ดัชนีวัด "ความโกง" ฉุดประเทศ "ด้อยค่า"

ดัชนีวัด "ความโกง" ฉุดประเทศ "ด้อยค่า"

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ชี้ ประเทศไทยติดกลุ่ม 27 ประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุด คือได้ 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก ลดลงจากปีก่อนที่เคยได้รับ 36 คะแนน

ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ ซีพีไอ) ประจำปี 2564 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือทีไอ) ที่ประกาศออกมาล่าสุด พบว่า ระดับการทุจริตยังอยู่ในภาวะชะงักงันทั่วโลก

โดย 86% ของประเทศต่างๆ ก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย หรือไม่ก้าวหน้าเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทีไอ พบว่า ประเทศที่ละเมิดเสรีภาพพลเรือน ได้คะแนนซีพีไอต่ำอย่างต่อเนื่อง  

ประเทศที่มีคะแนนสูงสุด ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ 88 คะแนน ทั้งสามประเทศยังได้คะแนนเสรีภาพพลเมืองในดัชนีประชาธิปไตยสูงด้วย ส่วนประเทศที่ได้คะแนนซีพีไอต่ำสุดคือซูดานใต้ 11 คะแนน โซมาเลียและซีเรีย 13 คะแนน

ครั้งนี้ ประเทศไทย’ ติดกลุ่ม 27 ประเทศที่ได้คะแนนต่ำสุด ได้ 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก ลดลงจากปีก่อนที่เคยได้รับ 36 คะแนน และเคยเป็นอันดับที่ 104 ของโลก

 

สถิติคะแนนซีพีไอของไทย ประจำปี 2564 หากเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 6 จากทั้งหมด 11 ประเทศ อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ 85 คะแนน ถัดมาเป็นมาเลเซีย 48 คะแนน ติมอร์-เลสเต 41 คะแนน เวียดนาม 39 คะแนน อินโดนีเซีย 38 คะแนน และไทย 35 คะแนน

ลำดับถัดจากนั้นคือ ฟิลิปปินส์ 33 คะแนน ลาว 30 คะแนน เมียนมา 28 คะแนน กัมพูชา 23 คะแนน ส่วนบรูไน ไม่ได้ระบุข้อมูลคะแนนของปี 2564

แหล่งข้อมูลของคะแนนจากซีพีไอปี 2564 ที่ใช้ประเมินมีทั้งสิ้น 9 แหล่งข้อมูล คะแนนเต็ม 100 คะแนน เช่น แหล่งข้อมูลจาก IMD WORLD หรือคะแนนส่วนการติดสินบนและการทุจริต ไทยได้ 39 คะแนน ลดลง 2 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 41 คะแนน หรือจาก PERC ที่วัดระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใด ไทยได้ 36 คะแนน ลดลง 2 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 38 คะแนน 

ตัวที่ไทยได้คะแนนลดลงมากที่สุด คือ การวัดระดับว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ไทยได้ 35 คะแนน ลดลงมากที่สุดถึง 3 คะแนน

 

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันหรือดัชนีชี้วัดความโกง ล่าสุดนี้เป็นกระจกสะท้อนความ “ล้มเหลว” การต่อต้านการทุจริตในทุกภาคส่วนของประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง ลดทอนความเชื่อมั่นการลงทุน ขัดขวางโอกาสของการเกิดเศรษฐกิจใหม่ นวัตกรรมใหม่ จากนักลงทุนใหม่ๆ

เพราะเมื่อการทำธุรกิจในไทย ความหมาย คือ ต้องจ่ายใต้โต๊ะ ธุรกิจถึงเดินต่อได้คล่อง เท่ากับเป็นการ “ด้อยค่า” ประเทศลงอย่างน่าเสียดาย และจะยิ่งฝังรากลึกกลายเป็น “ธรรมเนียมโกง” ส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น  

การปรับภาพลักษณ์ลดทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องง่ายก็จริง แต่ถ้าไม่เริ่ม ประเทศก็จะถูก “ด้อยค่า” ลงไปเรื่อยๆ เราได้แต่หวังว่า ดัชนีการชี้วัดการคอร์รัปชันในประเทศไทยจะมีคะแนนที่ดีขึ้น นั่นแปลว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมกันตรวจสอบ ไม่เพิกเฉยต่อการทุจริต แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย สร้างวัฒนธรรมใหม่ ต้องไม่ทนและไม่ยอมรับต่อการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ