ไม่ไหวแล้ว...หมูแพง! แนะเกษตรกรเลี้ยง"หมูหลุม"ทางรอดวิกฤติอาหาร

ไม่ไหวแล้ว...หมูแพง! แนะเกษตรกรเลี้ยง"หมูหลุม"ทางรอดวิกฤติอาหาร

"หมูแพง" เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยไปไม่รอดแล้ว ฟาร์มหมูขนาดใหญ่ย่ำแย่ตามๆ กัน มีข้อแนะนำว่า หันมาเลี้ยง"หมูหลุม"หรือหมูคอกดินดีกว่าและอีกหลายทางเลือกเรื่องหมูๆ

ราคาหมูแพง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างหนัก และราคาวัตถุดิบอื่นๆ ก็ปรับขึ้น” จงใจ กิจแสวง (เจ๊จง) เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จง กล่าวบนเวทีเสวนาว่า หมูแพง ค่าแรงสามร้อย โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)

พ่อค้าแม่ค้าในประเทศนี้ คงไม่ต่างจาก เจ๊จง เมื่อหมูแพง จึงต้องปรับราคา และคนที่เดือดร้อนก็หนีไม่พ้นผู้บริโภค ได้รับผลกระทบหนักที่สุด

“ด้านผู้ขายก็ขายยากขึ้น จนต้องปิดกิจการไปในที่สุด ส่วนแผงหมูที่ขาดทุน จนเจ๊งสู้ต่อไม่ไหว ปิดตายกันเป็นทอดๆ อยากให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วย

ไม่ใช่แค่หมูเท่านั้นที่แพง ไก่ก็ปรับราคาสูงขึ้น 20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเยอะมาก ที่สำคัญเรารู้แล้วว่า ราคาหมูจะขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งเดือนมกราคม นี้ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะรับมือกับปัญหาราคาอย่างไร” เจ๊จง เล่า
 

เกษตรกรเลี้ยงหมูไปไม่รอดแล้ว

ในปี 2564 ราคาหมูแพง จนคนไทยรับไม่ไหวแล้ว ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคนทำงานเพื่อสังคม พยายามช่วยกันแก้ปัญหา 

โดยเฉพาะข้อเสนอ การเลี้ยงหมูหลุม องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการเพิ่มจำนวนเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงหมูไม่ใช้สารเคมีในพื้นที่ ที่ไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา เพื่อเร่งผลักดันให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภค เพื่อเพิ่มปริมาณหมูสู่ระบบทั้งยังเสริมสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

วิเชียร เจษฎากานต์ ประธานเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม SVN กล่าวว่า  ปัญหาการระบาดของอหิวาต์แอฟริกาครั้งนี้  ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูร้อยละ 80-90

ไม่ไหวแล้ว...หมูแพง! แนะเกษตรกรเลี้ยง\"หมูหลุม\"ทางรอดวิกฤติอาหาร

ไปไม่รอด ไม่ต้องหวังว่าเกษตรกรรายย่อยจะยังอยู่ได้ ขนาดฟาร์มใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจมานานกว่า 50 ปี ปัจจุบันยังถูกฟ้องดำเนินคดีเพื่อให้ชดใช้ค่ายาที่ยังติดค้างอยู่ แม้ในอดีตฟาร์มดังกล่าวถือว่ามีเครดิตดีที่สุดแห่งหนึ่งในไทย

หากภาครัฐแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้สำเร็จ ไทยอาจต้องใช้เวลาประมาณ 30 เดือนในการทำให้กลไกส่วนต่าง ๆ กลับมาดำเนินการได้เช่นเดียวกับช่วงก่อนการระบาด”

สถานการณ์การระบาดของโรค ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ใน จ.ราชบุรี ต้องสูญเสียหมูกว่า 2 ล้านตัว วิเชียร บอกว่า ภาครัฐก็ไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ใดๆ ในการแก้ไขปัญหาชัดเจน ไม่ได้เตรียมการให้คำแนะนำในการกำจัดหมูที่ติดเชื้อแก่เกษตรกร

“ที่สำคัญไม่มีการชดเชยค่าเสียหายแก่เกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรต้องเร่งขายหมูที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อลดการสูญเสีย ทำให้การกระจายตัวของโรคทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะการส่งไปชำแหละในโรงฆ่าเถื่อนที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งรัฐควรเร่งเข้ามาจัดการในกรณีนี้โดยเร็วที่สุด” วิเชียร เรียกร้องในภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาเพื่อลดการระบาดโดยเร็ว

ไม่ไหวแล้ว...หมูแพง! แนะเกษตรกรเลี้ยง\"หมูหลุม\"ทางรอดวิกฤติอาหาร

ทางแก้ปัญหาหมูแพง

ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สอบ. พยายามจะทำให้ราคาหมูเป็นธรรมที่สุดสำหรับผู้บริโภค ปัญหาการขาดแคลนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาหมูแพง

และดูเหมือนรัฐบาลจะจัดการปัญหาดังกล่าวไม่ได้ การเสนอให้ขึ้นค่าแรงท่ามกลางผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก

“การปรับกลไกต้นทุนด้านอาหารสัตว์และอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าจะนำมาทบทวนเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงอยากให้ร่วมกันหาทางออก เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร

หากปล่อยนานไป ผู้บริโภคอาจจะรับราคาที่แพงขนาดนี้ไม่ไหว เมื่อเทียบกับรายได้ที่มี ดังนั้นอาจจะไม่สามารถปฏิเสธการแก้ปัญหาในระยะสั้นด้วยการนำเข้าหมูมาจำหน่ายในไทย แต่การนำเข้าก็ต้องสนับสนุนเงื่อนไขที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง

เพราะไทยพยายามควบคุมเรื่องสารเร่งเนื้อแดงมาโดยตลอด จากการตรวจสอบล่าสุดของ สอบ. ก็พบน้อยมาก ในปัจจุบันซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ "

ไม่ควรใช้สารเร่งเนื้อแดง

อย่างไรก็ตาม สารี  มองว่า ไม่ควรนำปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงกลับมาอีก ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ขณะนี้ไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ที่กำกับดูแลเรื่องหมูโดยเฉพาะ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีบทบาทในการแก้ปัญหาเท่าใดนัก

เพราะการปรับโครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้เป็นหน้าที่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและผู้บริโภค ต้องร่วมกันเข้าไปดูว่าจะทำให้คณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทในการรักษาสมดุลระหว่างผู้เลี้ยงหมูและผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง

“การลดปริมาณลงของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารได้ในอนาคต

ดังนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมูหรือสนับสนุนให้เกษตรกรที่ไม่เคยเลี้ยง หันมาเริ่มเลี้ยงก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ สอบ. ต้องการเสนอให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

“การส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงหมูหลุมในพื้นที่ ที่ไม่เกิดการระบาด อาจเป็นอีกหนึ่งทางออกในการช่วยบรรเทาปัญหา ดังเช่นโมเดลการผลิตไข่ไก่อารมณ์ดีออกสู่ตลาด จนเป็นที่นิยมของผู้บริโภค

หรือการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการสนับสนุนแม่พันธุ์ไก่และรับไข่ไปรับประทาน การจะเพิ่มโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้ให้มากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นผลดีแก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น หากผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคเนื้อหมูที่ปราศจากสารปฏิชีวนะหรือการใช้ยาในการเลี้ยง

ก็อาจจะต้องลงทุนและสนับสนุน และ สอบ. เชื่อว่าอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางรอด เพื่อฝ่าวิกฤติราคาหมูไปได้

ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดเข้ามาสนับสนุนด้วยเช่นกัน” สารี เสนอแนะให้สร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคเพื่อสร้างกลไกการผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย”

เลี้ยงหมูคอกดิน ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ

แนวคิดนี้สอดคล้องกับความเห็นของวิเชียร เจษฎากานต์ ที่ว่า

“การเลี้ยงหมูในคอกดินหรือหมูหลุมนั้น สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างมาก เพราะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ไม่แออัดและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากเกษตรกร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากการผลิตหลักตกไปอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ เพียงไม่กี่บริษัท

การปล่อยให้มีการเลี้ยงหมูในฟาร์มขนาดใหญ่จำนวนมาก ย่อมทำให้รายย่อยไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ความหลากหลายและศักยภาพในการผลิตอาหารของไทยอ่อนแอลง ทำอย่างไรเกษตรกรรายย่อยถึงจะมีโอกาสในการผลิตอาหารป้อนสู่ตลาดได้"

สิ่งนี้คือ เรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้เกิดกลไกการผลิตที่เอื้อตั้งแต่รายใหญ่ถึงรายย่อยในรูปแบบที่มุ่งส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทั้งด้านความรู้ และเงินทุน ทำให้เกิดกลไกที่แข็งแกร่ง หากทำเช่นนี้ได้รายย่อย ก็ยังอยู่ได้ ส่วนรายใหญ่ก็จะมีการเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน

"อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เสนอความคิด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายการวางแผน เพื่อลดการผิดพลาด

และไม่มุ่งเน้นด้านทุนนิยมอย่างเดียว แต่ต้องการให้เพิ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจด้านสังคมมาสร้างสมดุล เพื่อลดปัญหาเชิงระบบ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”วิเชียร กล่าว 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์