สธ.ชงศบค.เพิ่มมาตรการรับ Test&Go รีเทิร์น 

สธ.ชงศบค.เพิ่มมาตรการรับ Test&Go รีเทิร์น 

สธ.ชงเพิ่มมาตรการ Test&Go รีเทิร์น  กำหนดประกันผู้เดินทางต้องครอบคลุมแนวทางดูแลรักษาแบบไทย ติดเชื้อไม่มีอาการต้องคุ้มครอง ตรวจหาเชื้อ 3 รอบแบกรับค่าใช้จ่ายเอง  ขณะที่ผู้เสี่ยงสูงลดวันกักตัวเหลือ 7+3 ระบุยังตอบไม่ได้ยอดติดโควิด19รอบนี้ถึงจุดสูงสุดแล้วหรือไม่

   เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ  วงศ์รจิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่จะมีการลดระดับการเตือนภัยโควิด19จากระดับ 4 เหลือระดับ3 ว่า ยังไม่ได้มีการประกาศลดระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 3  ต้องมีการหารือกันอีกครั้ง ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ โดยต้องพิจารณาหลายอย่าง เนื่องจากการติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรงนั้นกระทรวงฯไม่ค่อยกลัว แต่ที่กลัวคือการระบาดมาก จะทำให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งตามหลักวิชาการโอมิครอนต้องดู 4 รอบการติดเชื้อหรืออย่างน้อย 28 วันถึงจะสามารถคำนวนตัวเลขทางสถิติได้

         ปัจจุบันมีการติดเชื้อโอมิครอนสะสมประมาณ 1 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 60 % ของเชื้อที่ระบาดในประเทศไทย โดย 95-96 % อาการน้อย ส่วนที่มีอาการมากประมาณ 2-3 %  กรณีเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว ขณะนี้ผู้เสียชีวิตจากเชื้อโอมิครอนยืนยันที่ 2 ราย เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประตัว และมีอีก 1 ราย ที่ติดเชื้อโอมิครอนอาการรุนแรง แต่มีปัญหาเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง และวัณโรคลงปอด ดังนั้น จะต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่ากรณีที่อาการหนัก หรือกรณีที่เสียชีวิต เป็นเพราะต้นทุนสุขภาพเดิมที่ไม่ดีอยู่แล้ว หรือเป็นเพราะเชื้อโอมิครอน

“สถานการณ์ในภาพรวมการติดเชื้อระลอกล่าสุดสถานการณ์ทรงตัวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเลยจุดสูงสุดไปแล้วหรือไม่ แต่คาดว่าสถานการณ์คงเป็นไปในระดับนี้ และแนวโน้มจะต่ำลง แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ซึ่งสธ.ไม่ได้เบาใจ เพราะต้องเต็มที่ทุกครั้ง สถานการณ์วันนี้ยังรับมือได้ แต่ก็ต้องระมัดระวัง บางพื้นที่ระบาดเร็วมาก แต่จะเห็นว่าครั้งนี้คุมได้เร็ว จากการเตรียมกำลังพร้อมมาตั้งแต่ช่วงคริสมาสต์ การยกระดับเตือนภัย และประชาชนให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย และการฉีดวัคซีน”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
     ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่จะเสนอให้มีการเปิดลงทะเบียนเข้าประเทศในระบบ Test & Go อีกครั้ง สธ.จะเสนอมาตรการเกี่ยวกับ Test & Go เพิ่มเติมหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า มีการเสนอเพิ่มมาตรการแน่นอน เพราะตอนนี้ยังพบการติดเชื้อของคนเดินทางเข้าประเทศจึงต้องมีมาตรการเพิ่ม โดยเฉพาะค่าตรวจ RT-PCR ซึ่งก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการตรวจในครั้งที่ 2 คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ดังนั้น หากจะเปิดเปิด Test & Go ก็จะต้องให้ผู้เดินทางเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ทั้งหมด ซึ่งจะตรวจ 3 รอบ คือ วันแรกที่เดินทางถึงไทย ครั้งที่ 2 ตรวจภายใน 7 วัน และครั้งสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องออกนอกประเทศ

    รวมถึง จะต้องให้มีการซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาตามหลักเกณฑ์ของประเทศไทยทุกระบบ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าประกันของผู้เดินทางที่ซื้อมาจากต่างประเทศ จะครอบคลุมค่ารักษาเฉพาะกรณีติดเชื้อแล้วมีอาการต้องเข้ารักษาในรพ.เท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมกรณีการติดเชื้อไม่มีอาการ ขณะที่แนวทางการดูแลของประเทศไทยนั้น กรณีที่พบติดเชื้อแต่ไม่มีอาการก็ให้การดูแลทั้งในระบบHome Isolation /Community Isolation หรือฮอสพิเทลด้วย ดังนั้น ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมกรณีนี้ด้วย อาจจะเป็นการซื้อประกันจากประเทศต้นทาง หรือมาซื้อเพิ่มเติมในประเทศไทย 

      ถามถึงกรณีการลดวันกักตัวของกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์สาธารณสุข (EOC) กรณีโควิด -19 เห็นชอบแล้วว่าลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 7+3 วัน  คือ ให้มีการกักตัว 7 วัน ให้มีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK วันที่ 5หรือ 6 เมื่อกักตัวครบ 7 วันแล้วสามารถออกมาทำกิจกรรมได้ แต่ให้เฝ้าระวังตัวเอง และลดการเจอผู้คนให้น้อยที่สุดเป็นระยะเวลาอีก 3 วันจากนั้นให้ตรวจ ATK ในวันที่ 10 อีกครั้ง