เมื่องบดูแล“ผืนป่า” สำคัญน้อยกว่าซื้ออาวุธ ?

เมื่องบดูแล“ผืนป่า”  สำคัญน้อยกว่าซื้ออาวุธ ?

ปี 2565 รัฐปรับงบประมาณการดูแลผืนป่าลดลง 47 เปอร์เซ็นต์ และรายได้อุทยานแห่งชาติทั้งหมดปี 2564 ก็มีปริมาณลดลง การจัดจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า จึงต้องลดลงครึ่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่มีความสำคัญมาก

“เห็นใจนายกรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณ ในการตัดลดงบประมาณแต่ละกระทรวงที่มี 20 กระทรวง ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การตัดลดงบประมาณของรัฐบาลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่จำเป็นต้องจัดสรรไปแก้ปัญหาโควิด

ทุกบาททุกสตางค์ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ได้รับมาจะนำไปใช้อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด แต่หากขาดเหลืออะไร ก็สามารถไปของบกลางเพิ่มเติมได้

เข้าใจในความห่วงใยของมูลนิธิสืบฯ แต่อยากให้เข้าใจว่ารัฐบาลต้องแก้ปัญหาโควิด-19” วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว

เมื่องบดูแล“ผืนป่า”  สำคัญน้อยกว่าซื้ออาวุธ ? Cr.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

  • ถึงเวลาทวงคืนผืนป่า

วันที่ 12 มกราคม 2565 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดย ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เรื่อง โปรดพิจารณาทบทวนการจัดสรรงบประมาณในการจัดจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีรายละเอียดดังนี้

สืบเนื่องจากกรณีการปรับลดงบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เหลือเพียง 8,534 ล้านบาท จากเดิมปี 2564 ได้งบประมาณ 16,143 ล้านบาท ลดลงกว่า 47 เปอร์เซ็นต์

ประกอบกับการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ 155 แห่ง จากค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ ปี 2564 ลดลงกว่า 975 ล้านบาท เป็นจำนวน 390,862,987 ล้านบาท ลดลงจากปี พ.ศ. 2563 ที่ได้ 1,366,711,004 ล้านบาท

ส่งผลกระทบต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อการจัดจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า (พนักงานจ้างเหมา) ในการดูแลและคุ้มครองผืนป่าและสัตว์ป่า ในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งถูกเลิกจ้างถึง 50 เปอร์เซ็นต์

พนักงานพิทักษ์ป่า คือ บุคลากรสำคัญดูแลปกป้องทรัพยากรธรรมชาติจากระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) พร้อมเก็บข้อมูลเชิงนิเวศ ไปจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การขาดบุคลากรเหล่านี้ มีผลโดยตรงต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า และสัตว์ป่าของประเทศ

มูลนิธิฯ จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี โปรดพิจารณาทบทวนการจัดสรรงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ 2565 อีกครั้ง และหารือแนวทางแก้ไขสภาพปัญหาดังกล่าว เพื่อให้งานดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า และสัตว์ป่า

อันเป็นฐานแห่งความมั่นคงของประเทศ ตัวแปรสำคัญต่อสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปัญหาระดับโลกให้คงอยู่ยังประโยชน์สืบต่อไปภายภาคหน้า

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

ลงชื่อ นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เมื่องบดูแล“ผืนป่า”  สำคัญน้อยกว่าซื้ออาวุธ ? Cr.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

  • กรมอุทยานฯ ถูกลดงบมา 5 ปี

ดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ถูกปรับลดงบประมาณลงมาต่อเนื่องทุกปี

โดยปี 2561 งบฯ 638 ล้านบาท, ปี 2562 งบฯ 663 ล้านบาท, ปี 2563 งบฯ 628 ล้านบาท, ปี 2564 งบฯ 421 ล้านบาท, ปี 2565 งบฯ 121 ล้านบาท

"ในปีนี้ลดมากที่สุด รู้สึกหนักใจ เรื่องการคุ้มครองพื้นที่จากกำลังคนที่ลดลง ที่ผ่านมามีพนักงานพิทักษ์ป่าบางส่วนยอมถูกลดเงินเดือนลง 25% จาก 10,000 บาท เหลือ 7,500 บาท

เพื่อลดอัตราการเลิกจ้าง เนื่องจากกรมอุทยานฯ ให้แต่ละอุทยานฯ ไปพิจารณา 2 ทางเลือกคือ การปรับคนออก และปรับลดเงินเดือน ซึ่ง 80% เลือกวิธีลดเงินเดือนลง”

เมื่องบดูแล“ผืนป่า”  สำคัญน้อยกว่าซื้ออาวุธ ? Cr.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

  • เสี่ยงชีวิตดูแลสัตว์ป่าและผืนป่า

เมื่อต้นปี 2565 เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ได้เข้าตรวจยึดซากเสือโคร่งตาย 2 ตัว ในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ สันนิษฐานว่าเป็นเสือโคร่งที่หากินระหว่างชายแดนไทย-พม่า ในที่เกิดเหตุพบแคร่ร้านย่างเนื้อสัตว์-ซากสัตว์ และอาวุธปืน 4 กระบอก อุปกรณ์การกระทำผิดอื่นๆ 29 รายการ

วันที่ 12 มกราคม 2565 ได้มีเสือโคร่ง เพศผู้ อายุ 10 ปี ออกนอกพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่พบร่องรอยบริเวณสวนมะม่วงห่างจากสถานีควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้งประมาณ 200 เมตร จึงได้จับตัวนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หลังแพทย์ประเมินอาการและติดปลอกคอติดตาม

นี่คือการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่ดูแลสัตว์ป่าและผืนป่าร้อยกว่าล้านไร่ทั่วประเทศไทย มีเงินเดือน 6-7 พันบาท หรือได้ค่าแรงวันละ 240-280 บาท

เมื่องบดูแล“ผืนป่า”  สำคัญน้อยกว่าซื้ออาวุธ ? Cr.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

  • ปี 2564 เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต 26 ราย

จากรายงาน“กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า” มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ปี 2564 พบว่า มีเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ รวม 26 คน บางรายเสียชีวิตจากการปะทะกับพรานล่าสัตว์ บางรายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสัตว์ป่าทำร้าย บางรายเสียชีวิตด้วยโรคภัยระหว่างเดินลาดตระเวน

ประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าประมาณ 14,700 คน ดูแลพื้นที่ป่ากว่า 102,484,072.71 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.68 ของประเทศ

ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลจะมีวาระอื่นที่เร่งด่วนกว่า ครม.สามารถอนุมัติงบ 13,800 ล้าน จัดซื้อเครื่องบินขับไล่ได้ ทั้งที่การทำงานปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้กับประเทศ ก็สำคัญไม่น้อยแต่กลับถูกตัดงบประมาณไปเกือบครึ่ง

  • ภาครัฐขอใช้พื้นที่ป่า

จากเอกสารการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 4/2563 เมื่อ 18 ธันวาคม 2563 พบว่า

ภาครัฐกำลังมีโครงการขอใช้พื้นที่ป่า เพื่อโครงการพัฒนาต่างๆ มากมาย เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 77 โครงการ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

1)โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 29 โครงการ 2)โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบแล้วแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ 5 โครงการ 3)โครงการที่ยังอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ 13 โครงการ 4)โครงการที่อยู่ในกระบวนการพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อม 26 โครงการ 5)โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาวิจัย 4 โครงการ

77 โครงการนี้ ยังไม่รวมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งกำลังมีประเด็นการคัดค้านอีกหลายโครงการ เช่น 7 อ่างเก็บน้ำในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่, อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว, อ่างเก็บน้ำคลองตารอง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว รวมทั้งสิ้น 91 โครงการ กว่า 40,000 ไร่ ที่ต้องสูญเสียไป

เมื่องบดูแล“ผืนป่า”  สำคัญน้อยกว่าซื้ออาวุธ ? Cr.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

  • ลงนามหยุดยั้งภาวะโลกร้อน แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎ

ขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญหยุดยั้ง ภาวะโลกร้อน Climate Change และมุ่งพัฒนาประเทศด้วยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว ลดคาร์บอน ดูแลรักษาป่าไม้ ลดการตัดไม้ทำลายป่า

ประเทศไทยก็ได้ร่วมลงนามและให้สัตยาบันกับนานาประเทศ ทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, พิธีสารเกียวโต, ความตกลงปารีส, ทำความตกลงทวิภาคีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนากลไกเครดิตร่วมเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตฯ, จัดทำแผนแม่บทและตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมามากมาย

แต่ประเทศไทยกลับดำเนินนโยบายตรงกันข้ามกับการร่วมลงนาม มีการทำลายผืนป่าอย่างต่อเนื่อง สร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์, การให้สัมปทานเหมืองแร่ การตัดถนนผ่านป่า และล่าสุด ลดงบประมาณการดูแลผืนป่า