื้นที่มีการจัดตั้งหน่วยบริการไตเทียมมากขึ้นก็น่าจะเพียงพอรองรับดูแลผู้ป่วยได้ และคาดว่าผู้ป่วยไตวายที่จะฟอกไตเพิ่มส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยใหม่ เพราะผู้ป่วยเก่าที่ล้างไตผ่านช่องท้อง และสบายดีอยู่แล้ว ก็น่าจะใช้วิธีล้างไตเดิมต่อไป

     นายธนพลธ์ กล่าวว่า ในนามตัวแทนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังขอขอบคุณ รมว.สาธารณสุข และบอร์ด สปสช. ที่คำนึงถึงผู้ป่วยโรคไต นำมาสู่มติบอร์ด สปสช.นี้ ซึ่งการเปิดให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วมกับแพทย์ในการตัดสินใจเลือกวิธีการบำบัดไต รวมถึงยกเลิกเก็บค่าบริการฟอกเลือดนั้น นอกจากเป็นการลดภาระให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังลดความเดือดร้อนให้กับผู้ป่วยและครอบครัวได้ เนื่องผู้ป่วยต้องรับบริการฟอกไต 2 -3 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมเป็นค่าใช้จ่ายเกือบ 20,000 บาทต่อเดือน เป็นค่าใช้จ่ายสูงมากโดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้

     อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่กังวล และฝากติดตามคือ ความเพียงพอของหน่วยฟอกไตเทียมและบุคลากรในการให้บริการ คงต้องตามดูสถานการณ์หลังจากวันที่ 1 ก.พ. แต่เชื่อว่าทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้มีการเตรียมความพร้อมของระบบเพื่อรองรับไว้แล้ว ก่อนที่จะประกาศและเดินหน้านโยบายนี้
     

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้สิทธิประโยชน์บัตรทองครอบคลุมเฉพาะการล้างไตผ่านช่องท้อง ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการเลือกวิธีฟอกไตนั้น จะต้องจ่ายเงินเอง แต่สิทธิประโยชน์ใหม่นี้จะครอบคลุมทั้ง 2 วิธีโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเงินเอง 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์