"ตรุษจีน 2567" ก่อนแจก 'อั่งเปา' vs 'แต๊ะเอีย' รู้ไหมต่างกันยังไง?

"ตรุษจีน 2567" ก่อนแจก 'อั่งเปา' vs 'แต๊ะเอีย' รู้ไหมต่างกันยังไง?

ไขข้อข้องใจเมื่อถึงเทศกาล "ตรุษจีน" ควรแจกอั่งเปา หรือแต๊ะเอีย ทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร พร้อมธรรมเนียมการให้ในวันมงคลปีใหม่จีน

ซินเจียยู่อี่ ซินนี่ฮวดไช้ เมื่อวัน "ตรุษจีน" มาถึงทีไร เราก็มักจะเห็นภาพอาหมวย อาตี๋ ถือซองแดงกันละลานตา เปรียบเสมือนของขวัญวันขึ้นปีใหม่ในวัฒนธรรมจีน แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีหลายคนที่อาจจะยังสับสนระหว่าง "อั่งเปา" และ "แต๊ะเอีย" ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร? 

ในวัน "ตรุษจีน 2567" นี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะพาไปไขข้อสงสัยเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง "อั่งเปา" และ "แต๊ะเอีย" ว่าสุดท้ายแล้วต้องเรียกซองสีแดงนี้ว่าอะไรกันแน่ 

 

\"ตรุษจีน 2567\" ก่อนแจก \'อั่งเปา\' vs \'แต๊ะเอีย\' รู้ไหมต่างกันยังไง?

  • อั่งเปา หรือ แต๊ะเอีย?

พูดถึงซองแดง บางทีก็เรียกว่าอั่งเปา บางคราวก็เรียกแต๊ะเอีย ก็เกิดข้อสงสัยว่าทั้ง 2 อย่างนี้มันต่างกันอย่างไร เว็บไซต์ "ไชน่าทาวร์เยาวราช" ให้ข้อมูลว่า

คำว่า อั่ง ในภาษาจีนแปลว่า สีแดง ซึ่งเป็นสีแทนสัญลักษณ์ความเป็นมงคล ความมีชีวิตชีวา ความโชคดีของชาวจีน เราจะเห็นว่าในเทศกาลต่างๆ ชาวจีนจะนิยมใช้สีแดงกัน

ส่วนคำว่า เปา ในภาษาจีนแปลว่า ของหรือกระเป๋า

ดังนั้นคำว่า อั่งเปา จึงเป็นชื่อเรียกของสิ่งของมงคลที่นิยมให้ตามเทศกาลต่างๆ ของจีนที่มีความหมายถึงซองแดง

ส่วนแต๊ะเอียนั้น คำว่า แต๊ะ ในภาษาจีนแปลว่า ทับหรือกด และ เอีย ในภาษาจีนแปลว่า เอว เมื่อรวมกันจะแปลว่าของที่มากดหรือทับเอว ในสมัยก่อนเหรียญของชาวจีนนั้นเป็นวงกลม ที่รูตรงกลาง เวลาเก็บก็มักจะร้อยด้วยเชือกแล้วเอาคาดเอวเอาไว้ ดังนั้นแล้ว แต๊ะเอียหมายถึงเงินหรือของที่อยู่ด้านในซอง 

  • ที่มาของซองแดง 

ซองแดง ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของเงินนำโชคที่ถูกมอบให้กันในวันปีใหม่จีน แต่ที่มานั้นยังมีความคลุมเครือเพราะไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเกิดเพราะเหตุใด  นอกจากตำนานที่เล่าต่อกันมา อย่างตำนานสัตว์ประหลาด เหนียน (Nian : 年) โดยตำนานเล่าว่าในทุกๆ ปีมักจะมีสัตว์ประหลาดชื่อ เหนียน(年) ออกมาทำลายหมู่บ้าน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเด็กๆ จากปีศาจ เหล่าพ่อแม่จึงให้เงินแก่ลูกของพวกเขา เพื่อเมื่อเจอปีศาจจะได้ติดสินบนสัตว์ประหลาดด้วยเงินที่ติดตัว

นอกจากตำนานสัตว์ประหลาดเหนียนแล้ว ยังมีตำนานปีศาจที่เรียกว่าซุ่ย  (祟) โดยปีศาจตนนี้จะออกมาในวันส่งท้ายปีเก่าและตบหัวเด็กในขณะนอนหลับ  พ่อแม่จึงวางเหรียญไว้ข้างหมอน เมื่อปีศาจมาถึงจะเห็นแสงสะท้อนของเหรียญจึงจากไป ยังมีตำนานอีกมากมายที่เกี่ยวกับการให้เงินแก่หลูกหลาน 

แต่ถึงอย่างนั้น การให้เงิน หรือเหรียญ เริ่มต้นแพร่หลายในยุคราชวงศ์ฮั่น แต่แทนที่จะเป็นการให้เงินจริงๆ กลับกลายของสะสมขนาดเล็กในรูปของเหรียญเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย ที่จารึกตัวอักษร “ สันติภาพ” (peace —tiān xiàtàipíng) ,“ อายุยืนและโชคลาภ” (千秋 ti —qiān qiūwànsuì) ให้กันแทน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เงินที่ใช้จากเหรียญจึงเปลี่ยนเป็นแบงก์อย่างในปัจจุบัน แต่ความหมายของการให้เงินนั้นก็ยังเพื่อความเป็นสิริมงคลเช่นเดิม 

  • ควรใส่เงินในซองแดงเท่าไร? 

คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ยึดหลักการให้ "เลขคู่" เพราะถือเป็นเลขแห่งความมงคลในความหมายจีน 

แต่ในช่วงยุคแรกแห่งการสถาปนาสาธารณะรัฐจีน หรือศตวรรษที่ 20 มีความเชื่อว่าจะต้องให้เงินที่มีมูลค่า 100 เซ็นต์ เป็นการอวยพรให้อายุยืนถึง 100 ปี 

ต่อมาจึงนิยมให้เลขต่อเนื่องกันตามสำนวน 连 连 高 升 อ่านว่า Lián Lián Gāo shēng (เหลียน-เหลียน-เกา-เชิง) แปลว่า ขอให้ได้เลื่อนขั้นหรือการงานการเงินเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป นิยมให้เงินเป็นเลขเรียง เช่น 789 เจ็ดร้อยแปดสิบเก้าบาท เพื่อความก้าวหน้าไปเรื่อยๆ 

ปัจจุบัน การให้เงินคนในครอบครัวของชาวจีนส่วนใหญ่นั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว แต่ก็พอจะมีมาตรฐานอยู่เช่นกัน สำหรับญาติผู้ใหญ่ จะให้เงินตั้งแต่ 200-1,000 หยวน (สกุลเงินจีน) ตามความใกล้ชิด (แต่ส่วนใหญ่ผู้ปกครองชาวจีนมักไม่ชอบรับเงินจากลูกๆ) และจะให้เงิน 10-50 หยวน สำหรับคนรู้จักหรือเพื่อนร่วมงาน 

ในภาคใต้ของจีนจะมีการให้เงินที่เป็นเลข 6 หรือในภาษาจีนคือ 六 六 大 顺 (liù liù dà shùn : ลิ่ว ลิ่ว ต้า ชุ่น) เสียงคล้องกับวลีที่แปลว่า ความสำเร็จที่ราบรื่น และ 8 发 (fā) ที่แปลได้ว่า “ได้รับความมั่งคั่ง" 

แต่ถ้าครอบครัวไหนไม่ให้ตามหลักการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน เพราะแม้จะได้รับแค่บาทเดียว หรือ 1 หยวน ก็ถือว่าเงินเหล่านั้นเป็นสิริมงคลเช่นกัน 

เรื่องเงินเรื่องทองมักจะกล่าวกันมา มันไม่เข้าใครออกใคร แต่ทางที่ดีละก็เข้ากระเป๋าเราดูว่าจะเป็นเรื่องดีที่สุด