"วัคซีนโควิด"คนทั่วไปเร่งฉีดเข็ม3 ส่วนเข็ม4รอข้อมูลก่อน คาดมีวัคซีนรุ่น2

"วัคซีนโควิด"คนทั่วไปเร่งฉีดเข็ม3 ส่วนเข็ม4รอข้อมูลก่อน คาดมีวัคซีนรุ่น2

“หมอประสิทธิ์”ระบุไทยอัตรานอนรพ.ของโอมิครอนน้อยกว่าเดลตา รับวัคซีนครบช่วยลดเกิด Long COVID  49%  แนะเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ส่วนเข็ม 4  ขอให้ติดตามข้อมูลก่อน  คาดอีกไม่นานมีวัคซีนรุ่น 2 เชื่อมีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงปลายโควิด19ระบาด

       เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 25 ม.ค. 2565 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล อัปเดต "สถานการณ์ของสายพันธุ์ Omicron จากทั่วโลก 2 เดือนหลังการเริ่มแพร่ระบาด"  ผ่านระบบออนไลน์ช่องทางเว็บไซต์ IPTV  และเฟซบุ๊กไลฟ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล  ว่า  สถานการณ์การระบาดโอมิครอน ทุกประเทศคล้ายกัน การติดเชื้อรุนแรงป่วยเพิ่มขึ้น แต่อัตราเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มตามการติดเชื้อ  โดยทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้วกว่า 9.9 พันล้านโดส ฉีดวันละ 36 ล้านโดส ประชากรทั่วโลกเกือบ 8 พันล้านคนได้รับวัคซีนแล้ว (ข้อมูลวันที่ 23 ม.ค.)

      สำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการเดลตาทำได้ดี จากวันละ 2 หมื่นคนต่อวันก็เริ่มลง จากนั้นก็เจอโอมิครอน ขณะนี้ป่วยอยู่ประมาณ 7-8 พันคนต่อวันเป็นสัปดาห์แล้ว และเสียชีวิตยังตัวเลข 2 หลัก ส่วนใหญ่สิบกว่าๆ โดยฉีดวัคซีนแล้ว 111 ล้านโดสจากประชากรกว่า 70 ล้านคน ฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว 15.8% ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่นในภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด19  ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนหลังการประกาศสายพันธุ์โอมิครอน จากข้อมูลที่เกิดขึ้น โอมิครอนแพร่เร็วกว่าเดลตา ซึ่งการแพร่เร็วไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณไวรัสในผู้ติดเชื้อ แต่มาจากคุณสมบัติของโอมิครอนเอง    
      “ความจำเป็นต้องรับการรักษาในรพ. น้อยกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ในไทยจึงมีการจัดระบบการรักษาในบ้าน แต่หากอาการเพิ่มขึ้นก็จะต้องนอนรพ. แต่อัตราการนอนรพ.ของโอมิครอนมีเพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2  เนื่องจากอาการรุนแรงน้อยกว่าเดลตา" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

   ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า  โอมิครอน หลบภูมิคุ้มกันเรามากกว่าเดลตา  ขณะเดียวกันไม่สามารถแยกอาการชัดเจนว่า แบบไหนโอมิครอนหรือเดลตา แต่แยกได้หลักๆ บ้าง คือ น้ำมูกไหล ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว จามบ่อยและเจ็บคอ ส่วนอาการไข้สูง ไม่ได้กลิ่นหรือไม่ได้รส พบไม่บ่อยเหมือนเดลตา แต่จริงๆ อาการเหล่านี้สงสัยว่าป่วยโควิดก่อน ไม่ต้องคิดว่าสายพันธุ์อะไร ขณะที่การศึกษาในสัตว์พบว่าเชื้อโอมิครอน มักติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอดมากเหมือนเดลตา ทำให้อาการไม่ค่อยรุนแรง แต่แพร่ง่าย แพร่เร็ว เพราะจามง่ายขึ้นได้ ทั้งนี้ ยาที่มีรายงานว่าได้ผลดีต่อโอมิครอนนั้น Favipiravir , Molnupiravir, Nirmatrelvir และ Remdesivir ถือว่ายังได้ผลดี ส่วนกลุ่ม Monoclonal antibody  ตามรายงานของ US-FDA ยังได้ผลดีต่อโอมิครอน อยู่ แต่ยาที่มีรายงานว่าอาจไม่ได้ผล คือ Regeneron 

        การศึกษาจาก Imperial College  ในกรุงลอนดอนพบว่า การจะมีภูมิฯช่วยลดการติดเชื้อ หรือติดเชื้อที่มีอาการมากจำเป็นต้องได้รับวัคซีน 3 เข็ม คนฉีด 2 เข็ม ขอให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ห่างกันประมาณ 3 เดือน แต่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อเสนอแนะว่า ให้ฉีดทุกๆ 3-6 เดือน เพราะยังต้องติดตามสถานการณ์ของไวรัสนี้ต่อไป และอีกไม่กี่เดือนจะมีวัคซีนรุ่น 2 ออกมาอีก ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่ามีอะไรเพิ่มเติม ดังนั้น คนฉีดเข็ม 2 ให้ฉีดเข็ม 3 แต่คนฉีดเข็ม 3 แล้วขอให้ติดตามข้อมูลก่อน ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงมากๆ ต้องฉีดเข็ม 4 นี่คือเหตุผลที่ทั่วโลกมีการฉีดเข็มกระตุ้นเหมือนไทย

      “การจะชนะโอมิครอน ทั่วโลกต้องช่วยกัน พลโลกส่วนใหญ่ต้องได้รับวัคซีนให้ครบ และการหวังให้เกิดมีภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ที่สำคัญหากได้เชื้อเข้าไป ตัวเองอาจไม่มีอะไร แต่ท่านอาจนำเชื้อไปติดผู้ใหญ่ที่บ้านได้  ซึ่งการเพิ่มภูมิฯที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีน”ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว 

          สำหรับภาวะ Long COVID  เป็นกลุ่มอาการที่พบได้หลังจากติดเชื้อ อาจพบได้เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ มีมากกว่า 50 อาการที่พบ ระยะเวลาที่มีอาการในสหราชอาณาจักรถือว่าไม่น้อยกว่า 3 เดือน แต่ในสหรัฐระบุ 4 สัปดาห์ขึ้นไป แต่การได้รับการฉีดวัคซีนครบ จะช่วยลดโอกาสเกิดได้ถึง 49%  ส่วนโอมิครอนหรือเดลตาจะแตกต่างอย่างไรหากเป็น Long COVID ยังไม่มีหลักฐาน
       “ผลจากการแพร่ระบาดเร็วของโอมิครอน แต่ก่อให้เกิดอาการน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ทำให้มีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงปลายของการแพร่ระบาดของโควิด19  จากผลรวมของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการฉีดวัคซีนและหายจากการติดเชื้อ แต่อย่าไปหวังติดเชื้อเอง เพราะไม่คุ้ม ส่วนวิถีการใช้ชีวิตแม้จะไม่กลับมาเป็นปกติ แต่จะเป็นการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ คือ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดจากเชื้อโรคใหม่ และจะเป็นรูปแบบที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น เดิมทำงานที่สถานที่ทำงาน แต่เมื่อมีโควิดได้ทำงานที่บ้าน อาศัยเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ล้างมือบ่อย อย่าถอยกลับไปเหมือนเดิม รักษาสิ่งดีๆเหล่านี้ไว้”ศ.นพ.ประสิทธ์กล่าว